เคาต์ดาวน์รางวัลแกรมมี (1) 'ฟู ไฟเตอร์ส' : ฝูงบินเหนือน่านฟ้าร็อก


Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com

อเมริกัน มิวสิก อวอร์ดส์ จบไป งานเลี้ยงใหญ่ที่ตามมาก็คือ รางวัลแกรมมีอันทรงเกียรติ ที่ใช้เวลาพิจารณาคัดสรรกันตลอดปี 2011 และจะประกาศผลในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2012 ปีนี้ ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ แฟนนาติก คอเพลงสากล มีลุ้นรักใคร ชอบใคร ก็ว่ากันตามอัธยาศัย…
ผลของ อเมริกัน มิวสิก อวอร์ดส์ปีนี้นั้น ยอดหญิงคันทรี่ ป๊อปแสนสวย สด เทย์เลอร์ สวิฟท์ ประกาศศักดาครองความเป็นยอดศิลปินขวัญใจชาวอเมริกัน เมื่อกวาดรางวัล อเมริกันไปครองถึง 3 ตัว หนึ่งในนั้นมีรางวัลใหญ่อย่าง ศิลปินแห่งปี (Artist of the Year) รวมอยู่ด้วย
ขณะที่อีกคนที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามคือ อะเดล สาวโซลหุ่น แฟทตี บูม บูม ที่ข้ามเกาะอังกฤษ มาปักหลักโด่งดังในอเมริกาอย่างเต็มตัวก็ประสบความสำเร็จเยี่ยมยอด อีกเช่นกัน
ในฐานะสาวกเมทัล /แทรช/ และกรันซ์ หรืออัลเธอเนทีฟ ซาวนด์ ดูเหมือนจะเหลือพื้นที่ให้ผู้ชายแข็งแกร่งหล่อแบบดิบๆ สำหรับรางวัลใหญ่แบบมีพื้นที่ให้ไม่มากนัก สำหรับ อเมริกัน มิวสิก อวอร์ดส์ ที่ผ่านมา ผลก็เหลือแค่หน่อเดียว นั่นคือ สุดยอดศิลปินอัลเธอร์เนทีฟร็อกยอดนิยม – Foo Fighters
และ จากรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลแกรมมี (2012) ปีนี้ ยาวเหยียด
ตามข่าวบอกว่าดูเหมือนว่ารางวัลใหญ่ๆ จะกระจายให้กับดนตรีหลากหลายรูปแบบ ไม่ได้ติดอยู่กับดนตรีป๊อปหรืออา ร์แอนด์ บี อย่างเดียวเหมือนปีก่อนๆ

นักร้องที่ได้รับการนำเสนอ เข้าชิงมากที่สุดเห็นจะเป็น คานเย เวสต์ ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นการร่วมงานกับเพื่อนรักอย่าง เจซี เข้าชิง 7 สาขา
โผต่อมาก็ไม่หลุดจาก อเมริกัน มิวสิค อวอร์ดส์ คือ สาวท้วมเสียงใสทรงพลัง อะเดล จากประเทศอังกฤษที่กวาดไป 6 สาขา รวมทั้งสาขาใหญ่ๆ อย่างอัลบัมยอดเยี่ยม การบันทึกเสียงยอดเยี่ยม และเพลงยอดเยี่ยม
ส่วนรางวัลนักร้องหน้าใหม่ยอดเยี่ยมปีนี้ได้แก่น้องใหม่ บอน ไอเวอร์ ที่ต้องเข้าชิงกับ เดอะ แบนด์ เพอรี, เจ โคล, นิคกี้ มินาจ และสคริลเล็กซ์
ผู้เข้าชิงรางวัลสาขาเด่นอื่นๆ มีดังนี้
รางวัลการบันทึกเสียงยอดเยี่ยมได้แก่ อะเดล (เพลง “Rolling in the Deep”) บอน ไอเวอร์ (เพลง “Holocene”) มัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์ (เพลง “The Cave”) และ เคที เพอรี่ (เพลง “Firework”) เป็นอาทิ
และที่สำคัญที่จะเขียนถึง คือ รางวัลอัลบัมยอดเยี่ยมแห่งปี ได้แก่ อัลบัม “21” โดย อะเดล อัลบัม “Wasting Light” โดย ฟู ไฟเตอร์ส อัลบัม “Born this Way” โดย เลดี้ กาก้า อัลบัม “Doo-Wops & Hooligans” โดย บรูโน มาร์ส และสุดท้าย คืออัลบั้ม “Loud” โดยริฮันนา
สำหรับ อัลบัมของ อะเดล เลดี กาก้า และรีฮันนา นั่นถือว่าใกล้เคียงสูสี ทั้งการโปรดิวส์ และคุณภาพ หวยจะออกที่อัลบัมใดก็ไม่แปลก มาแปลกที่ ฟู ไฟเตอร์ส์ และบรูโน มาร์ส นี่เอง
ถ้าแกรมมี อยากให้รางวัลที่แตกต่าง ออกไปจากปีอื่น ๆ ฟู ไฟเตอร์ส อัลบัมอัลเธอร์เนทีฟ ร็อก กรุ๊ป ที่เข้าชิงถึง 6 สาขา วงนี้คือทางเลือกครับ
โดยตอนนี้จะเลือกเขียนถึง ฟู ไฟเตอร์ส

ฟู ไฟเตอร์ส ( Foo Fighters) เป็นวงร็อกอเมริกันอัลเธอร์เนตีฟ ร็อก และโพสต์กรันซ์ นิยาม Foo Fighters ถูกตั้งขึ้นโดย ฝูงบินรบกลางคืนของอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหนือน่านฟ้ายุโรปและทะเลแปซิฟิก ซึ่ง เหล่าบรรดานักบินฝ่ายสัมพันธมิตร ที่เห็นและรายงานปรากฏการณ์ จานบินต่างดาว และอื่นๆ ที่พวกเขาคิดว่าเป็นปรากฎการณ์พิเศษเหนือธรรมชาติ
และ Foo Fighters ก็ถูกนำมาเป็นชื่อวงดนตรี อัลเธอร์เนทีฟ ร็อก ซึ่งก่อตั้งวงโดย นักร้อง/มือกีตาร์/มือกลอง นักดนตรีอัจฉริยะนาม เดฟ โกรห์ล ในปี 1995
โกรห์ลก่อตั้งวงในฐานะศิลปินบินเดี่ยว หลังจากที่ออกจาก เนอร์วานา ในปี 1994 เมื่อเขาออกผลงานอัลบัมแรกในปี 1995 ชุด Foo Fighters ชื่อเดียวกับวง โกรห์ลได้นักดนตรีฝีมือดีอย่าง เนต เมนเดล (เบส), วิลเลียม โกลด์สมิธ (กลอง) และแพต สเมียร์ (กีตาร์) เข้ามาร่วมงาน
และหลังจาก โกลด์สมิธออกจากวงไปหลังจากเสร็จผลงานอัลบั้มชุดที่ 2 ชุด The Colour and the Shape (1997) ต่อจากจากนั้น แพต สเมียร์ ก็ลาตามไปอีกคน และถูกแทนที่โดย เทย์เลอร์ ฮอว์กินส์และฟรานซ์ สตาห์ล ตามลำดับ และต่อมา สตาห์ลก็แยกออกไป ก่อนจะออกผลงานอัลบั้มชุดที่ 3 There Is Nothing Left to Lose (1999)
เมื่อได้ คริส ชิฟเลตต์ เข้ามาร่วมวงในฐานะมือกีตาร์คนที่สอง หลังจากเสร็จสิ้นการทำชุด There Is Nothing Left to Lose วงออกอัลบั้มชุดที่ 4 ชุด One by One ในปี 2002 ตามด้วยอัลบัม 2 แผ่นที่ชื่อ In Your Honor (2005) ที่แยกเพลงแผ่นแรกเป็นอะคูสติกและแผ่นสองเป็นร็อกหนัก ๆ ฟู ไฟเตอร์สก็ออกผลงานอัลบั้มชุดที่ 6 -Echoes, Silence, Patience & Grace ในปี 2007

จากการทำงานของฟู ไฟเตอร์สที่ผ่านมา พวกเขาประสบความสำเร็จได้รับรางวัลแกรมมี่ในสาขาอัลบั้มร็อกยอดเยี่ยม ถึง 3 ครั้ง และขณะนี้ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงถึง 6 สาขา ในรางวัลแกรมมี ครั้งที่ 54 (2012) จากสุดยอดอัลบัมที่กระแสโด่งดังไม่หยุดหย่อน นับแต่วางแผงเมื่อต้นปี 2011 คืออัลบัม Wasting Light ที่ติดพีก ชาร์ต ในยุโรปและอเมริกาในอันดับต้น ๆ เลขตัวเดียว 1-3 ทุกตารางที่ขึ้นชาร์ตแบบประสบความสำเร็จสูงสุดมาแรง
อัลบัมนี้ นอกจากโกรห์ล เป็นตัวหลักที่ร้อง เล่นกีตาร์ ทั้งลีด และริธึ่ม เองแล้ว ก็ได้คริส ชิฟเฟิร์ต ร้องประสาน และร่วมลีดกีตาร์ประสาน อีกยังเสริมด้วย แพ็ต สเมียร์ มาเสริมริธึ่ม กีตาร์อีก ทำให้สำเนียงแบบอัลเธอร์เนทีฟแน่นปึ๊ก ไร้เทียมทาน ส่วนเบสนั้น ได้เนท เมนเดล มา ประสานเสียงร้อง และตีกลองโดย เทเลอร์ ฮอว์กกินส์ นับว่าไม่ธรรมดา
อัลบัมนี้ นิตยสาร โรลลิง สโตน ให้สี่ดาว ออล มิวสิกให้ สี่ดาวครึ่ง และนิตยสารคิว ให้สี่ดาว เป็นอัลบัมที่ได้รับคำวิจารณ์จากนักวิจารณ์ดนตรี มากกว่าร้อยรีวิวไปในทิศทางที่ดี ยอดเยี่ยมเกินกว่าร้อยชิ้นแบบไม่ธรรมดา
โกรห์ล ตั้งเป้าต่อการผลิตอัลบัมนี้ แบบทำงานย้อนกลับเข้าไปสู่บรรยากาศเบสิก พื้นฐานต่อกระบวนการสร้างงานแบบในยุคเก่าที่เคยทำกับ เนอร์วานา เขากลับไปใช้เครื่องมือเก่าๆ และสร้างงานในห้องอัดแบบใช้โรงรถเอนซิโน ในแคลิฟอร์เนีย
พวกเขาซ้อมกันสามสัปดาห์ และใช้โรงรถเป็นสตูดิโอผลิต และบันทึกเสียงกันแบบเฉียบขาด ภายใต้การควบคุมของสุดยอดโปรดิวเซอร์ บุทช์ วิก แบบใช้เทปคัสเซ็ตต์อัดสด รีล ทู รีล มีการลบและอัดทับ แบบ โอเวอร์ดัปป์แบบเทคนิคโบราณ เพื่อให้ได้สำเนียง แบบแตกพร่า ห้าว ดิบ สไตล์อัลบัม เนเวอร์ไมนด์ ของ เนอร์วานา อย่างที่โกรห์ล และ บุดช์ วิกต้องการ และมันก็สำเร็จลุล่วงลงด้วยดี
เป็นสำเนียงและวิธีการผลิตแบบย้อนยุค ที่นักฟังรุ่นใหม่ก็รับได้ และไม่สูญเสียนักฟังฐานดั้งเดิม ทำให้อัลบัมนี้ประสบความสำเร็จยิ่ง
อัลบัม Wasting Light มีความยาวทั้งสิ้น 47.53 วินาที มีซิงเกิ้ลเด่นๆ ถูกตัดออกมาดังนี้

“Rope”
แทร็กเด่นความยาวสี่นาทีเศษ เพลงเก่าจาก Echoes, Silence, Patience and Grace ที่โกรห์ล เล่นด้วยอะคูสติกกีตาร์ ซ้อมเล่นขณะที่นั่งรอการตั้งเครื่อง บนเวทีในการออนทัวร์ที่เมืองหนึ่ง บันทึกเสียงครั้งแรกที่แกรนด์ มาสเตอร์ สตูดิโอ ที่ฮอลลีวูด เมื่อเอามาทำใหม่ ใช้การบันทึกเสียงในโรงรถ ก็ดิบแบบได้ใจ
โกรห์ล บอกว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอัลบัม Presence ของ เลด เซพพลิน รุ่นน้า แบบใช้จังหวะและทางเดินคอร์ดกีตาร์พิสดาร คริส ชิฟเฟิร์ต บอกว่า “สำเนียงมันสุดแสนจะงี่เง่าในรูหู” นี่คือพื้นฐานและรากฐานสกุล อัลเธอร์เนทีฟ ร็อก แบบมีราก โกรห์ล บอกว่า งานของเขาเทียบชั้นได้กับร็อก สตาร์แบนด์รุ่นเก่าอย่าง เทเลวิชั่น และวงมิชชั่น ออฟ เบอร์มาร์ ทีเดียว
แทร็ก Rope มีมิวสิควีดิโอ ที่น่าสนใจ ถ่ายทำในห้องคิวบิก เล็กแคบและไร้ทางออก แบบคนเป็นโรคครอสโตโฟเบีย แม้ว่าจะจัด แสงสว่างไสว ก็ให้อึดอัด อยู่ในที วง ถ่ายทำมิวสิก วีดิโอนี้ไว้ขณะอัดเสียงสด

“Arlandria”
ซิงเกิ้ลที่สอง วงให้ดาวน์โหลด ดิจิตอลได้ เมื่อกันยายนปีที่แล้ว โกรห์ลเขียนถึงเมือง ๆ ชื่อเดียวกับเพลงในเวอร์จิเนีย ใกล้ที่ ๆ เขาเคยอาศัย เขาได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีพื้นบ้านเก่าแก่ ของอังกฤษ Rain Rain Go Away ลูกริฟฟ์ อินโทร กีตาร์สามไลน์ ประสานที่งดงาม และจังหวะ ริธึ่มคอร์ด ฉับ ฉับ สไตล์ เนอร์วานา คือเสน่ห์ มันไม่ใช่สำรวยตี สามริฟฟ์ หากทว่ามันคือ วรยุทธแบบกีตาร์ปึ๊กสามไลน์ประสานแบบน่าทึ่ง

“These Days”
นิตยสารโรลลิ่ง สโตน ยกให้เป็นซิงเกิ้ลที่สี่ ที่เยี่ยมยอดที่สุดในรอบปี 2011 เนื้อร้องโดยโกรห์ล อีกเช่นเคย เขาบอกว่าชอบเพลงนี้มากที่สุด เท่าที่เคยทำเพลงมา การถ่ายทำวีดิโอเพลงนี้ โกรห์ลบอกว่า จะตัดเอาเทปบันทึก ฟุตเตจบนเวทีที่เขาออกทัวร์ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์มาใช้ด้วย
แทร็กนี้ อินโทรฯด้วยอะคูสติก ฟิงเกอร์ สไตล์ รับด้วยกลองระทึก สนับสนุนด้วยเบส มากันเป็นระลอก อัดบดขยี้หนักแน่น แบบเสียงอะนาล็อกสะอาดสะอ้าน และเปลี่ยนแพทเทิร์นมาเป็นขนบกรันซ์ แบบนกขูสะใจ แล้วผ่อนลง โกรห์ลให้เสียงร้องแบบผ่อนคลายไม่กดดัน

“Walk”
แทร็กนี้ ใช้เป็นเพลงปิดท้ายเครดิต ทีมงานภาพยนตร์เรือง “THOR” ไม่มีแผ่นขาย แต่ใช้ระบบดิจิตอลดาวน์โหลดสำหรับแฟนนาติก เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดยเผยแพร่ผลงานชิมลางที่ร็อก เรดิโอก่อน และก็ติดอันดับหนึ่งบนชาร์ต ร็อก ซอง
โดยเนื้อหาโกรห์ลได้รับแรงบันดาลใจ มาจากการที่จับให้ลูกสาวคนแรกตั้งไข่ และหัดเดิน
ดนตรีไม่หนัก ทั้งเสียงอะคูสติก เบสที่เน้นจังหวะเหนือ และริธึ่มที่สับคอร์ดแตกพร่าพอประมาณ ไม่ดุนัก มีความนวลเนียนในอารมณ์ สมเนื้อหา
แทร็กนี้แหละ ที่เข้าชิงรางวัลแกรมมี 54 สาขาการแสดงสดยอดเยี่ยม และเพลงร็อกยอดเยี่ยม จะไปถึงดวงดาวเบียดแซงเพลง Rollin’ in the Deep ของอะเดล ได้หรือไม่ เดี๋ยวได้รู้กัน

ฟู ไฟเตอร์ส “Wasting Light” อัลบั้มที่มิสูญเสียแสงไฟโฟกัส บนแนวทางอัลเธอร์เนทีฟ แม้นักฟังเพลงยุคใหม่ร่วมสมัย จะคิดว่าสำเนียงแบบนี้ตกยุค แต่พวกเขายังสามารถบล็อกความคิด และดำเนินตามรอยเท้าแห่งย่างก้าวที่ เนอร์วานา, เพิรล์แจม และ อลิซ อิน เชนส์ ฯลฯ เคยทำและก้าวย่างนำมาก่อนหน้า
ฟู ไฟเตอร์ส อาจเป็นกิ้งก่า ที่ปรับสีให้คงอยู่ดำรงชีวิตได้ ท่ามกลางกระแสทะเลทราย แดนซ์ฮอลล์ อีเล็กโทร ป๊อบ ฮิปฮ็อป อันกว้างใหญ่มหาศาล พวกเขาคืออีกทางเลือก แบบอัลเธอร์เนทีฟ ที่ไม่สูญเปล่า แน่นอน

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE