คาราโอเกะ ส.ว. โลกรื่นรมย์ใบเล็กๆ กลางเมืองหลวง

ภายใต้หลังคาคอนกรีตย่านตลาดบางลำพู บนเวทีคาราโอเกะปรากฏไอ้หนุ่มหน้าละอ่อนหากย้อนกลับไปสัก 30-40 ปี กำลังฮัมเพลงฮิตแห่งยุคพร้อมสั่นแกว่งขาจังหวะ แท็ง แทน ตามอย่างราชาเพลงร็อก เอลวิส เพรสลีย์ ขณะที่เบื้องล่างเหล่านางศรีสยาม บ้างก็ตบมือให้จังหวะ บ้างก็ยิ้มแย้มแจ่มใส บ้างก็ขยับร่างกายคล้ายเต้นระบำอยู่บนฟลอร์เพลง ท่ามกลางบรรยายกาศยุค 2013

มนต์เพลงแห่ง “คน” วันวาน ความสำราญที่เบิกบาน “ฤทัย”

ตั้งแต่ตะวันโผล่พ้นขอบฟ้าส่องประกายแสงสีขาวเจิดจ้าจวบจนแสงสุดท้ายลาลับ “เสียงขำขัน” “เสียงวาจา” ดั่งสนั่นเซ็งแซ่แข่งกับจังหวะเมโลดี้เพลงอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดละ รอยยิ้มกับนัยน์ตา ต่างแย่งชิงเปิดประตูหัวใจเพื่อบอกเล่าเรื่องราวแห่งความสุข…โหวกเหวกแต่สุภาพ สั่นเครือทว่าไพเราะ เหล่ากิริยานี้ไม่เคยจางหายเช่นเดียวกับบทเพลงแห่งวันวานที่กู่ร้อง ณ ห้องแห่งนี้

“คนมันชอบร้องเพลง เข้าห้องน้ำจะเดินตรงไหน พอได้เพลงอะไรที่เราถูกใจ ตรงใจ ก็จะร้อง มันมีความสุขเวลาที่ร้อง ได้ร้องที่เราอยากจะร้อง แล้วก็ได้คุยกับเพื่อนๆ ก็แค่นั้น ก็มีความสุข” เชวง โสมทองแดง หญิงชราวัยย่าง 80 ปี ที่ใครในที่นี้ต่างยกให้เธอเป็นดั่ง “ราชินีเพลงคาราโอเกะ” กล่าวด้วยรอยยิ้มที่เผยให้เห็นฟันปลอมยกปาก

แม้ตัวเลขอายุสังขารจะรุดหน้าไปสู่บั้นปลายแห่งชีวิตพอสมควร ทว่า “ร่างกาย” กับ “หัวใจ” ดูเหมือนจะไม่ยอมศิโรราบต่อแรงโน้มถ่วงของโลกใบนี้ ความสดใสความสนุกสนานที่มีเหลือคณานับถูกโปรยปรายแจกจ่ายเกลอมิตรอย่างทั่วถึง ขณะที่ท่วงท่าในการร่ายรำบทเพลงก็ครื้นเครงแถมไพเราะเสนาะหูเสียนี่กระไร

“ถ้าเกิดมาร้องเพลงคนเดียวแล้วไม่เจอเพื่อน มันก็ไม่สนุกใช่ไหม สักประมาณ 20 กว่าคนเราก็เจอแล้ว”คุณยายเชวง รำพันครั้งวันวานว่า เริ่มแรกเดิมทีไม่มีร้านคาราโอเกะเปิดบริการ ก็อาศัยร้องที่บ้านลูก บ้านเพื่อน หลังจากที่คาราโอเกะเปิดให้บริการ เธอก็เริ่มตระเวนร้องบนเวทีตามสถานที่ต่างๆ ที่เปิดฟลอร์

ที่ออกมาร้องเพลงก็อยากมาเจอเพื่อน อยากผ่อนคลาย จะให้มานั่งเหงามันน่าเบื่อ เราเสร็จภาระหมดแล้ว เราไม่ได้ทิ้งอะไรในบ้านเลยจะอยู่ทำไม ”
ทุกวันหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ ซักผ้า เตรียมอาหาร และเรื่องจิปาถะต่างๆ ในบ้าน การตะลอนร้องเพลงคาราโอเกะตามที่โน่นที่นี่ของป้าเชวงในทุกวัน คล้ายว่าเวทีเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 เลยก็ว่าได้

“ตั้งแต่ 11 โมงไปยัน 2 ทุ่มร้านปิด บางทีก็ไปต่อถ้ามันเกิดอารมณ์มัน คือมันอยากร้อง เป็นอย่างนี้ทุกวันไม่มีเหนื่อย ร้องเพลงไม่เหนื่อยหรอก
ใจมันอยากจะมา ใจมันร้อนผ่าวๆ มันร้อนอยากจะออก เหมือนคนติดการพนัน มันผูกผันเหมือนเป็นหน้าที่ที่ต้องมา ถ้าเราว่างปุ๊บเมื่อไหร่เป็นมาเลย”

เช่นเดียวกับคุณป้าวิมลพรรณ อิริยานุกูล วัย 67 ปี เกลอแก๊งราชินีคาราโอเกะ ที่ถึงแม้จะคร่ำหวอดในวงการนี้ได้ไม่นาน แต่หลังจากสัมผัสถึงสิ่งต่างๆ ที่ก่อร่างสร้างตัว ณ ที่แห่งนี้ ทำให้เธอตัดสินใจควงไมค์ยันชีพมลาย

“ร้องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมาไม่ไหว ถ้าป้ายังแข็งแรง ถ้ามีโอกาสป้าก็จะมา เพราะว่าเป็นความสุขของเรา”

แต่ก่อนที่คุณป้า “วิมลมาร” (เธอเอ่ยขึ้นเช่นนั้น) จะกลายมาเป็นวิมลพรรณ ได้เต็มตัวทุกวันนี้ เธอบอกว่า ผ่านช่วงชีวิตที่สุดแสนจะย่ำแย่ ทั้งจากมนุษย์ด้วยกัน จากสังคม จากเรื่องต่างๆ มากมาย ถ้าบังเอิญหัวใจไม่เข้มแข็งพอ และไม่มี “บทเพลง” เป็นดั่งที่ระบาย เธอคงเป็นบ้าไปแล้ว

“ตอนนั้นยังไม่ได้มาร้องอย่างนี้ คิดแต่จะแก้ไขตัวเอง ตอนหลังเหตุการณ์มันดีขึ้นก็อยากจะร้อง ร้องออกไปในเพลงที่เราร้อง คือระบายความในใจของเราออกไปในเพลง แล้วมันจะช่วยเราได้ มันเบาขึ้น บางทีน้ำตาก็ไหลด้วย”

หลังจากปลดเปลื้องความทุกข์ออกจากหัวใจให้ลอยฟุ้งในอากาศผ่านบทเพลง แล้วสูดดอมกลิ่นอายความสุขเข้ามาแทนที่ ระหว่างที่นั่งพักยกหายใจหายคอ เรื่องราวหลากรส หลากอารมณ์ ถูกหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง บ้างหัวเราะยิ้มแย้ม บางก็เศร้าสร้อย ตามเนื้อผ้าในชีวิตจริง แน่นอนว่าคนรุ่นนี้ ย่อมต้องเผชิญผ่านโลกมาอย่างสาหัสสากรรจ์ ผิวหนังที่แตกลาย ประกายแห่งดวงตาที่ดูแรงกล้า ย่อมหมายถึงกาลเวลานับหมื่นนับล้านนาทีล่วงผ่านมา เป็นดั่งรสชาติชีวิตชั้นยอด ที่คลอเคลียประกอบดนตรีอย่างเหมาะเจาะ

“คุยกันเรื่องเพลง เรื่องกเฬวราก เรื่องลูกเรื่องเต้า เรื่องอาหารการกิน แล้วแต่เขาอยากจะพูดกัน หัวเราะกันเรื่องทะลึ่งๆ ตามประสา บางทีเพื่อนพูดทะลึ่งขึ้นมาเราก็แจมเขาไปอะไรอย่างนี้ แต่ว่าแบบสนุกสนานไม่เกี่ยวกับใคร” คุณป้าวิมลพรรณเอ่ย

เสียงหลังไมค์ ในใจผู้ขับร้อง

ในวันที่สังขารร่วงโรยไปตามตรรกะแห่งกาลเวลาเช่นที่เป็นอยู่นี้ ร่างเนื้ออันเหี่ยวย่นรอคอยวันดับสลายกลายเป็นเถ้าธุลีดิน จะต้องการอะไรในบั้นปลาย…ภาพคนแก่ชราจับคู่กับอุปกรณ์อะไรสักอย่างในมุมใดมุมหนึ่ง ของหลังคาสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า ‘บ้าน’ เป็นประจำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดูจะคุ้นชินตาพอๆ กับคำพูดที่ว่า “ท่านชอบนั่งเก้าอี้ตัวนั้น” หรือ “ท่านชอบนอนโต๊ะตัวนี้” ที่เหมือนคล้ายการจดจำใส่ใจในรายละเอียด จนลืมคิดไปว่า ‘มนุษย์’ เรามักชอบอะไรที่แปลกใหม่ฉันใด ฉันนั้นการที่แสดงพฤติกรรมซ้ำๆ คงจะหนีไม่พ้นสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘เหงา’
“มีทุกอย่างแต่มันก็เหงา มันเหงาอยู่ เวลาเราเปิดมันก็ผ่อนคลายไป แต่พอเราปิดก็นั่งคิดนั้นคิดนี้ อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ” เสียงสะอื้นในลำคอ ของคุณป้านิรนาม บอกเล่าในฐานะ “แม่” ผู้ซึ่งต้องดำรงชีวิตอยู่เพียงลำพังด้วยวัยเฉียดเลข 6

“ป้ามีลูก 4 คน คนหนึ่งอยู่เมืองนอก เขารวยมากเลยนะ ถามว่าให้แม่ไหม…ให้ แต่เขาไม่ค่อยห่วงใยเท่าไหร่ อีกคนแต่งงานไปอยู่อุดร อีกคนหนึ่งอยู่ฟาร์มเลี้ยงหมา คนสุดท้องเรียนอยู่ ทั้ง 4 คนไม่ได้อยู่ด้วยกันเลย ถึงเวลาตายก็ตายคนเดียวในบ้าน”

ในวันที่ชีวิตเดินคู่ขนานห่างไกลคำว่า ‘ลำบาก’ ชนิดไม่เห็นฝุ่น แต่ความเหงาที่เกาะกินหัวใจดวงน้อยๆ ของมารดาคนหนึ่ง ถึงกับแน่นิ่งอยู่พักหนึ่งคล้ายคนสำลักลมหายใจของตัวเอง เมื่อเอยถามถึงเรื่องลูกเต้า

“แต่ถามว่าความรักจากลูกจะให้เหมือนที่เรารักเขา เลี้ยงเขาแมลงวันไม่ให้ตอม ยุงไม่ให้กัด สมัยนี้ยากนะ แต่ถามว่าลูกรักเราไหม…รัก แต่เขาก็ไม่เอาใจใส่เราเท่าเราดูแลเขา เขาให้กินไม่อด
นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ออกมาร้องเพลง หาความสุข เรารู้สึกเปล่าเปลี่ยว คิดถึงลูก คือลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน ถึงแม้แบ่งปลาทูกินกันสามคนพ่อแม่ลูกก็อบอุ่น จะจนก็อบอุ่น”

และนี่คือบทเริ่มต้นของนิยายชีวิตที่ไม่ต้องไปหาดูที่ไหน เพียงหันหลังกลับไปยามก้าวขาพ้นขอบประตูบ้าน มือที่โบกสะบัดลา รอยยิ้มฉีกกว้างที่ส่งให้ และไฟนีออนดวงน้อยที่ถูกเปิดทิ้งไว้รอคอยการกลับมา ของใครสักคนอันเป็นที่รักยิ่ง
“แต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน อย่างที่เขาออกมากัน มีเหตุผลคือ เขาชอบเพลง หรือไม่ก็เพราะว่าเขาเหงา ก็แล้วแต่คนไป” คุณลุงเจ้าของร้าน A&T คาราโอเกะ เผยเหตุผลต้นสายปลายทางลูกค้า

ราคา 10 บาทแลกกับหนึ่งบทเพลง แลกกับเสียงหัวเราะ แลกกับรอยยิ้ม แลกกับมิตรภาพ นับว่าเป็นราคาค่างวดที่ไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับความสุขที่ได้รับกลับมา

“ผมเป็นคนชอบร้องเพลง หลงเสน่ห์เพลง สมัยรุ่นๆ ก่อนเปิดร้านผมก็ไปผ่อนคลายอย่างนี้ จึงรู้ว่าเราจะทำอย่างไรให้ลูกค้ามาแล้วได้รับความสุข เพราะเรามันคนวัยเดียวกัน”

แม้จะเพียงชั่วครู่ชั่วคราว แต่มันก็ทำให้วันแต่ละวันของคนหนึ่งคน ที่ถูกหลงลืม ‘หัวใจ’ ให้กลับมามีเรี่ยวแรงพยุงค้ำร่างให้อยู่ต่อไป เฉกเช่นวลีเด็ด “อยากให้ท่านอยู่กับเราไปนานๆ” เพียงแค่ ‘ร่างกาย’ มิใช่ ‘จิตใจ’

“ความรัก ความเอื้ออาทรต่อลูก สำคัญที่สุด” คือประโยคสุดท้ายกับคราบร่องน้ำตาของหญิงชรานิรนามผู้นี้

ร้อยเรียงร้องรัก หัวใจผูกพัน

ในโลกที่เหมือน ‘สีชมพู’ ของบรรดาคนสูงวัย ณ มนต์เพลงคาราโอเกะแห่งนี้ ไม่ได้มีแต่รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ มิตรภาพเท่านั้น ทว่ายังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ปรากฏอยู่ในลานเวทีเสียงเพลงมาช้านาน คือ ‘ความรัก’ ที่ก่อเกิดขึ้นหลังม่านแห่งนี้

“เรื่องความรักมันมี มันเป็นธรรมชาติ ” ป้าวิมลพรรณเผย

ถ้าเป็นวัยรุ่น เราคงจะไม่ประหลาดใจ แต่ในวัยอายุอานามเท่านี้ “ความรัก” ที่เกิดขึ้นกับอดีตคนเคยหนุ่มเคยสาว จะมีรสชาติ ‘หอม’ ‘หวาน’ เช่นไร

“ถ้าว่าเขาชอบเรา เราก็ชอบเขา แล้วเราดูแล้วว่าเขาไม่เอาเปรียบเรา อยู่ในฐานะที่ว่าเขาจะเป็นผู้นำเรา ก็โอเคนะ แต่เราก็ต้องดูเหมือนกันว่าผู้ชายคนนั้นเขาเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่ามาหลอกเรา คิดว่าอยากจะได้เรา พูดแบบชาวบ้านว่าไปเป็นเมียตัวเอง อยากจะได้เราด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ว่าแบบวัยรุ่นมาหลอกอะไรอย่างนี้”
แน่นอนว่า เรื่องราวของความรักครั้งเก่ายังไม่เคยเลือนรางจางหายไปจากหัวใจ แต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวความหนาวเย็นที่มอดไหม้แทรกตัวอยู่ก้นบึ้ง บ่อยครั้งทำให้เรารู้สึกอยากมีใครสักคนหนึ่ง “กุมมือเราไว้”

“บางสิ่งบางอย่าง เราทำไม่ได้เราก็อยากให้แฟนเราช่วย คล้ายๆ อยู่แบบเพื่อน ไม่ใช่อยู่แบบตัณหา เวลาเขาไม่สบายเราดูแลเขา เราไม่สบายเขาดูแลเรา แล้วก็ช่วยกันออกภายในบ้านก็จบไม่เอาอะไร”

ท่ามกลางสังคมที่มองว่า เรื่องราวทำนองรักระหว่างหญิงกับชาย เป็นเรื่องของคนวัยหนุ่มสาว ขณะที่อดีตคนเคยรุ่น วัดวาอาราม ดูจะเป็นสถานที่เหมาะสมกว่าไม่ต่างไปจากคำบางคำ จากปากต่อปาก ของเรื่องชาวบ้าน อย่าง “แก่แล้วยังจะมาหมกมุ่นเรื่องพวกนี้อีก”

“ป้าว่ามันไม่น่าเกลียดนะ เพราะคนเราไม่ว่าจะเด็กหรือแก่ ก็มีความต้องการ ไม่ใช่พระอิฐพระปูน มีความต้องการ คล้ายๆ ว่าพอมาใกล้ชิดมาผูกพันกัน”
ความรู้สึกของมนุษย์คือเราต้องมี มีอะไรต่ออะไร คนที่เป็นหม้ายอะ มนุษย์เราธรรมชาติของมัน มันจะเป็นอย่างนี้ หนีไม่พ้นกับเรื่องพวกนี้ อยู่ที่การวางตัวของคนคนนั้น วางแบบไหนให้ถูกต้อง อย่างให้มันน่าเกลียดเกินไป” 
ป้าวิมลพรรณเสริมว่า วุฒิภาวะทางความคิด การอยู่ในขอบเขตของศีลธรรมเป็นสิ่งจำเป็น กับการจะเลือกสานสัมพันธ์กับใครสักคนหนึ่ง สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือต้องดูว่าเขามีครอบครัวหรือไม่ 

“คือเราจะอยู่แบบเบรกตัวเอง ดูตัวเองว่าเราสมควรตรงไหน เราต้องรู้ว่าเขามีครอบครัวหรือยัง ถ้ามีแล้วเราก็ออก เพราะมันจะเป็นปัญหา เหมือนไปแย่งเขามา ไปแย่งเขาเราก็จะสุขแป๊บเดียว แต่ความทุกข์เนี่ย มันจะเข้ามาหา”
“แต่ถ้าคนที่มีครอบครัวเขาก็จะพยายามเลี่ยง เขาจะไม่เข้ามาอะไร เพราะว่าคิดแล้วมันทำให้บ้านแตก” ป้าวิมลพรรณ กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มก่อนเดินขึ้นเวทีร้องเพลง

ถ้าไม่ใช่งานบุญงานกุศล หรือสถานรับเลี้ยงคนชรา ภาพบรรยากาศเช่นนี้คงเป็นเรื่องที่หาดูได้ยากในสังคมไทย จนเราลืมว่าเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และความสุขที่เราสัมผัสและได้ยินจากผู้เฒ่าผู้แก่ ครั้งสุดท้ายเมื่อไรกัน
มันอาจจะกินเวลาเนิ่นนานกว่าจะหาคำตอบสักหนึ่งคำและนึกมโนภาพในหัวออกว่าเป็นอย่างไร…

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE