The Voice : รายการทีวีแห่งปี 2555 !!


Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com

ดูรายการเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ (The Voice Thailand) เสียงจริง ตัวจริง ที่ยังอยู่ในรอบ ไบลนด์ ออดิชัน มา 5 สัปดาห์แล้ว ก็ต้องยอมรับว่า เป็นรายการประกวดร้องเพลงทางทีวีที่มีจุดขายก้าวล้ำไปอีกขั้น แตกต่างจากรายการอื่นๆ เช่น เดอะ สตาร์, AF, ดาวดวงใหม่ ฯลฯ เน้นบุคลิก รูปร่าง หน้าตาและการแต่งกายที่สวยสง่า หรือหล่อล้ำนำสมัยขึ้น หน้าโดดเด่นกว่าเสียงร้อง

รายการประกวดร้องเพลงและสรรหาศิลปินของรายการเก่าๆ นั้น จะว่าไป โดยธรรมเนียม ขนบ หรือค่านิยม ของการคัดเลือก ก็มักจะถูกกำหนดโจทย์และเน้นการพิจารณาโดยกรรมการผู้คัดเลือกว่า ผู้เข้าประกวดจักต้องมีอัตลักษณ์บุคลิกทางเรือนกาย แบบเรียกแฟนได้เป็นอันดับแรก ด้านเสียงร้องนั้นมาอันดับรอง ขอให้ร้องเพลงพอเป็นและมีใจรักที่จะเป็นดารานักร้องก็พอ ทั้งนี้ก็เพื่อจะนำมาฝึกฝน ขัดเกลา โดยให้แฟนๆ ได้ติดตามชมอย่างใกล้ชิด และเกิดความผูกพัน อันจะส่งผลในการต่อยอด กลายเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะเชิงพาณิชย์

เปรียบเสมือนปรัชญาแห่งยุคสมัยที่การเป็นดาราจะต้องเน้นรูปลักษณ์ หรือเน้นการเป็นดารา/นักร้องแบบทูอินวัน โลกสมัยใหม่แยกดารานักร้องออกจากกันไม่ได้แล้ว และอาจแถมพิธีกร และพริตตี้ไปอีกด้วยก็จะครบสูตร

แต่ เดอะ วอยซ์ มาแปลกครับ เป็นรายการประกวดร้องเพลงที่แหวกแนว มันนำพาคนดูทีวีย้อนกลับไปสู่ยุคสมันแห่งการ “ฟังด้วยหู” อีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ “ฟังด้วยตา” เหมือนอย่างการประกวดร้องเพลงในช่วงหลังๆ หรือถ้าจะพูดให้ชัดขึ้น เดอะ วอยซ์ นั้นเหมือนเวทีทองของคนที่โดดเด่นด้านการร้องเพลงอย่างแท้จริง รายการนี้มีแนวความคิดว่า รูปร่าง หน้าตา บุคลิก หรือภาพลักษณ์ที่โดดเด่นของผู้เข้าประกวด นั้นไม่ใช่เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด

ดังนั้น เมื่อรายการนี้ไม่ได้เน้นรูปร่างหน้าตาของผู้เข้าร่วมประกวดเป็นปฐมบท สิ่งที่กลายเป็นพระเอกนางเอกขึ้นมา ก็คือ “อัตลักษณ์ของเสียง” ย้ำนะครับว่า “น้ำเสียง” ที่เป็นเอกลักษณ์และมีเสน่ห์เฉพาะตนของคนร้องมาเป็นโจทย์อันดับต้น ซึ่งจะว่า เดอะ วอยซ์ หาทางและมุ่งเบนเข็มกลับไปในวิถีทางดั้งเดิมแห่งศิลปะ ก็ไม่น่าจะผิดเพี้ยนแต่อย่างใด

สมัยก่อน การจะเป็นนักร้องหรือศิลปินนักร้องของโลกในยุค 50s-60s-70s ซึ่งอยู่ในยุคของศิลปินนักร้องที่ใช้เสียงอย่างแท้จริง รูปร่างหน้าตาจะดีหรือไม่ก็ได้ เรื่องนั้นเป็นประเด็นรอง ยกตัวอย่างเช่น นักร้องอเมริกัน-แอฟริกัน ในสไตล์เพลงโซล, อาร์ แอนด์ บี, หรือ บลูส์ ที่ใช้แต่ทักษะความสามารถในด้านเสียงร้องเพียงอย่างเดียวเป็นพื้นฐาน

เช่นเดียวกัน เมื่อมองมาทางฝั่งบ้านเรา การแจ้งเกิดของนักร้องลูกทุ่งไทยสมัยก่อนนั้น มักจะมาจากเวทีประกวดงานวัด และการประกวดร้องเพลงโดยคัฟเวอร์เพลงดัง หรือเพลงนิยม โดยเน้นความเป็น “เงา” เสียงของนักร้องดังคนนั้นคนนี้ ผู้ชนะอย่างมากก็ได้แค่รางวัลขันน้ำพานรอง การประกวดไม่ได้มีอามิสล่อใจนัก ผู้เข้าประกวดก็ใช้ความสามารถทางการร้องแต่อย่างเดียวจริงๆ

เมื่อประกวดชนะแล้ว บางคนก็สูญหายไป ไม่คิดจะเป็นดารานักร้อง ส่วนใครจะเป็นศิลปินนักร้องหรือไม่อย่างไร ก็จะมีแมวมองไปคัดสรรเข้าสู่วงการ แล้วนำมาปั้นให้กลายเป็นศิลปินโดยวงดนตรีที่ทรงอิทธิพลในขณะนั้น หรือไม่ถ้ามีโอกาสและมีทุน ก็จะตั้งวงเอง โดยมีห้างแผ่นเสียง (ศัพท์ยุคนั้น) และสถานีวิทยุรายการเพลง ให้การสนับสนุนให้โด่งดังอีกต่อหนึ่ง

จากที่เคยประกวดด้วยการเป็น “เงาเสียง” เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ ก้าวล้ำไปอีกขั้น คือ นอกจากไม่เน้นเรื่องการเป็น “เงาเสียง” หากแต่ยัง “เปิดโอกาส” ให้อิสรภาพแก่ผู้เข้าประกวดในการตีความและถ่ายทอดนำเสนออย่างเต็มที่ ตามศักยภาพและความเข้าใจของตนที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำเสียง ความสามารถเฉพาะตัว การพลิกแพลงเทคนิคการร้อง การเปล่งเสียง ตลอดจนการเอนเทอร์เทนคนดูผู้ชม ไม่จำเป็นต้องเหมือนหรือก็อ[ปี้ต้นแบบเหมือนอย่างการประกวดสมัยก่อน

ขณะเดียวกัน การให้น้ำหนักกับอารมณ์ต่างๆ ทั้งตลกเฮฮา ขบขัน ไปจนถึงดราม่า ก็มีความเป็นธรรมชาติ ไม่รีดเค้นความรู้สึกของผู้ชม แต่ปล่อยให้มันลื่นไหลหรือหยุดลงตามเห็นสมควร ยกตัวอย่างสองกรณี เช่น ถ้าหากผู้เข้าประกวดคนใดมีความโดดเด่นในด้านการเอนเตอร์เทนคนดู ไม่ใช่แค่เพียงเสียงร้องเพลง หากแต่การสนทนากับบรรดาโค้ช ถ้าเป็นไปได้อย่างได้รสชาติ และทำให้โค้ช (รวมถึงคนดู) สนุกไปด้วย รายการก็พร้อมจะให้เวลาแก่ผู้เข้าแข่งขันคนนั้นได้อยู่บนเวทีนานขึ้น เช่นตัวอย่างหนุ่มสุพรรณที่ขึ้นไปร้องเพลงสำเนียงบ้านเกิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

หรืออีกกรณี แม้จะมีเหลี่ยมมุมให้เล่นกับอารมณ์ดราม่าเศร้าสร้อยสะเทือนใจ แต่รายการก็ชั่งน้ำหนักได้ว่า จะให้เวลาแก่มันมากน้อยแค่ไหน อย่างสัปดาห์ล่าสุดซึ่งผู้เข้าประกวดคนหนึ่งสายตามองไม่เห็น ถ้าโดยธรรมเนียมของสังคมนิยมดราม่า หรือรายการประกวดอื่นๆ ก็อาจจะพาคนดูลงไปคลุกฝุ่นชีวิตดราม่าของผู้เข้าประกวดชนิดที่ว่าต้องน้ำหูน้ำตาไหลกันไปข้าง ไม่ว่าจะฝั่งเจ้าตัวหรือคนดูทางหน้าจอทีวี แต่เดอะวอยซ์ก็ปล่อยให้มันดำเนินไปคล้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทิ้งไว้เพียงความเอ๋อๆ งงๆ ให้เกิดกับโค้ชหรือแม้แต่ผู้ชมเอง แต่นั่นแหละ เพียงพอแล้วสำหรับความรู้สึกอินและ “ฟิน”

อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปจนถึงรอบตัดสิน สิ่งที่จะต้องดูกันต่อไปก็คือ คอนเซ็ปต์ของ เดอะ วอยซ์ เสียงจริง ตัวจริง จะยังมั่นคงหรือไม่ ผลออกมาจะไม่สวยในรูปลักษณ์และหน้าตา หากทว่าเปี่ยมพรสวรรค์ในการร้องยอดเยี่ยม หรือ ทั้งเสียงดี สวย หล่อ ก็จะได้รู้ผลกันในเวลาอีกไม่นาน

และนี่คือจุดเริ่มต้น เวทีของผู้ที่มีความสามารถทางน้ำเสียงและพรสวรรค์ทางด้านการร้องเพลงที่คาดว่าจะได้เห็น ถ้าคอนเซ็ปต์ของเวทีรอบต่อไป คือรอบแบทเทิล โชว์ และไลฟ์ โชว์ ยังคงยึดมั่นใน “เสียง” หรือ “The voice” ไม่ส่ายหัวแถกลงไปในคูคลองน้ำเน่าแบบเอารูปลักษณ์สวยหล่อเป็นที่ตั้ง แบบไม่เปิดโอกาสแก่ผู้ที่ค่อนข้างจะอาภัพทางรูปลักษณ์แต่น้ำเสียงทรงเสน่ห์แบบรายการอื่นๆ ที่ดาษดื่นจนเฝือ
เชื่อแน่ว่า รายการนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีซึ่งไม่เพียงจะทำให้ค่ำวันอาทิตย์เปี่ยมล้นด้วยความ “ฟิน” หากแต่ยังจะได้ “The Voice” หรือ “เสียง” แห่งความนิยมชมชอบจากคนไทยทั่วทั้งประเทศและครองใจคนดูไปอีกนาน

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE