ค้นคำตอบ..ตัดกรรม คืออะไร? เลวแค่ไหนก็ตัดได้จริงหรือ?


จากกระแสข่าวการบินไปทำพิธีตัดกรรมของอดีตนักการเมืองชื่อดัง จนเป็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า “พิธีตัดกรรม” เป็นพิธีกรรมทางศาสนาพุทธจริงหรือ? แล้วกระทำกันขึ้นมาเพื่ออะไร? วันนี้เรามีคำตอบเกี่ยวกับพิธีตัดกรรม-ตัดเวร สะเดาะเคราะห์ของชาวพม่ามาฝาก

กล่าวกันว่า พม่าเป็นเมืองพุทธ ประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ของคนพม่านับถือพุทธและเป็นพุทธที่เคร่งครัดเสียด้วย ชาวพม่าส่วนใหญ่ได้แสดงรูปแบบความเป็นพุทธศาสนิกชนไว้อย่างชัดเจน แม้จะได้ชื่อว่าเป็น “แผ่นดินแห่งพุทธศาสนา” แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาหรือเป้าประสงค์ของการปฏิบัติพุทธบูชาทั้งหลายของชาวพุทธพม่าแล้ว กลับพบว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์โดยชาวพม่าด้วยกันเองอยู่บ่อยว่าไม่เหมาะสมกับวิถีพุทธที่ถูกต้อง นั่นคือยังมีชาวพุทธพม่าส่วนใหญ่ที่ยังมีแนวคิดผิดๆ เกี่ยวกับคำสอนของพุทธศาสนาอยู่มาก

โดยคติความเชื่อ “พิธีตัดกรรม” หรือ “การแก้กรรม” คือการชำระล้างกรรมเก่าๆ ที่แต่ละคนเคยทำไว้ในชาติก่อนๆ เพื่อชาตินี้จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น มีหน้าที่การงานที่ดีขึ้น ความรักราบรื่นและอื่นๆ เพราะจะไม่มีกรรมเก่ามารบกวนอีกต่อไป

“พิธีตัดกรรม” เป็นประเพณีนิยมของชาวมอญรามัญ ชาวพม่า เมื่อครั้งอดีตกาลและได้สืบทอดกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน ชาวพม่าเชื่อว่ายังมีสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือกว่านี้อีก สิ่งนั้นคือ “อดีตกรรม” เชื่อในเรื่องอดีตกรรมที่ตายตัว และโชคชะตาที่อาจปรับเปลี่ยนได้ด้วยการสวดมนต์ และการประกอบพิธีกรรม จึงต้องมีบทสวดต่างๆ ไว้เพื่อป้องกันภยันตราย ประกอบพิธีกรรมขึ้นมาเพื่อการสะเดาะเคราะห์กับองค์พระเจดีย์ และพระพุทธรูป สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เหมาะกับบุคคลนั้นๆ อย่างเช่นที่ มหาเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก โดยเชื่อกันว่าการร่วมบูชาแม่ยักษ์จะสามารถช่วยในการตัดกรรมหรือศัตรูได้ เป็นต้น

การสะเดาะเคราะห์ หรือ “ยะดะยา-เฉ่” เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการขจัดความกลัวอันเกิดขึ้นโดยทั่วไปกับมนุษย์ และเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต มักมีความเกี่ยวเนื่องกับโชคชะตา การดูดวงชะตา ซึ่งชาวพม่าส่วนมากยังมักต้องพึ่งพาคำทำนายของหมอดูดวงชะตาอยู่เป็นประจำ พร้อมกับคำแนะนำสำหรับการสะเดาะเคราะห์ของแต่ละคนด้วย

วิธีการสะเดาะเคราะห์มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ปล่อยนกปล่อยปลา เลี้ยงอาหารสัตว์ มอบสิ่งของให้ผู้อื่น กินผลไม้บางชนิด ทิ้งขยะให้พ้นจากบ้าน และถวายฉัตรต่อพระเจดีย์ ในบรรดาคำแนะนำเพื่อการสะเดาะเคราะห์นั้น การถวายฉัตรต่อองค์พระเจดีย์ ดูจะเป็นข้อปฏิบัติที่กระทำกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากพบกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ก็ตาม ชาวพม่ามักถือว่าการสะเดาะเคราะห์ด้วยวิธีดังกล่าวนั้นเป็นบุญกิริยาที่ประเสริฐสุด เชื่อว่าหากมีวาสนาได้ถวายพระฉัตรแด่องค์พระเจดีย์ ชีวิตก็จะมีแต่ความร่มเย็นและประสบแต่ความสำเร็จ

แต่ไม่ว่าจะเป็นชาวพม่าหรือชาวไทยที่ยังมีความเชื่อเรื่องบุญ-กรรม อยู่ เราก็มักจะเห็นพิธีกรรมความเชื่อเหล่านี้หลงเหลืออยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจะเรียกพิธีกรรมเหล่านี้แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น พิธีสวดถอนวิบากกรรม สวดแก่บ่วงกรรม สวดปลดกรรม สวดบังสุกุลเป็น-บังสุกุลตาย

ส่วนความหมายของ “การตัดเวร-ตัดกรรม” ในความหมายของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย กล่าวไว้ว่า

“พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ใครทำกรรมใดไว้ ได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปทำพิธีตัดกรรมก็เป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า กรรมใดใครก่อลงไปแล้ว ใจเป็นผู้จงใจ คือ เจตนาที่ทำลงไป พอทำลงไปแล้วกรรมอันเป็นบาป ต่อเมื่อภายหลัง เรามานึกว่าเราไม่ต้องการผลของบาป มันก็หลีกเลี่ยงปฏิเสธไม่ได้ เพราะใจเป็นผู้สั่งให้กาย วาจา ทำลงไป พูดลงไป ใจตัวนี้ต้องรับผิดชอบโดยความเป็นธรรม โดยหลักของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การที่เราจะไปทำพิธีตัดกรรม นี่หมายถึง ตัดผลของบาป มันตัดไม่ได้ อย่าเข้าใจผิด ถ้าหากพระองค์ใดแนะนำว่า ทำบาปแล้วตัดกรรมได้ อย่าไปเชื่อ…”

ขณะที่หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน ก็กล่าวถึงเรื่องของการตัดกรรมไว้เช่นกัน

“อย่าเข้าใจว่า มาทำบุญที่นี่จะตัดบาปตัดกรรมตัดเวรได้นะ ตัดไม่ได้ เว้นแต่กรรมที่เบาที่อโหสิกรรมตัดได้ พวกนั้นตัดได้ ก็พระพุทธเจ้ายังจะตัดไม่ได้ พระมหาโมคคัลลาน์มีฤทธิ์สุดขีดไม่มีองค์จะมาเทียมถึง ก็ตัดไม่ได้”

ฟังอย่างนี้แล้ว ยังมีใครหวังพึ่งการตัดกรรมอยู่อีกไหม?

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE