มหากาพย์ 'พาลแว่นแดง' : เกียรติยศอัปยศ แห่งโลกวรรณกรรม!?!

เปิดปมสงครามคนวรรณกรรมไทย เมื่อรางวัลพานแว่นฟ้าคว่ำกระดาน ทำการ “รัฐประหารตัวเอง” ฉีกกติกา มอบหนึ่งแสนบาทแก่บทกวีที่ผิดกฎ นักเขียนทั่วแดนสยาม โอด…แล้วจะมีกติกาไว้ทำไม พร้อมฟังปากคำจากคนวงใน กับเรื่องน่าอัปยศของบางกรรมการ ตอบข้อสงสัย เหตุไฉน ใครต่อใครจึงเรียกขาน “พานแว่นฟ้า” ว่าเป็น “พาลแว่นแดง”

นับเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่แห่งปีที่ดึงสายตาของคนวรรณกรรมให้หันมามอง ณ จุดเดียวกัน อย่างเป็นปรากฏการณ์ เมื่อบทกวีเรื่อง “เบี้ย” ได้รับฉันทานุมัติจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ให้ครองตำแหน่งชนะเลิศ ทั้งที่มีจุดบอดให้เห็นเด่นชัด เรื่องราวนี้มีที่มาที่ไปและมีรายละเอียดระดับเปิดสงครามกันฝุ่นตลบแค่ไหน มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน…

ถ้าไม่อยากให้มีคำว่ากวี นักเขียน แต่ใช้คำว่าประชาชนทั่วไปอย่างเดียว
ถ้าอย่างนั้นก็เอาคำว่า ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ออกไปด้วยสิ
คณะกรรมการในวันแถลงการณ์

1.
เปิดแผล พานแว่นฟ้า
“ฉัน” ทะลัก “เธอ” ทะลุแก่โทสะ

“…เรื่องมันเศร้าพิกลคนที่รัก
นอกกระดานนั้นเหนื่อยนักนะสหาย
การเมือง โลก ปรัชญาสาธยาย
ชีวิตเป็นเบี้ยหงายสบายดี
เอาตัวออกนอกกระดานได้อย่างไร?
เปิดตำราเล่มไหนกันครับท่านพี่?…”
(บางตอนจากบทกวี “เบี้ย”)

ภายหลังบทกวีที่ชื่อ “เบี้ย” ซึ่งเขียนโดยอรุณรุ่ง สัตย์สวี ได้รับการขานชื่อในฐานะผลงานชนะเลิศรางวัลพานแว่นฟ้า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในมวลหมู่คนวรรณกรรม โดยเฉพาะพี่น้องสายกวี ก็ดังออกมาจากทั่วสารทิศ ชนวนเหตุซึ่งนำไปสู่การถกเถียงกันอย่างถึงพริกถึงขิง ก่อนจะเกิดการ “เชือดจริง” ในเวลาต่อมาก็เพราะว่า บทกวีชิ้นที่ได้รางวัล มีคุณลักษณะบางประการผิดไปจากกรอบกติกาที่วางไว้

บุคคลซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้เปิดแผลแฉรอยด่างการตัดสินรางวัลในครั้งนี้เป็นคนแรกๆ ก็คงหนีไม่พ้นเหยี่ยวข่าวสายวรรณกรรมนาม “พินิจ นิลรัตน์” ที่จับเอากติกาเข้ามาผ่าตัดกรณีนี้ ผ่านความเห็นบนเครือข่ายออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก
“ผมขอไม่พูดถึงเนื้อหา และมิพักต้องอธิบายว่า ‘บทกวียอดเยี่ยม’ รางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 12ประจำปี 2556 นั้น มีจุดบกพร่องในเชิงฉันลักษณ์ตรงไหน กี่จุด ผมจะไม่ไปแตะตรงนั้น พูดให้ชัดก็คือ ผมไม่มีเจตนาไปคอยจับผิดทั้ง ‘รูปแบบ’ และ ‘เนื้อหา’ ให้ขุ่นเคืองใจใคร แต่สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้เป็นเรื่อง ‘กฎกติกา’ ล้วนๆ ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ เปิดเผย เป็นที่รับรู้ในวงกว้างอยู่แล้วทั้งสิ้น”

กล่าวอย่างรวบรัด หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและการตัดสิน และขั้นตอนการพิจารณาวรรณกรรมการเมืองประเภทเรื่องสั้นและบทกวี' ระบุว่า “๗.๒) บทกวี เป็นวรรณกรรมการเมืองประเภทบทกวี หากเป็นฉันทลักษณ์แบบแผน ขนาดความยาว ๖-๑๒ บท”
“คำถามก็คือ บทกวีที่ ‘คณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา’ ตัดสินให้รางวัลยอดเยี่ยม (รางวัลเงินสด ๑ แสนบาท) ชื่อ “เบี้ย” นี้ ‘มี ๑๔ บท’ (กับอีกครึ่งบท) ผ่านมาถึงขั้นนี้ได้อย่างไร ผมเห็นว่า “ผิดหลักเกณฑ์” อย่างชัดแจ้งโดยไม่ต้องตีความใดๆ ให้ซับซ้อน ถือเป็น “โมฆะ” ตั้งแต่ต้น หรือว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกติกาตอนไหน อย่างไร”

หลังจากเชื้อไฟชิ้นแรกถูกจุดขึ้นมา ปฏิบัติการ “ประชุมเพลิงพานแว่นฟ้า” ก็มีผู้ชักแถวเข้าร่วมวางดอกไม้จันทน์กันอย่างคับคั่ง เกิดกระแสเรียกร้องให้ล้มล้างคำตัดสิน พร้อมกับส่งเสียงถึงคณะกรรมการให้ออกมาชี้แจงเหตุผลต่อพฤติกรรมที่หลายคนมองเห็นว่าผู้ถือกติกาเป็นคนล้มกติกาเสียเอง “ตาราง” บนกระดานหมากรุกมีให้เล่น แต่กลับออกนอกเลน เล่นนอกตาราง
ถ้อยคำ จาก วาด รวี กรรมการผู้มีบทบาทสำคัญต่อเรื่องราว
และก็อย่างที่คาดเดาได้ สุดท้าย ก็มีคำแถลงการณ์ชุดใหญ่จากคณะกรรมการซึ่งระบุว่าผ่านการประชุมหารืออย่างเคร่งเครียดมาครึ่งค่อนวัน โดยบางส่วนในคำแถลงนั้น ก็กลับเป็นประเด็นร้อนและโหมเชื้อไฟให้เกิดการถกเถียงต่อไปอีก อาทิเช่น

“…คณะกรรมการเห็นว่าจะต้องเป็นการใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงการเปิดกว้างในทางรูปแบบการสร้างสรรค์อย่างเท่าเทียมกันกว่าที่เป็นมาในอดีต เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นกันกับที่เปิดโอกาสให้งานบทกวีร่วมสมัยของไทย สามารถแสดงพลังและความหมายของมันได้โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบการประพันธ์ที่คับแคบอีกต่อไป…”
“…ขอยืนยันว่า บทกวีเรื่องเบี้ยเป็นบทกวีที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะคุณค่าของบทกวี ย่อมไม่ถูกกดกักไว้ด้วยแบบแผนใด ๆ ทั้งสิ้น…”

ทั้งนี้ นอกเหนือไปจาก “คำแถลงการณ์” ที่หลายคนตัดทอนให้มีสถานะเป็นแค่เพียง “คำแถ—” นั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการตัดสินในขั้นสุดท้ายก็พยายามจะบ่ายเบี่ยงแบ่งรับแบ่งสู้คล้ายกับจะโยนเผือกร้อนกลับไปที่คณะกรรมการกลั่นกรอง ดังคำกล่าว “คณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภายังมีภารกิจหลักคือการวางโครงสร้างและจัดตั้งรางวัลใหม่ จึงเห็นว่าให้ใช้ข้อกำหนดเดิมโดยอนุโลม และให้เป็นดุลพินิจของกรรมการกลั่นกรองแต่ละชุดว่าจะอนุโลมแค่ไหนเพียงใด คณะอนุกรรมการกลั่นกรองบทกวี จึงเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในการอนุโลมให้บทกวีเรื่องเบี้ย ผ่านเข้ารอบ”

ขณะที่เสียงวิจารณ์บนพื้นที่ออนไลน์เป็นไปอย่างกว้างขวาง ข้อสังเกตหนึ่งซึ่งหลายหูยอมรับว่าน่ารับฟังเป็นอย่างยิ่งก็คือทัศนะของนักเขียนรุ่นใหญ่อย่าง “วิมล ไทรนิ่มนวล”
“ผมเห็นว่ากรรมการหลายคนที่เป็นหัวขบวนของรางวัลนี้ มุ่งปักธงเนื้อหาของงานเขียนไว้แล้ว ว่าจะต้องเป็นอย่างไร จึงเป็นเหตุหนึ่งให้ละลืมกฎเกณฑ์ของรางวัลนี้ไป ปัญหาของรางวัลนี้ไม่ได้เกิดจากใคร แต่เกิดจากหัวขบวนสามสี่คนดังที่รู้ๆ กันอยู่ในแวดวงวรรณกรรม”

ไม่ว่า “หัวขบวนสามสี่คน” ในคำกล่าวของวิมล ไทรนิ่มนวล จะเป็นใครบ้าง แต่ที่แน่ๆ “สงครามวรรณกรรม” ก็ปะทุระอุขึ้นในชั่วเวลาไม่กี่ชั่วโมง ห่ากระสุนแห่งทัศนะและลูกระเบิดทางวาทกรรมก็ถูกโยนเข้าห้ำหั่นกันจนฝุ่นคลุ้ง เกิดเป็น “สงครามกวี” ที่ดุเดือดที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย
2.
เมื่อ “หลักการ” กลายเป็น “หลักกู”
“พานแว่นฟ้า” ก็กลายพันธุ์ “พาลแว่นฟ้า”

“…ไม่ศรัทธาประชาธิปไตยมีใครว่า
แต่ทำตีฝีปากกล้าวาจาเก่ง
เดินตามกติกาประสานักเลง
ใช่แพ้แล้วพาลเบ่งโคลงเคลงเรือ…”
(บางตอนจากบทกวี “เบี้ย”)

ตามถ้อยคำหนึ่งวรรคในเนื้อหาบทกวีของเบี้ยที่ถามไถ่ “เปิดตำราเล่มไหนกันครับท่านพี่?” น่าจะสะท้อนถึงประเด็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี เพราะถึงแม้คณะกรรมการจะบอกว่าเป็นเรื่อง “อนุโลม” แต่ทว่าอีกฝ่ายมองว่า กติกาควรจะเป็นกติกา

มากไปกว่าเรื่องความยาวของจำนวนบทที่มากกว่าข้อกำหนดของกติกา อีกมุมหนึ่งซึ่งถูกชูขึ้นมาคือเรื่องของ “ฉันทลักษณ์” โดยมีเสียงของกวี-นักเขียนชื่อดังอย่าง “ศิริวร แก้วกาญจน์” พยายามปล้ำเค้นประเด็นนี้ถึงกับใช้คำว่า “รัฐประหาร”
“คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าแดง ก่อการรัฐประหารตัวเอง ยึดอำนาจทางปัญญา คว่ำแบบแผน ฉันทลักษณ์กติกาการตัดสิน มอบรางวัลอัปยศให้กับบทกวีที่เขียนผิดกติกา!”
แน่นอนว่า ประเด็นผิดฉันทลักษณ์นี้ ก็ได้รับการชี้แจงผ่านคำแถลงการณ์จากที่ประชุมของคณะกรรมการเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า “บทกวีเรื่องเบี้ยเป็นบทกวีที่ไม่เคร่งฉันทลักษณ์แบบแผน ในทำนองเดียวกับวรรณกรรมมุขปาฐะ และเพลงร้องของคนไทยที่มีมาช้านาน แบบแผนฉันทลักษณ์ซึ่งเป็นข้อกำหนด เป็นเพียง “ฉันทะ” หรือความพอใจของคนกลุ่มเดียว ไม่ใช่ตัวกำหนดคุณค่าของบทกวี” พร้อมทั้งประกาศจุดยืนว่า “บทกวีฉันทลักษณ์และกลอนเปล่าจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน และจะไม่ปล่อยให้แบบแผนใด ๆ มากำหนด กดกัก หรือรัดรึงคุณค่าของวรรณกรรม”
คำแถลงนี้ ในสายตาหลายคน รวมทั้งศิริวร เห็นว่า “นี่คือข้อแก้ตัวที่อำพรางมาในเสื้อคลุมของความสุภาพและเสมือนสำนึกผิด แต่อ่านยังไงผมก็พบว่านี่คือการคว่ำกระดานอย่างน่าละอาย”

พูดกันอย่างถึงที่สุด หอกทางความเห็นที่ใช้ทิ่มแทงกัน จะไม่มีวันเกิดขึ้นและบานปลายอย่างที่เป็น หากความสำคัญของเกณฑ์กติกาถูกยกให้เป็นใหญ่ ดังที่ “นายทิวา” (คณะกรรมการสายสื่อมวลชนซึ่งถอนตัวออกมาในวาระประชุมครั้งที่ 7) ได้ว่าไว้
“กติกามีขึ้น โดยมติของ กก. ก่อนที่จะประกาศต่อที่สาธารณะ เพื่อให้ทุกคนที่ส่งผลงาน เข้าใจ “กติกา” ในการพิจารณาและตัดสิน เพื่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ภายใต้กรอบ “กติกา” ที่กำหนดชัดแจ้ง กรณีเช่นว่านี้ จึงไม่ใช่เรื่อง “เกณฑ์” อันว่าด้วยการพิจารณา “เนื้อหา” หรือ “รูปแบบ” ที่สามารถเป็นไปตาม “รสนิยม” หรือ “โดยอนุโลม” ได้ ไม่เช่นนั้น เราจะกำหนด “กรอบ” และ “กติกา” ไว้อย่างชัดเจนทำไม ถ้าอย่างนั้น ก็ประกาศ “กติกาการประกวด” แบบปลายเปิด โดยไม่ต้องกำหนดชัดแจ้งว่า ต้องเป็น “6-12 บท ก็น่าจะหมดปัญหา ว่าด้วยการ “ล้มกติกา” โดย กก. เสียเอง ขออนุญาตร่วมแสดงความเห็น ต่อประเด็นอันว่าด้วย “หลักการ” เช่นนี้”
3.
จากพานแว่นฟ้า สู่ “พาลแว่นแดง”
กับเรื่องเล่าน่าอัปยศจากคนวงใน

“…เป็นไพร่พาลด่านหน้าค่าเพียงน้อย
จักกี่ร้อยกี่พันไม่ทันกล
เบี้ยยอมพลีชีพเพื่อผู้เหนือกว่า
สัจธรรมธรรมดาอย่าสับสน…”
(บางตอนจากบทกวี “เบี้ย”)

การแตกกลุ่มแตกคอระหว่าง “คนกันเอง” ในแวดวงนักเขียน อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร หากแต่เมื่อมาผสมโรงกับความเห็นต่างในทางการเมือง ก็เป็นที่แน่ชัดว่ามีขั้วทางความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันไปเป็นกลุ่มๆ และสุดท้ายก็ลามมาถึงเวทีการประกวดรางวัลวรรณกรรม โดยมูลฐานความขัดแย้งประการหนึ่งซึ่งเริ่มส่งกลิ่นเหม็นฉุมาแล้วตั้งแต่ช่วงที่คณะกรรมการชุดนี้เริ่มก่อตั้งเป็นตัวเป็นตนเมื่อราวๆ ต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งตอนนั้น หนังสือพิมพ์คมชัดลึกได้รายงานว่า มีคณะกรรมการจำนวน 14 คน ขอถอนตัว โดยหนึ่งในนั้น มีนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย อย่าง “เจน สงสมพันธุ์”

โดยในเนื้อหาข่าว ระบุว่า “จากกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์ กรณีรางวัลวรรณกรรมการเมือง “พานแว่นฟ้า” ครั้งที่ 12 ของ รัฐสภาไทย ว่าเป็น “พานแว่นแดง” อันเนื่องมาจากมี “กรรมการชุดใหม่” จากสายคนเสื้อแดงเข้าไปนั่งเป็นกรรมการหลายคน พร้อมเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างและเงื่อนไขในการประกวดเรื่องสั้นและบทกวีหลายประการ กระทั่งนำไปสู่ “วิวาทะ” ทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์นั้น ล่าสุด ทางกรรมการ จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศ ได้ถอนตัวจากการเป็นกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 12 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
“พานแว่นแดง” จึงกลายเป็นคำพูดที่ถูกนำมาล้อเลียนกันอย่างเอิกเกริกเมื่อพูดถึงรางวัลนี้

อย่างไรก็ดี มองให้พ้นไปจากมิติการเมืองเรื่องสีเสื้อ (หรือสีแว่น?) คนวงในคนหนึ่งได้บอกเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังแห่งการลาออกครั้งนี้ไว้ว่า ต้นตอที่มามันไม่ได้จะเพิ่งเกิด หรืออยู่ๆ ก็รู้สึกว่าอยากลาออก หากแต่มันเริ่มมีประเด็นตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนัดแรกๆ โดยที่มูลเหตุอันดับหนึ่งซึ่งทำให้คณะกรรมการหลายคนรู้สึกถึง “ความไม่ธรรมดา” ก็ตั้งแต่การนำเสนอร่างกติกาฉบับใหม่

“อันที่จริง กติกาเดิมก็มีการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมอยู่ทุกๆ ปีนั่นแหละ” แหล่งข่าววงในผู้ไม่ขอเปิดเผยนาม บอกเล่า “แต่ฉบับที่คุณวาด รวี (หนึ่งในคณะกรรมการผู้เป็นตัวละครสำคัญในสงครามกวีครั้งนี้) ที่เป็นตัวตั้งตัวตีเสนอขึ้นมานั้น ถือเป็นการปรับแบบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือชนิดที่ไม่เหลือเค้าโครงเดิมเลย เขาก็อ้างว่าเพื่อเป็นการสนองตอบรัฐสภาผู้ให้ทุนซึ่งมุ่งหวังยกระดับรางวัลพานแว่นฟ้าให้ก้าวขึ้นสู่ระดับอาเซียน (เหมือนรางวัลซีไรต์) ซึ่งคณะกรรมการทั้งหมดก็เห็นด้วยหากมันดีจริง แต่มันมีบางสิ่งที่หลายคนเห็นว่ามันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

“ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของผู้มีสิทธิ์ที่จะส่งงานเข้าประกวด จากเดิมที่ระบุไว้เพียงแค่ว่า “ประชาชนทั่วไป” แต่ฉบับใหม่ที่ถูกเสนอขึ้นมา ใช้คำว่า “กวี นักเขียน และประชาชนทั่วไป” คณะกรรมการส่วนหนึ่งก็มองว่ามันไม่ใช่แล้ว นี่คุณจะมาแบ่งแยกชนชั้นกันแล้ว ถามว่านักเขียนหรือกวีไม่ใช่ประชาชนทั่วไปหรือ ทำไมต้องไปเขียนให้แบ่งแยกแบบนั้น เหมือนกับว่ากวีหรือนักเขียนเป็นคนละชนชั้นกับประชาชน กรรมการส่วนหนึ่งก็ค้าน แต่สุดท้ายก็มีการยกมือโหวต ซึ่งจำได้ว่ามีอยู่คนหนึ่งแทรกเข้ามาว่า “ถ้าไม่อยากให้มีคำว่ากวี นักเขียน แต่ใช้คำว่าประชาชนทั่วไปอย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นก็เอาคำว่า ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ออกไปด้วยสิ” นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
เปรียบเทียบร่างหลักเกณฑ์ฉบับเดิม กับฉบับใหม่
“อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องเงินรางวัลซึ่งทางคุณวาด รวี เสนอมาว่าชนะเลิศจะได้ 1.2 ล้าน อันนี้ไม่ว่ากัน เพราะเป็นการเข้าใจผิดเพราะเขาคิดว่ามีนวนิยายเข้ามาประกวดด้วย (นัยว่า นวนิยายต้องใช้พลังงานเยอะ ค่าตอบแทนก็ควรสูงตามไปด้วยหากได้รางวัล) มันก็เป็นเรื่องที่ดีที่คิดแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่มีนิยายเข้าประกวด สุดท้าย ก็ทำเป็นร่าง ร่างแรก เงินรางวัล 5 แสน ร่างที่สอง 9 แสน ประเด็นตรงนี้ ก็มีที่ไปเกี่ยวกับทางคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กับคุณวิมล ไทรนิ่มนวล เพราะคุณวิมลอาจจะฟังมาคลาดเคลื่อนแล้วไปพูดว่ารางวัลหนึ่งล้านบาท ส่วนคุณเนาวรัตน์ก็ออกมาพูดว่ามันเยอะเกินไป ท่านก็พูดแบบติดตลกว่าเดี๋ยวจะดูเป็น “เสี่ยวรรณกรรม” กันไปหน่อย”

“แต่ยังไงก็ตาม จากที่ฟังมา สุดท้ายแล้ว ทางรัฐสภาก็มีงบให้ค่อนข้างจำกัด คือลิมิตอยู่ที่แค่สองเท่าจากจำนวนเดิมเท่านั้น แล้วก็มาลงเอยที่จำนวนหนึ่งแสนบาท” แหล่งข่าวนิรนามจากวงในคนเดิม ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ขณะที่คณะกรรมการจากสายสมาคมนักเขียนซึ่งนำโดยเจน สงสมพันธุ์ ยังทำงานอยู่นั้น แทบจะเรียกได้ว่า ต้องอดทนอย่างหนักต่อกรรมการบางท่านซึ่งนอกจากจะไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ใครได้เสนอความคิดเห็นแล้ว ยังมีท่าทีที่เกรี้ยวกราดราวกับว่ากำลังจะฟาดฟันกันให้ดับกันไปข้าง (เหมือนอย่างที่ “เวียง-วชิระ บัวสนธิ์” ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่ง สื่อไว้ในคอมเมนท์ของเขาว่า “ผมเองก็ไม่สบายใจที่เห็นท่าที ประเภทอยากตบตีเหลือเกินของพระเดชพระคุณท่านแต่ละคน เผอิญพอรู้จักนิสัยใจคอ ก็หมดปัญญาแหละครับที่จะไปชี้แนะบอกกล่าว ทั้งที่บางเรื่อง ผมเองยังไม่เห็นว่ามันจำเป็นต้องยั่วอวัยวะใช้เดินกันขนาดนั้น) และที่สำคัญ บางครั้ง คิดจะจัดประชุมตอนไหนก็จัดโดยไม่แจ้งกล่าวล่วงหน้าพอให้ได้เตรียมเวลา บรรยากาศอันน่าอึดอัดจนแน่นอกกับการที่พี่น้องต้องมาบาดร้าวกันเองแบบนี้แหละ จึงทำให้คณะกรรมการจากสมาคมนักเขียนตัดสินใจยกทีมลาออกกันทั้งคณะ รวมไปจนถึงกวีศรีรัตนโกสินทร์ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ที่มาจากสายการแต่งตั้งของรัฐสภา ก็ขอลาออกด้วยเช่นกัน

มีเรื่องเล่าเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยในวันที่คณะกรรมการสายสมาคมนักเขียนประกาศถอนตัว ขณะที่อารมณ์ของหลายขุ่นมัว ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันว่าปัญญาชนจะทำกันก็เกิดขึ้น ดังที่ถูกเล่าไว้ในสเตตัสบนเฟซบุ๊กของ วิมล ไทรนิ่มนวล” ว่า “ขณะที่คณะกรรมการจากสมาคมนักเขียนเดินออกจากที่ประชุมของคณะกรรมการพานแว่นฟ้า มีคนบอกผมว่า มีกรรมการในแก๊งแดงคนหนึ่งตะโกนด่าไล่หลังว่า “ไปเลย! ไอ้พวกเหี้ย! ไอ้พวกไร้เกียรติ!”
4.
บกพร่องโดยสุจริต
ผิดแต่งาม เป็นศิลปะ อนุโลมได้ ให้ผ่าน?!!

“…ยังเหลือแต่ผู้รู้อยู่ภายนอก
ภายในยังติดคอกหลอกลูกหลาน
หลอกกระทั่งความคิดจิตวิญญาณ
ว่าตนอยู่นอกกระดานการเมืองทราม…”
(บางตอนจากบทกวี “เบี้ย”)

ถ้าหากตีความตามเนื้อหาบทกวีตามที่ “วัฒน์ วรรลยางกูล” ประธานกรรมการประเภทบทกวีกล่าวสดุดีไว้อย่างเลิศลอยว่า “เขาพูดแบบฟันธงว่า อย่าคิดว่าตัวเองอยู่นอกกระดาน 'คุณไม่ใช่เบี้ยอยู่นอกกระดาน จำใส่หัวกบาลเอาไว้บ้าง' แรงดีครับ เหมือนมวยไฟเตอร์ ได้เลือดได้เนื้อ” ทั้งนี้ โดยไม่พูดถึงกฎกติกาแม้แต่คำเดียว ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเล่นเกมการเมืองนอกกระดาน แท้ที่จริงก็คือการทำลายกรอบกติกาที่พึงมีพึงเป็น เช่นเดียวกัน การออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของกวีหนุ่ม “ศิริวร แก้วกาญจน์” ซึ่งออกตัวว่าตนเองไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับรางวัลนี้ หากแต่เขาพยายามที่จะเตือนสติผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้นเอง

“นักการเมืองเสื้อแดง พยายามตะแบงแก้กฎหมาย (บางข้อบางมาตรา) เพื่อสังเวยสังวาสกับตรรกะความคิดบิดๆ เบี้ยวๆ ของกลุ่มตน เพื่อผลประโยชน์พวกพ้อง เพื่อสนองโภชน์ผลตนเอง ฉีกทิ้งทุกกฎกติกาของการอยู่ร่วม ฉีกประชาชนพลเมืองออกเป็นเสี้ยวส่วน ซึ่งพร้อมจะบาดเฉือนกันและกันอย่างมืดบอด อำพรางความบัดซบทั้งหลายไว้ภายใต้หน้ากากของประชาธิปไตยและเหล่าวาทกรรมชุดต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศชาติ ไม่ต่างจากกรรมการ-พาลเสื้อแดงแห่งรัฐสภาไทย- ที่ฉีกทิ้งกฎกติกาการประกวดชุดที่ตนเองกำลังทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนการคัดสรรงานวรรณกรรมการเมือง เพื่อส่งเสริมสร้างสรรค์และปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย แล้วคัดงานที่ผิดกติกาการประกวดให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม โดยตอบโต้เสียงทักท้วงด้วยท่าทีวางอำนาจแบบนักอำนาจนิยม หรือพวกเผด็จการที่กลุ่มตนเองชิงชังรังเกียจ
“ทั้งหมดนั้นมันได้เหยียบย่ำทำลายปรัชญาของรางวัล และทำลายสิ่งที่พวกเขาเคยยึดถือ เชื่อมั่นด้วยมือและเท้าของตนเองอย่างโจ่งแจ้งที่สุด บัดซบยิ่งกว่านักการเมืองกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น”
คำสั่งสภาผู้แทนราษฎร
นั่นก็ดูสอดคล้องต้องกันเป็นอย่างยิ่งกับข้อคิดเห็นของวิมล ไทรนิ่มนวล ที่หล่นทัศนะไว้ในเฟซบุ๊กว่า “คณะกรรมการพานแว่นฟ้า หรือเรียกให้เต็มยศถาบรรดาศักดิ์ว่า “คณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา” ให้เหตุผลว่าที่ต้องละเมิดกฎ (กติกาการประกวด) เพราะ 1.มีงานที่ดีอยู่ 3 ชิ้น ชิ้นที่ดีที่สุดนั้นแม้ผิดกฎ-กติกา ก็หักใจคัดออกไม่ได้ 2.จึงต้องโหวตกันในคณะกรรมการ เพื่อให้งานชิ้นที่ดีที่สุดแต่ผิดกฎ-กติกาได้รับรางวัล ที่ต้องโหวต โดยไม่ยอมแก้กฎ-กติกา และกระบวนการต่างๆ แล้วประกาศให้เป็นสาธารณะเสียก่อน ก็เพราะมันเนิ่นช้า ผลคือ…เสียงโหวตส่วนใหญ่ยินดีให้ข้ามกฎ-กติกาทิ้งได้ แล้วถือเสียงโหวตส่วนใหญ่ของคณะกรรมการเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมเหนือกฎ-กติกาที่กำลังใช้อยู่

“ตัวอย่างและคำถามของผมก็คือ ในรัฐสภา ถ้าพรรคเพื่อไทยต้องการแก้ไขรัฐธรรมปัจจุบัน แล้วอ้างว่า…”ถ้าต้องมีระเบียบวาระการประชุม มีการถกแถลงกันยืดเยื้อยาวนาน เสียเวลามากไป เอางี้ดีกว่า โหวตกันเลย ถ้าเสียงข้างมากโหวตไม่เอารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ฉบับปัจจุบัน ก็เป็นอันว่าเราสามารถเอารัฐธรรมนูญใหม่ของเรามาใช้ได้เลย” เหตุผลของคณะกรรมการพานแว่นฟ้าก็เป็นอย่างเดียวกัน ถามว่าทำได้ไหม ถ้าตอบว่า “ทำได้” เพราะเป็นเสียงโหวตส่วนใหญ่ ผมก็ต้องบอกว่า บ้านนี้เมืองนี้ก็ต้องฉิบหายด้วยเสียงส่วนใหญ่ ที่ไม่มีหลักการ ไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีเหตุผล ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมใดๆ (ตามระบอบประชาธิปไตยอย่างที่พวกเขากล่าวอ้างกัน) อยากทำอะไร ต้องการอะไร ก็ใช้เสียงส่วนใหญ่เข้า “จัดการ” อย่างเดียว นี่คือการทำ “รัฐประหาร-ยึดอำนาจ” เล็กๆ ในพื้นที่หรือวงการวรรณกรรมการเมือง โดยกลุ่มคนที่ประกาศตนว่าต่อต้านเผด็จการ-รัฐประหาร! การยึดอำนาจ-ทำรัฐประหารก็มาจาก “เหตุผลหลัก” เดียวกัน คือ “ชักช้าไม่ทันใจ” ฝ่ายซ้ายก็ด้วย แต่เรียกว่าการปฏิวัติ เหตุที่คณะกรรมการมองไม่เห็นประเด็นนี้ก็เพราะจะสนองความต้องการของตนเองให้ได้ มันจึงสะท้อน “สำนึกเผด็จการ” ของพวกเขาออกมาอย่างโจ่งแจ้ง”

ขณะที่คอลัมนิสต์ อย่าง “บัณรส บัวคลี่” ก็ออกมาแสดงความเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องยึดตามกฎกติกา เพราะรางวัลนี้มีไว้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย และเป็นรางวัลของสถาบันนิติบัญญัติเสาหลักอำนาจของประเทศ
“แต่ถูกกระบวนการที่ไม่เข้าท่าทั้งหลายทั้งปวงรวมถึงการแถข่าวในวันนี้ การไม่ยอมมีใครมารับผิดชอบอีกต่างหากทำลายจนเป็นด้านตรงข้ามกับส่งเสริมเสียแล้ว
“รางวัลวรรณกรรมที่เขาตั้งขึ้นมานั้นเพื่อใช้อำนาจทางศิลปวัฒนธรรมช่วยหนุนเสริมให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง มันจึงไม่ใช่มีแค่มีคนส่งประกวด มีการแจกรางวัลแล้วจบ! แต่หมายถึงกระบวนการที่รางวัลนี้มีปฏิสัมพันธ์ไปยังสังคมโดยรวมตั้งแต่แรกเริ่ม กระบวนการแบบไหนล่ะที่สร้างเสริมประชาธิปไตย? ก็คือกระบวนการแบบเปิด แบบมีส่วนร่วม แบบโปร่งใส แบบที่ก่อให้เกิดผลผลิตที่บันดาลใจ แบบที่ก่อให้เกิดความยินดีพร้อมไม่ถูกติเตียนเรื่องธรรมาภิบาลไปจนถึงวินิจฉัยที่เรียกเสียงคัดค้านมากกว่าชื่นชม”
5.
‘โลกแบบกวี’
ชีวิตเสรีที่อยู่เหนือกฎ?

“…ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์กันทั้งหมด
นั่นคือกฎธรรมชาติมิอาจห้าม
ขยับปีกผีเสื้อเชื้อไฟลาม
ใครยิ้มหยามบนภูดูเดือนดาว…”
(บางตอนจากบทกวี “เบี้ย”)

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งทำให้กวีน้อยใหญ่ต่างรู้สึกคลับคล้ายดูแคลนศักดิ์ศรี ก็เพราะถ้อยคำชุดหนึ่งในคำแถลงการณ์ซึ่งทำให้ความเป็นกวี “ประหนึ่งว่าสามารถ” อยู่เหนือกรอบกติกาหรือไม่ขึ้นตรงต่ออำนาจใดทั้งสิ้น
“กรรมการชุดนี้มองโลกแบบกวี ไม่ใช่ครูภาษาไทย แต่มองเนื้อหาเป็นหลัก” ทันทีที่คำนี้ถูกกระจายออกไป หนึ่งในตัวละครที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อแง่มุมนี้ คือ “พิเชฐ แสงทอง” นักวิชาการ นักวิจารณ์วรรณกรรม และกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “เป็นเหตุผลในการแถลงถึงรางวัลที่มีปัญหา ที่แถและแย่มากที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมา”
อีกหนึ่งช็อตเด็ดจาก วาด รวี
เช่นเดียวกันกับกวีซีไรต์ “ไพวรินทร์ ขาวงาม” ที่ก็กระโดดลงมาร่วมกับประเด็นนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า ถ้านี่เป็นส่วนหนึ่งของคำชี้แจงจริง ก็มีประเด็นก้าวหน้าประชาธิปไตยใหม่ จากเถียงกันมานานเรื่อง 'รูปแบบ' และ 'เนื้อหา' ได้พัฒนามาเถียงกันเรื่อง มองโลก 'แบบกวี' และ 'แบบครูภาษาไทย'
“ในฐานะคนชอบภาษาไทย นับถือครูภาษาไทย รักบทกวีร้อยกรองไทย เป็นคนชอบมองโลกแบบกวีไม่น้อยผู้หนึ่ง รู้สึกว่าถ้างั้น ต่อไปปวงกวี ก็คงไม่ต้องสนใจหลักภาษาไทย ไม่ต้องมีแบบแผนพื้นฐาน หรือกฎกติกาอะไร อยากบ่นอยากด่าอะไร ก็ร่ายรำไปตามอารมณ์ความคิด เอาแต่เนื้อหาเป็นหลัก ไม่ต้องมีวรรณศิลป์ ไม่ต้องมีรูปแบบฉันทลักษณ์อะไร ไม่ต้องมาเทียบเคียงประกวดกับใคร ก้าวหน้าแล้วปล่อยให้ครูภาษาไทยเชย ตกสมัย ตายห่าไป”

พ้นไปจากนี้ กวีซีไรต์จากผลงานม้าก้านกล้วย ยังแสดงความรู้สึกอดสูใจต่อไปอีกว่า “โอ-เรื่องความคิดแย่ๆ แหลๆ แถๆ ตะแบงๆ นึกว่าจะมีแต่พวกนักการเมืองผู้ดื้อรั้นดันทุรังจะเอาอะไรสักอย่างให้ได้ หรือจะเอาชนะให้ได้ แบบที่เห็นๆ ในสภา แต่ยังมีอยู่แม้ในหมู่ปัญญาชนผู้อ้างประชาธิปไตยเสรีก้าวหน้า!”

6.
ทางออกยังมีอยู่ไหม
เมื่อประชาธิปไตยไร้กติกา

“…บนครรลองประชาธิปไตย
ล้มแล้วลุกเดินใหม่ไม่คว่ำกระดาน
บนครรลองประชาธิปไตย
ต้องมิยอมให้ใคร คว่ำกระดาน…”
(บางตอนจากบทกวี “เบี้ย”)

ถ้าลองย้อนกลับไปอ่านหลักการของรางวัล วัตถุประสงค์ข้อแรกที่ระบุไว้ก็คือ “เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (ที่กรรมการบางคนเสนอให้ตัดคำ “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ออกไป) ก็น่าตั้งคำถามว่า ในเมื่อหลักการเป็นเช่นนี้แล้ว คำว่า “ประชาธิปไตย” ยังมีความหมายเพียงไหนในสายตา “พานแว่นฟ้า”

อย่างไรก็ดี ขณะที่สงครามทางความคิดดำเนินไปอย่างเข้มข้น ฟังคำแต่ละคน ความอดทนก็ทะลักจุดแตก อย่างที่เห็นว่ามีการสาดวาทกรรมใส่ฝ่ายตรงข้ามอย่างกราดเกรี้ยวราวกับว่าชาตินี้ จะ “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” กันอีกต่อไปแล้ว แต่ก็มีหลายเสียงที่พยายามนำเสนอ “ทางออก” ที่ควรจะเป็น อย่างเช่นนักวิชาการอย่าง “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ที่เป็นคนแรกๆ ซึ่งเสนอให้ผลการตัดสินเป็นโมฆะ
“ผมว่า โมฆะ หรือยกเลิกการตัดสินไปเถอะ แล้วลาออกแสดงความรับผิดชอบอะไรกันไป มองในระยะยาว มองในภาพรวม นี่เป็นทางออกที่ถูกที่สุดนะ (ในแง่ “การเมือง” ด้วย ถ้าจะคิดในแง่นั้น) งานนี้ ผมว่า กรรมการ พลาดจริงๆ และ ผมมองไม่เห็นทางออกทางอื่น นอกจาก “โมฆะ” การตัดสินไป ไม่เกี่ยวกับคุณภาพบทกวี แต่การคงไว้ซึ่งการตัดสินแบบนี้ มันทำให้การประกวด กลายเป็นเรื่อง “ตลก” ไป เสีย credibility ของตัวรางวัลไป ที่สำคัญ มันไม่ “แฟร์” ต่อผู้เข้าประกวดคนอื่นๆ”
คำสั่งรัฐสภาให้ยกเลิกคำสั่งก่อนหน้า อันหมายถึงการหมดวาระของคณะกรรมการที่จะมาถึงในปลายเดือนกันยายนของทุกปี

อย่างไรก็ตาม หลังจากรอคอยการออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างตรงไปตรงมา แทนที่จะเป็นคำแถลงการณ์ซึ่งถึงอย่างไรก็หาเหตุผลมาสร้างความชอบธรรมจนได้ สุดท้าย สิ่งที่น่าจะถือได้ว่าเป็นบทสรุปอันถึงที่สุดของงานนี้ น่าจะเป็นเนื้อความในจดหมายลาออกของ “วาด รวี” (ทั้งที่เหลืออีกไม่กี่วันก็จะหมดวาระ) ซึ่งแสดงเจตจำนงที่แม่นมั่นว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น

“…ผมไม่แน่ใจว่าตนเองทำถูกหรือไม่ แต่หลังจากนอนคิดและถามใจตัวเองมาจนแน่ใจแล้ว ให้ย้อนเวลากลับไปได้อีกครั้ง ผมก็เลือกที่จะอนุโลมอยู่ดี เพราะการบังคับใช้เกณฑ์นี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันแย่ต่อกวีนิพนธ์โดยภาพรวมมากกว่าการยอมอนุโลมเกณฑ์ แม้จะรู้ดีและยืนยันกับที่ประชุมเองว่า เบี้ยไม่ควรได้รับรางวัลเพราะผิดเกณฑ์ แต่เมื่อต้องยกมือมือผมก็ยกอนุโลมอยู่ดี คือผมไม่สามารถฝืนใจตัวเองบังคับใช้เกณฑ์บังคับฉันทลักษณ์ 6-12 บท ในขณะที่กลอนเปล่า 2 หน้าได้ มันไม่เพียงไม่มีเหตุผล แต่มันยังเป็นการทำให้กวีนิพนธ์เป็นเรื่องหลอกลวง การสร้างงานกวีจะต้องถูกกำหนดด้วยแบบแผนแบบเด็กที่ยังไม่โต อีกทั้งยังแบ่งแยกกลอนเปล่ากับฉันทลักษณ์ในลักษณะกีดกัน ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้สึกว่าการกำหนดเกณฑ์แบบนี้มันคือการทำลายสำนึกต่อกวีนิพนธ์ของผมและต่อความเป็นวรรณกรรมทั้งหมดให้สิ้นศักดิ์ศรีหมดความเคารพในตัวเอง กลายเป็นผู้ใช้ทักษะเขียนตามแบบฝึกหัด

“ดังนั้น ผมจึงยืนยันว่า ให้กลับไปตัดสินอีกร้อยครั้ง พันครั้ง ผมก็ยอมทำ “ผิด” คือ “อนุโลม” ข้อกำหนดนี้ เพื่อจะไม่ทำผิด “ยิ่งกว่า” คือยอมปล่อยให้ข้อกำหนดนี้ข่มขืนจิตสำนึกต่องานวรรณกรรมของตนและต่อเพื่อนร่วมอาชีพด้วยการยอมทำตามมัน
“ผมขอแสดงความรับผิดชอบต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับผู้ส่งประกวดงานบทกวีทุกคน ไม่ใช่ต่อสมาคมนักเขียนและเหล่าบุคคลปลิ้นปล้อนกลิ้งกลอกหอกหักเหล่านั้น

“ผมขอลาออกจากคณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา และจะพิจารณาตัวเอง ด้วยการไม่เป็นกรรมการตัดสินวรรณกรรมใดๆ อีกตลอดชั่วชีวิตนี้ และขอยืนยันว่า ไม่ว่าท่านจะเรียกร้องอย่างไร ก็ไม่มีวันทำให้ผมยอมเปลี่ยนการตัดสินใจให้เบี้ยเป็นโมฆะเพราะเกณฑ์อัปรีย์นี้ได้เป็นอันขาด”

คำประกาศของวาด รวี ที่ส่งออกมาผ่านคำแถลงลาออกนี้ ก่อนจะทำการฆาตกรรมหน้าเพจเฟซบุ๊กของตนเองในเวลาต่อมา ดูจะเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องราวทั้งหมด กระทั่งจุดยืนต่อเนื้อหาในบทกวีที่เขามีส่วนร่วมในการตัดสิน เพราะ…

“…บนครรลองประชาธิปไตย
ต้องมิยอมให้ใคร คว่ำกระดาน…”!?!

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE