เป็นกะเทยไทย มันเหนื่อยยย…กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน


by : ภารดี อดิโรจนานนท์

 
 
“กะเทยมักถูกตีกรอบว่าต้องมีชีวิตที่สนุกสนานไป ต้องสวย แต่ความเป็นผู้ชายตัวใหญ่อยู่แล้ว ต้องใส่สเตย์รัดๆ หนวดก็ขึ้นเยอะมาก โกนแปดโมงเช้า เก้าโมงขึ้นอีกแล้ว กูอยากเป็นแล้วทำไมกูเหนื่อยจัง เลยตัดผมสั้น ไว้หนวดเครา ใส่เสื้อยืด เกงขาสั้น ถามตัวเองว่ายังเป็นกะเทยอยู่หรือป่าว เอ๊ะกูก็เป็นกะเทยนิ ความรู้สึกไม่ได้ต่างจากตอนที่แต่งตัวสวย เป็นกะเทยมันอยู่ที่ตัวเอง อยู่ข้างใน”
 
ใต้กระโปรงสีชมพูแปร๊ดสั้นจู๋ ได้ซุกซ่อนความลับบางอย่างไว้ภายใน
หล่อนเดินนวยนาดแต่แววตามาดนิ่ง นั่งลงที่โซฟาแดงเพลิง เบื้องหน้า สลับขาไขว้เผยให้เห็นเงื่อนงำบางอย่าง หล่อนมีคำประกาศจะกล่าวแก่มวลมนุษย์ทุกผู้
ไม่ได้ขอให้มารัก
คำกล่าวนั้นไม่ใช่เพียงเจตนารมณ์ของชายไม่จริง หญิงไม่แท้ผู้นี้ แต่เป็นชื่อหนังเรื่องใหม่ของหล่อนเอง

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หรือ เจ๊กอล์ฟ ของบรรดาผู้กำกับหน้าใหม่หน้าเก่าที่รู้จักกันดีในนามผู้นำหนังอินดี้นอกกระแสที่สร้างชื่อจากการคิด กำกับ และเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในหนังแทบทุกเรื่องของตัวเอง คอหนังอินดี้รู้จักตัวตนของเจ็กอล์ฟในเรื่องแรกๆ ด้วยการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกรงและถ่ายในฉากที่มองเห็นพานราชดำเนินอย่างชัดเจน ท่ามกลางแดดร้อนระอุหล่อนกล่าวว่า “I’m fine.สบายดีค่ะ” อันกล่าวถึงภาวะพื้นที่ทางเพศและการเมืองที่ย่ำแย่ของเมืองไทยอันเป็นที่รักของเรา
ดังมว๊ากกก โดยเฉพาะหนังที่โดนแบนเรื่องล่าสุด “Insects in the Backyard” ที่มีเรื่องพิพาทกับกองเซ็นเซอร์จนโดนแบนเพราะไม่ผ่านหลักเกณฑ์ด้านศีลธรรม แต่หลายเรื่องก็ได้รับความชื่นชมอย่างสูงจากการนำไปฉายเมืองนอก นำไปสู่การวิพากษ์เกี่ยวกับการจัดเรทหนังและพื้นที่สื่อที่โดนจำกัดสิทธิ์จนหายใจกันแทบไม่ออก

ถึงคราวแล้วที่เจ้าแม่ต้องออกโรงมาจัดการด้วยตัวเอง เพราะตอนนี้หล่อนได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนใหม่ มาฟังความในใจของหล่อนกันเถิด หากใครทนฟังไม่ได้ ก็ขอให้ปิดมันซะ เพราะหลายคำของหล่อนช่างแสบสันต์
เอาล่ะ เหล่ามนุษย์ทั้งหลายจะตั้งใจสลับฟังคำประกาศของหล่อน บัดเดี๋ยวนี้

ตกลงหนังเรื่องที่โดนแบน คนไทยจะมีโอกาสได้ดูไหม ?
 
หนังเรื่องInsects in the Backyard ไม่มีช่องทางที่จะได้ดู ถ้าจะดูต้องช่วยกันผลักดัน เพราะมันสิทธิของมนุษย์คนนึงคือถ้าจะบอกว่าการที่หนังมันโดนแบนเนี่ย ถ้าคนในสังคมหันกลับมามองนิดนึง จะเห็นว่ามันไม่ใช่กอล์ฟคนเดียวที่ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพในการทำหนังสักเรื่องนึง การนำเสนอภาพและความคิดของเราโดยทำอยู่ในกรอบเรท ฉ20แสดงว่าคนต้องโตบรรลุนิติภาวะถึงจะดูได้ ถ้าหันกลับมามองจริงๆเราจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า เฮ้ย ขนาดหนังเรื่องนึงเราโตแล้วแต่ยังดูไม่ได้เลย เราโดนริดรอนสิทธิเสรีภาพอะไรบ้าง
แล้วที่เหลือเราโดนอะไรในสังคม ประเทศนี้ที่บอกเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้ถูกปกครอง แต่ถูกใส่กรง ดูหนังก็ได้ I'm fine สบายดีค่ะ ทุกคนจะบอกว่าสบายดี เนี่ยแหละสบายดีแล้วโดที่มีแม่กุญแจ ลูกกุญแจคล้องอยู่ด้วย เราต้องการให้ผู้กำกับทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกสะท้อนสิ่งที่เราเห็นอยู่ในบ้านของเราได้

ตำแหน่งนายกจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยังไงกับหนังไทย ?

ยังไม่ได้ทำอะไรในตำแหน่ง ตามกรอบ พอได้ตำแหน่งมาต้องเลือกคณะกรรมการบริหารสมาคม มีวาระ 2 ปี คือตอนนี้พวกที่ผ่านไม่ว่าจะเป็นพี่อุ๋ย (นนทรีย์ นิมิบุตร ) พี่ปรัช (ปรัชญา ปิ่นแก้ว) พี่สิน (ยงยุทธ ทองกองทุน ) ได้สร้างพื้นฐานมาคนละแบบสองแบบ อย่างรุ่นที่แล้ว ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์ ) ก็ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่จริงๆ ตั้งแต่รุ่นที่แล้วกอล์ฟก็เป็นรองนายก ช่วยย้งทำงานมาตลอด
ถ้าสำหรับตัวเองสิ่งที่เป็นนโยบายน่าจะพยายามผลักดัน เราอยากได้ศักยภาพของผู้กำกับหลายคน จะเห็นว่ามีผู้กำกับทำหนังเรื่องสองเรื่องแล้วล้มหายตายจากไป เราเชื่อว่าผู้กำกับหลายคนมีความสามารถ แต่ติดกรอบการทำงานในระบบของเงินทุน ระบบอุตสาหกรรม มันจะมีกรอบของหนังบางอย่างว่าต้องทำแบบนี้ อาจจะไม่ได้ดึงศักยภาพในการทำงานของผู้กำกับแต่ละคนมาได้มากที่สุด เลยคิดว่าต่อไปนี้เราน่าจะพัฒนาขีดความสามารถของผู้กำกับมากขึ้น อาจมีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ให้กับผู้กำกับในสมาคม และผลักดันการทำงานที่มีอิสระทางความคิดมากขึ้น

 
หมายความว่ายังไง อิสระทางความคิด ?

คือตัวเราเนี่ยเรามาจากการทำงานที่เราอยากทำ อยากบอกกับสังคม เราชัดเจนเพราะว่าพอมาทำงานตรงนี้ทุกคนจะรู้แล้วว่าเราทำงานแบบไหนมา เพราะฉะนั้นเราคิดว่าอยากให้ผู้กำกับได้มีงานที่เป็นอิสระเพื่อจะบอกสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำแล้วก็พยายามหาช่องทางเข้าโรงให้ได้ เพื่อจะโชว์ โอเคมันอาจจะไม่ใช่หนังตลาดจ๋า แต่ถ้ามันได้มีพื้นที่แสดงความคิดของผู้กำกับ แล้วเผอิญว่าพอเราผลักดันเข้าโรง แล้วมันมีคนดู แล้วคนยอมรับสิ่งเหล่านั้นว่า เฮ้ยมันดี นายทุนจะได้หันมามองว่า น่าจะเอาตัวตนสิ่งที่ผู้กำกับอยากทำไปคุยกับเค้าได้บ้าง ไม่ใช่ว่านายทุนอยากได้อะไรก็บอกเขาไปว่าอยากได้อย่างนั้นมันอาจจะตีกรอบหนังไทยมากเกิน ทำให้มีไม่กี่แบบไม่กี่แนว แล้วคนไทยจะคิดว่าหนังมีอยู่แค่นี้ อยากจะผลักดันตรงนี้ให้มีความหลากหลายทางด้านเนื้อหาของงานโดยพัฒนาศักยภาพของผู้กำกับ ทำให้นายทุนเห็นว่าสามารถทำได้อีกหลายแนวถ้ามันขายได้ คนดูก็จะมีพื้นที่และมีทางเลือกสำหรับหนังหลายๆ แนวมากขึ้น

นายทุนมีผลมากไหม กับหนังที่ออกมา ?

กรอบความคิดของนายทุน จริงๆ มันก็ไม่ได้ต่างจากฮอลลีวู้ดนะ แต่ฮอลลิวู้ดมันใหญ่กว่าเรามาก เพราะเขามีกรอบหนังที่ว่าการลงทุนแล้วต้องได้เงิน เพราะฉะนั้นถ้าเขาลงทุนทำในสิ่งที่เขาคิดว่าจะไม่ได้เงินเขาจะทำทำไม จะเสี่ยงทำไม เพราะการลงทุนคือความเสี่ยง ถ้าเกิดเสนอหนังในสิ่งที่ผู้กำกับคิดว่าตัวเองชอบ แต่นายทุนอาจพิจารณาแล้วรู้สึกว่ามันไม่ขาย
กระบวนการความสำเร็จของหนัง เขาจะคิดว่าหนังผี หนังตลก หนังโรแมนติก ตามตลาดเรื่องไหนประสบความสำเร็จ ก็จะคิดว่าแบบนั้นประสบความสำเร็จ ทำให้พยายามทำตามกันตลอดเวลา อย่างที่เราเห็นกันในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เดี๋ยวนี้ เทคโนโลยีมันเร็วมาก สามารถทำหนังได้ในแนวทางที่ถูกลงสามารถทำได้เอง ไม่ได้คาดหวังโปรดักชั้นแบบใหญ่โต ใช้เงินเป็นสิบล้าน แต่ถ้าเราคาดหวังเสนอความคิดสิ่งที่ลำบากทำ ทำออกมาเล็กๆ ทางสมาคมก็ผลักดันให้เข้าโรงได้ ได้ มันทำให้ทั้งคนดูและนายทุนหันมามอง ต่อไปก็จะพยายามสร้างพื้นที่และโอกาสให้กับคนทำหนังมากขึ้น ตอนนี้ยังต้องหาทั้งความรู้และวิธีการ ความทันสมัย ข้อมูลข่าวสารไปให้ทางผู้กำกับด้วย เพื่ออัพเดทข้อมูลกันเรื่อยๆ แล้วค่อยหาพื้นที่ให้ฉาย ต้องอาศัยความร่วมมือเยอะมาก

พูดถึงเฉพาะหนังอินดี้เหรอ?

ไม่ได้ขนาดนั้นหมายความว่าหนังอิสระก็คือหนังอิสระ อินดี้จากทุน อย่างกับที่ทำเรื่อง ไม่ได้ขอให้มารัก ไม่ได้อินดี้มาก แต่ไม่มีกรอบอะไรมาบังคับเรา มีอิสระในด้านความคิดเรา ทำด้วยสิ่งที่เราคิดเนี่ยแหละ อยากทำอะไรก็ทำ บางคนอินดี้อาจจะลงทุน 30 40 ล้านก็ได้ อินดี้ไม่ได้แปลว่าหนังทุนต่ำอย่างเดียว แต่ถ้าหนังอินดี้ด้วยลงทุนต่ำด้วยก็มี เราต้องดูด้วย ไม่ใช่ว่าสนับสนุนหนังอิสระ แต่เราสนับสนุนอิสระในการทำงานของผู้กำกับเพื่อดึงศักยภาพตัวเขาออกมาให้ได้มากที่สุด

แสดงว่าหนังไทยจะต้องพัฒนาตัวเองให้มากกว่านี้ ?

พัฒนาศักยภาพให้มีมาตรฐานค่ะ อย่างที่บอกว่าเราจะพัฒนาศักยภาพการทำงานของผู้กำกับทั้งด้านความคิด วิธีการนำเสนอ ต้องอยู่ในเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นกับสังคมกับโลกใบนี้ที่เราอยู่ด้วย เราเป็นประชาธิปไตยต้องมีสิทธิเสรีในการแสดงออกทางความคิดเห็น จะอยู่แบบไม่มีปากไม่มีเสียงไม่มีความคิดเลยมันก็เป็นไปไม่ได้ มันเป็นศักยภาพของผู้กำกับ เพราะเราทำหนังเพื่อสื่อสารกับคน คนอยู่ที่ไหนล่ะ คนอยู่ในสังคม มันก็จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือบ่งบอกสิ่งที่เป็นปัญหา อาจมีวิธีแก้บ้างไม่มีวิธีแก้บ้าง เราจุดประกายให้ทุกคนเห็น พรบ.ภาพยนตร์ฉบับนี้เริ่มต้นมาดีแล้วโดยการที่มีระบบเรทติ้ง เพื่อจะแบ่งระดับความเหมาะสม แต่มันติดที่ว่ามันมีแบน เขาบอกว่าไม่มีแบน จริงๆแล้วมันไม่ใช่ คือการที่โดนแบนมันต้องร้ายแรงจริงๆ ไม่ใช่แบบว่าเอาวิจารณญาณของคนที่มาพิจารณาบอกว่ามันสมควรโดนแบนด้วยเหตุผลที่กว้างมากไม่สามารถจับต้องได้ อย่างเช่นศีลธรรมอันดีใคร ในประเทศนี้อะไรคือตัววัด รัฐมนตรีคนที่แล้วบอกว่าก็ผมถือมาตรฐานศีลธรรมอันดีอยู่ งั้นแปลว่าทุกคนเกิดมามาตรฐานก็ไม่เท่ากันสิ แล้วจะทำยังไงให้มันชัดเจน ว่าอะไรถึงถูกแบนหรือไม่ควรจะมีแบนอีกแล้ว เราต้องมานั่งถกกันแล้วผลักดัน พรบ.ฉบับนี้ให้แก้ไข สิ่งที่ควรแก้คือกฎหมายแบนมันต้องชัดเจน ตอนนี้มันขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคนที่มีอำนาจ ซึ่งคนที่มีอำนาจเป็นใครก็ไม่รู้ มาบอกว่าเราสมควรโดน ไม่สมควรโดน เขาบอกว่าเขามีอำนาจเหตุผลมันกว้างมาก คือผิดศีลธรรมอันดี เราก็ว่าแล้วอะไรมันคือศีลธรรม ใครคือมาตรฐาน ถ้าจะแบนได้มั้ย ก็ได้ แต่คุณต้องชัดเจน ไม่ใช่อยากแบนเพราะอยากแบน

 
แสดงว่าที่หนังมันโดนแบนเพราะดันไปพูดเรื่องที่ไม่ควรพูด ดังนั้นหนังควรหลีกเลี่ยงการโจมตีสังคม ?

ฮักนะสารครามก็มี จะพูดถึงการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสังคมเมืองกับสังคมต่างจังหวัดอะไรหลายๆ อย่าง มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เป็นโรแมนติกคอมเมดี้ก็จริงแต่ใส่เรื่องสิ่งที่สังคมมองผู้คนเหล่านี้อย่างแปลกประหลาดมันกระทบอะไรกับครอบครัวและส่วนบุคคลบ้าง พอกรอบความคิดของสังคมบอกว่า การที่เรามีรสนิยมทางเพศไม่เหมือนคนอื่น สังคมรู้สึกยังไง และคนที่เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นแฟน ถูกความเชื่อของสังคมแบบนี้มากระทบรู้สึกด้วยกันกับมนุษย์ยังไง คือมนุษย์เกิดมาไม่เหมือนกันสักคน เกิดมาร้อยคนหน้า จะคาดหวังให้มีรสนิยมที่เหมือนกันได้อย่างไร ทุกคนมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ทำไมเราไม่ยอมรับความแตกต่างในความเป็นมนุษย์ด้วยกัน
วิทยาศาสตร์บอกว่าการมีอวัยวะเพศเป็นจู๋คุณต้องเป็นผู้ชาย แต่เขาไม่ได้บอกแค่นั้น มีหน้าที่ ความเป็นผู้ชายในสังคมเข้ามาอีก ซึ่งทำไมไม่บอกว่าการที่เรามีอวัยวะเพศชายเอาไว้ฉี่ เอาไว้สืบพันธุ์ เพราะฉะนั้นที่เหลืออยากจะเป็นเพศอะไร อยากมีรสนิยมทางเพศแบบไหนก็เป็นเรื่องของคุณ ทำไมต้องตัดสินมนุษย์ว่าต้องมีรสนิยมทางเพศแบบนี้ จากการที่มีอวัยวะเพศนี้ด้วย แปลว่าทุกคนเนี่ยถูกกระจู๋ กระจิ๋มเเป๊ะไว้บนหน้าผากเหรอ และเมื่อคุณเกิดมามีอันนี้ต้องปฎิบัติตามนี้ ทั้งที่เรามีอันเดียวในร่างกาย พอมันต่างกันแค่อวัยวะเพศสองอัน หลักการแพทย์ก็บอกแล้วว่าเราต่างกัน เลยเริ่มมียูนิฟอร์มมาใส่ ธรรมชาติของเราบอกว่าเรามีจู๋ไม่ชอบจิ๋มดันกลายเป็นสิ่งที่แปลกและแตกต่าง ทำให้ความเป็นมนุษย์ถูกแบ่งจนไม่เห็นค่าความเป็นมนุษย์ด้วยกัน
นี่คือสิ่งที่เราบอกในหนัง “ไม่ได้ขอให้มารัก” ชื่อมันก็บอกว่ามึงไม่ต้องรักกูหรอกแต่ขอให้อยู่ในสังคมด้วยความเข้าใจมากกว่า ถามหน่อยว่าพื้นฐานสังคม การเมืองอยู่กับใคร อยู่กับมนุษย์ใช่ไหม ถ้าเราไม่พูดเรื่องพื้นฐานของมนุษย์แล้วมันกระทบสิ่งที่อยู่ในสังคมการเมืองได้ยังไงเพราะการเมืองทุกวันนี้มันมีผลต่อ sex และ gender อย่าบอกว่าการเมืองไม่มีผลต่อการร่วมเพศ มันไม่จริง เพราะการที่ถูกกระทรวงวัฒนธรรมแบบนี้ คนนี้บอกแบบนี้ ทำให้บางทีการร่วมเพศก็รู้สึกผิด เฮ้ย กูทำแบบนี้มันไม่ถูกวัฒนธรรมไทยหรือเปล่า กูนอนเอากันเฉยๆ กูจะนั่งเอากันได้ไหม มันมีผลกับในมุ้ง
กะเทยมันเป็นความผิดปกติงั้นหรือ ?
พื้นฐานของมนุษย์มันมีความหลากหลาย เพราะฉะนั้นรสนิยมก็เหมือนกัน ความหลากหลายทางเพศมันมี สิ่งที่เราเห็นในสื่อคือพวกเพศที่สาม สเตอริโอไทป์ว่าเป็นสิ่งแปลกประหลาด และไม่ให้ได้มีชีวิต เหมือนเป็นการ์ตูนอ่ะ เคยเห็นในหนัง เขานำเสนอชีวิตของคนที่คนอื่นเรียกว่าผิดปกติทั้งที่เรารู้สึกว่าเราปกติ แต่มึงมาบอกกูผิดปกติ เป็นเหมือนตัวตลกไม่สามารถเป็นมนุษย์ปกติได้ อย่างหนังไทย กะเทยจะเป็นแบบหอแต๋วแตก กะเทยไม่ได้มีชีวิตอยู่จริงๆ ต่อให้เล่าเรื่องชีวิตกะเทยก็เถอะกะเทยเหล่านั้นต้องผิดปกติบางอย่าง ดูแล้วไม่ใช่มนุษย์คนก็จะไปนั่งดูหัวเราะกัน คือสังคมไทยเนี่ยยอมรับว่ามีกะเทยไหม ยอมรับแต่ไม่เข้าใจ
สมมุติว่าเราสนิทกันเป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นเพื่อนสนิทกัน ยอมรับเพื่อนเป็นกะเทย วันนึงสมมุติว่ามีน้องชาย และน้องชายรักกับพี่จะเป็นแฟนกันเราจะรับไม่ได้ขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นก็ถูกสเตอริโอไทป์ว่าเป็นแบบนั้น พอสื่อออกไปว่ากระเทยเป็นแบบนี้หนังออกแบบนี้คนทุกคนก็พยายามจะบอกว่ากะเทยเป็นแบบนี้ ตัวกะเทยเองก็ติดกรอบความเป็นกะเทยที่ทุกคนตีกรอบให้ กูต้องกลายไปเป็นนางโชว์ หรือถ้าอยู่ในโรงเรียนกูต้องเป็นตัวตลกโปกฮา วีดว้ายกะตู้วู้ ไม่เป็นอย่างนั้นได้ไหม กูนั่งเรียนเฉยๆ กูซีเรียสกับชีวิตเป็นไหม เพราะว่าสังคมบอกให้เป็นแบบนั้นจนกระทั่งกระเทยบางคนติดกรอบตัวเองก้าวไม่พ้นด้วยซ้ำ ทุกคนมีอวัยวะเพศแต่อย่ามาบอกว่า กระเทยหรือเพศที่สามในความคิดของคนอื่นก็ปกติ มีความรู้สึก มีครอบครัวได้ มีคนรักได้ มีคนไม่รักได้ มีคนเกลียดได้ สุขได้ สมหวังได้ เหมือนกับผู้หญิงผู้ชายปกติ คุณก็ไม่ต้องมาบงการว่าเขาต้องมีจู๋มีจิ๋มอ่ะ วันนี้รักจู๋ พรุ่งนี้อาจจะรักจิ๋ม รู้สึกมันเป็นเรื่องปกติ

ความรู้สึกเกลียดชัง โดยเฉพาะความแตกต่างทางเพศมันจะเปลี่ยนได้หรือ ?

เปลี่ยนได้ค่ะ ในฐานะที่เราเป็นสื่อคงไม่สามารถเปลี่ยนความคิดทุกคนได้ เพราะทุกคนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว แต่สิ่งที่เราเริ่มทำตอนนี้ได้คือเราเป็นสื่อ เราทำภาพยนตร์ได้ เรามีความสามารถด้านนี้ เราทำในสิ่งที่สามารถทำได้ให้ทุกคนเห็น อยากให้เขาค่อยๆซึบซับ เราจะไปหักดิบว่าไม่ได้ !! มันก็เป็นไปไม่ได้ ต้องสร้างความเชื่อว่าเขาก็มีชีวิตปกติเหมือนคนอื่น ทุกคนพยายามทำเรื่องนี้ให้เป็นปกติเมื่อไหร่มันก็จะเป็นปกติเมื่อนั้น

กะเทยไทยมันต่างจากกะเทยต่างประเทศตรงไหน ?

ก็ไม่เคยเป็นกะเทยเมืองอื่นน่ะ เราเกิดมาเป็นกะเทยเมืองไทย ถ้าเกิดเป็นกะเทยอิสลาม มันอาจจะลำบากก็ได้ ถ้าถามตัวเองเป็นกะเทยเมืองไทยมันเหนื่อยไหม เป็นกะเทยเมืองไทยที่ไม่รู้จักตัวเองอ่ะเหนื่อย แต่ถ้ารู้จักตัวเองแล้วไม่เหนื่อยค่ะ มีความสุขดี เคยเหนื่อยมากนะกับการเป็นกะเทย ถูกตีกรอบว่าเป็นกะเทยที่ทุกคนอยากให้เป็น ต้องมีชีวิตที่สนุกสนานไป ต้องสวย ซึ่งเป็นค่านิยม ด้วยความที่เป็นผู้ชายก็ตัวใหญ่อยู่แล้ว ต้องใส่สเตย์รัดๆ ไว้ผมยาว แล้วหนวดก็ขึ้นเยอะมาก โกนสองโมงเช้า เก้าโมงครึ่งขึ้นอีกแล้ว ทำไมกูอยากเป็นแล้วมันเหนื่อยจัง เลยตัดผมสั้น ไว้หนวดไว้เคราใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้น เดินออกไปนอกบ้าน ไปนู้นไปนี้ แล้วก็ถามตัวเองว่ายังเป็นกะเทยอยู่หรือเปล่า เอ๊ะกูก็เป็นกะเทยนิ ความรู้สึกมันไม่ได้แตกต่างจากตอนที่แต่งตัวสวยงาม เป็นกะเทยมันอยู่ที่ตัวเอง อยู่ข้างใน พอเราไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านั้นเออมันมีความสุข ถ้าเจอเราข้างนอกอาจจะจำพี่ไม่ได้ เพราะบางที เราก็ใส่กางเกงบอลเดินริมถนนออกไปกินข้าว หรือออกไปทำงานออฟฟิศ คือมันขึ้นอยู่กับตัวเราอ่ะ ความสุขมันอยู่ที่ใจ

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE