เที่ยวละไม สุโขทัยเมืองละเมียด


แสงอัสดงแทรกระหว่างอิฐแดงขึ้นรูปทรงเจดีย์ดอกบัวตูมและทรงระฆังคว่ำ ที่ดูเหมือนว่าเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้นมานับหลายร้อยปี ท้องฟ้าครามกับปุยเมฆใสขีดกั้นระหว่างพื้นดินที่เสมือนจิตรกรป้ายสีน้ำมันบนผืนผ้าใบด้วยสีน้ำตาลปนแดงของอิฐตัดกับสีเขียวของต้นหญ้าและใบไม้ ประสมด้วยดอกลีลาวดีขาวผ่องแกมเหลืองออกช่อชูชัน
ขณะออกแรงหมุนโซ่ด้วยฝ่าเท้าอย่างไม่เร่งรีบ เครื่องจักรที่ไม่ต้องเติมน้ำมันนี้ก็พาเราแหวกอากาศไปข้างหน้าอย่างไม่มีท่าทีว่าจะเหนื่อยล้า โอโซนบริสุทธิ์ที่ปนกลิ่นไม้หอมตามธรรมชาติชะล้างปอดให้ชุ่มฉ่ำอีกครั้ง มองไปคูน้ำโบราณ ฝูงนกเป็ดน้ำเริ่งร่าเล่นน้ำในคูที่เต็มไปด้วยดอกบัวสีชมพู
ผมจอดจักรยานข้างร่มเงาต้นไม้ริมทางหน้าวัดมหาธาตุ ชะแง้แอบมองสาวเอเชียหน้าหวานซ้อนท้ายหนุ่มฝรั่งนัยน์ตาน้ำข้าว นึกอิจฉาเบาๆ ในใจ กลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ปั่นจักรยานตามทางเป็นทิวแถว ไม่ใช่เพราะเข้าร่วมโครงการปั่นจักรยานของหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ที่รณรงค์เรื่องนี้กันเป็นช่วงๆ แต่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยส่วนมากนิยมเช่าจักรยานมาปั่นชมเมืองเก่าเคล้าบรรยากาศชุมชน

ผมปั่นจักรยานไปทั่วทุกวัดภายในเขตรั้วของอุทยานประวัติศาสตร์ ไม่หลงลืมที่จะสักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดังปรากฏในหลักศิลาจารึก ที่เมื่อได้ศึกษาแล้วเรื่องราวบนหินที่ถูกจารึกนั้นได้ฉายภาพการเป็นผู้นำของพ่อขุนรามคำแหงในทางโลกและทางธรรม หมายความว่ากษัตริย์ผู้มีความสามารถและเป็นนักรบที่ปกครองไพร่ฟ้าให้มีความเป็นอยู่ที่ดี บ้านเมืองเป็นปกติสุข ดังคำกล่าวว่า 'เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า' ผ่านกาลเวลาข้ามยุคสมัย สุโขทัยก็ยังคงเป็น 'รุ่งอรุณแห่งความสุข' เท่าที่ผมสัมผัสได้


เมื่อออกจากเขตรั้วรอบของอุทยานฯ สองเท้าต้องออกแรงปั่นด้วยเพื่อข้ามถนนไปยังอีกฟากฝั่ง เพื่อไปเที่ยวชมวัดศรีชุม และวัดพระพายหลวง ระหว่างทางปั่น ผมมิได้พบแต่นักท่องเที่ยวเท่านั้น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบอุทยานประวัติศาสตร์ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 12 ชุมชน ก็ยังใช้เส้นทางนี้สัญจร
ขณะสวนทางกับชาวบ้าน ใจของผมพลันนึกไปถึง “Creative – Slow – Low Carbon Tourism” สามนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ซึ่งสำหรับ ณ พื้นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยนี้ เป็นหนึ่งในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่มีหมายรวมเอาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชน เอกลักษณ์สถานที่ และแนวคิดสำนึกรักธรรมชาติ มาผสมผสานกันอย่างสร้างสรรค์ โดยมีแนวทางการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงระหว่างอุทยานประวัติศาสตร์กับชุมชนที่อยู่รอบอุทยานฯ ที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

“Creative – Slow – Low Carbon Tourism” เป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวแนวคิดใหม่ ที่ประกอบด้วยคีย์เวิร์ดของแต่ละแนวคิดคือ “Creative” หมายถึงการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่ให้ความสนใจกับวัฒนธรรมและใส่ใจกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของชุมชนในพื้นที่ท่องเที่ยว และเน้นย้ำถึงความผูกพันของผู้มาเยือนกับเจ้าบ้านเพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมกัน อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชนที่ไม่ใช่กิจกรรมที่เน้นแต่เพียงรายได้ของชุมชน แต่เป็นกิจกรรมที่เน้นคุณค่าของชุมชน ตามด้วยแนวคิด “Slow” หรือการท่องเที่ยวแบบละเลียด นั่นคือการค่อยๆ ซึมซับเรียนรู้ และสังเกต ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่แก่สาวกการท่องเที่ยว ผู้ที่นิยมการเที่ยวแบบละเมียดละไม ให้เวลากับสิ่งรอบด้านมากขึ้น ใช้ประสาทสัมผัสที่มีให้มากขึ้นเพื่อซึมซับความสวยงามของสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบกายเพื่อสร้างประสบการณ์ตรงร่วมกับเจ้าของวัฒนธรรม และมีโอกาสได้ใช้ชีวิตร่วมกันกับเจ้าของสถานที่ ตบท้ายด้วยแนวคิด “Low Carbon” หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ จิตสำนึกรักและหวงแหนธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ


แนวทางการพัฒนาของ อพท. เริ่มจากการมองเห็น มองหา และชูคุณค่าของดีจากชุมชนทั้ง 12 ซึ่งต่างก็มีของดีประจำชุมชนที่แตกต่างกันไป อย่าง 'ชุมชนบ้านใหม่ตระพังทอง ' ทำเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก 'ชุมชนรามเล็ก' จะมีการแกะสลักพระจากรากไม้หรือท่อนไม้ 'ชุมชนรามใหญ่' ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ และไม้ฉลุประดับกรอบกระจก 'ชุมชนศรีชุม' สานปลาตะเพียนหรือสัตว์ต่างๆ จากใบลานด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน 'ชุมชนลิไท' บริการเกวียนโบราณให้นั่งชมโบราณสถาน กระทงจากใบลาน บ้านทรงไทยจำลองจากเศษไม้ 'ชุมชนนครสาน' เปิดโรงกลองยาวในงานประเพณี เราจะได้เห็นคุณปู่มาฝึกเด็กๆ รำกลองยาวที่นี่ ส่วน 'ชุนชนบ้านใต้' เขียนลายไทยบนวัสดุ เช่น กระด้ง กระจาด และผืนผ้าใบ 'ชุมชนบ้านเหนือ' ชำนาญทำผลิตภัณฑ์วางไวน์รูปมือที่อ่อนช้อยคล้ายฟ้อนเล็บหรือจะเป็นขนมโบราณแท้ 'ชุมชนตะพานทองหลาง' ทำกรงนกหัวจุก และยังมีข้าวตอกพระร่วงเป็นโอท๊อประดับ 5 ดาว 'ชุมชนแม่รำพัน' มีบ้านนกไม้ติดฝาผนังและเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านแบบเฮนด์เมดสวยๆ 'ชุมชนป่ามะม่วง' บริการนวดแผนโบราณ และ 'ชุมชนนครหนึ่ง' ที่ทำเฟอร์นิเจอร์รากไม้หรือตอไม้เป็นสินค้าของชุมชน

สำหรับนักท่องเที่ยวเมื่อมีความรู้สึกของการใช้ประสบการณ์ร่วมกัน แทนที่จะมาแล้วจากไป เราก็จะรู้สึกผูกพันกับสถานที่นั้น เรื่องสิ่งแวดล้อม แทนที่เราจะผลาญใช้พลังงานให้สิ้นเปลืองเพียงแค่คิดว่าไม่ใช่บ้านเกิดเราก็คงจะไม่คิดสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากไปกว่านี้ แล้วทำลายธรรมชาติและทรัพยากรที่เราผูกพันเช่นเดียวกับเจ้าของบ้าน อย่างการหลีกเลี่ยงการขับรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เราก็แค่เพียงกลับมาใช้พลังกาย ด้วยพลังเท้าปั่นจักรยาน เที่ยวชมเมืองเก่า อยู่ห้องพักเปิดแอร์ได้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม แต่ไม่เปิดทิ้งไว้เมื่อไม่อยู่ห้อง ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเดิม ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทุกวัน ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของ Low Carbon Tourism

ส่วนการได้ใช้เวลาศึกษาหาความรู้ แล้วเรียนรู้จากแหล่งท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่เรียกว่า Slow Travel เพราะเราไม่ได้เร่งรีบ แต่เราให้เวลาในการซึมซับความรู้ ประสบการณ์และบรรยากาศระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว แล้วอะไรคือ Creative นั่นคือ กระบวนการของชุมชนที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสได้ไปเข้าร่วมอย่างมีมิตรไมตรี ได้ข่าวมาว่า 'ชุมชนบ้านใหม่ตระพังทอง ' ที่มีการทำเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก ได้เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ไปเขียนลวดลายบนถ้วย ชาม หรือจาน สังคโลก สร้างให้เป็นงานหัตถกรรมชิ้นเอกที่มีชิ้นเดียวในโลกด้วยฝีมือของนักท่องเที่ยวเอง
รับรองว่าเที่ยวกี่วันก็ไม่เบื่อ เพราะทุกชุมชนล้วนสะท้อนมิตรไมตรีและความอิ่มเอิบใจผ่านรอยยิ้มที่ชาวบ้านเต็มใจมอบให้รอยยิ้ม ประกอบกับสินค้าและบริการด้วยฝีมือ “Creative – Slow – Low Carbon Tourism” เมื่อได้สัมผัสแล้วจะรู้ว่าทุกคนมีความรักในชุมชนและอยากจะสืบสานวิถีชาวบ้านต่อไปอีกนานเท่านาน
เห็นไหมล่ะว่า การท่องเที่ยว สร้างความสุขให้ทุกคนได้จริงๆ แล้วคุณล่ะ จะส่งต่อความสุขนี้ไปอย่างยั่งยืนหรือเปล่า














No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE