ชายเจ้าชู้ อีหนูงี่เง่า Yamin and The 2 Boys


ดีกรีความเจ้าชู้ของชายไทยถูกจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของเผ่าพันธุ์ (ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจมาก – -) แม้หญิงไทยจะปฏิเสธชายเจ้าชู้เพียงใด แต่ก็มีสาวหลายรายยอมรับว่า ยิ่งชายมากเสน่ห์มันดูร้อนเด็ดเผ็ดมันส์กว่าชีวิตจืดชืดที่หนุ่มใสซื่อยื่นให้ และเอาเข้าจริง เจ้าหนุ่มหน้าซื่อ กลับยิ่งซ่อนเขี้ยวเล็บมากกว่าไอ้ที่มันเจ้าชู้เปิดเผยเสียอีก

หรือความเจ้าชู้มันถูกฝังอยู่ใน DNA ของเผ่าพันธุ์เรามาตั้งแต่โคตรปู่ทวด เรื่องนั้นช่างมันปะไร เพราะชายเราสามารถสรรหาเหตุผลมากลบมันได้อยู่ดี ในฐานะรุ่นพี่วัยเก๋า Yamin and The Two Boys อยู่ในเส้นทางสายดนตรีแบบบลูส์ๆ มานาน เราอยากรู้ว่า พี่ๆ มีวิธีสอยสาวจากในผับยังไง เฮ้ย! ม่ายช่าย มีวิธีรับมือกับความเจ้าชู้ยังไงต่างหาก ! ในซิงเกิลเพลง “ไม่เจ้าชู้” ที่โดนใจชายไทยแทนความในใจที่ยืนยันเสียงแข็งว่าตัวเองเป็นคนรักเดียวใจเดียว สำเนียงกวนๆ แกมประชดประชัน ให้น่าค้นหาว่าแท้จริงแล้วผู้ชายทุกคนเจ้าชู้หรือไม่

ฉันไม่ใช่คนเจ้าชู้ ฉันรู้ รู้ตัวฉันดี…

ทรี แบนด์ รุ่นเก๋า จากค่ายอินดี้ แมซค็อทท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ โชว์โลโก้ไทยบลูส์ ประกอบด้วย 3 หนุ่มใหญ่ “ญามินท์-ภูวดล วีระเสถียร” กีตาร์ ร้องนำ, “อู๊ด-สมเจตน์ ลีลาภิวัฒน์กุล” มือเบส และ “ชิต-วิชิต ภิญโญบริสุทธ์” มือกลอง เข้าออกผับดนตรีประเภทแจ๊ซ แอนด์ บลูส์ มานาน และที่น่าตกใจคือเหตุผลและปัจจัยในการเลือกเล่นผับไหน ร้านไหน คือ ที่ไหนหญิงเยอะกว่ากัน!
“นัยจริงๆ ของคำว่า Boys มันเป็นอะไรที่มีจินตนาการ เป็นอะไรที่เป็นของเด็ก ชอบมีจินตนาการ ชอบไฝ่รู้ ชอบซน พวกเรายังมีตรงนั้นอยู่ ถึงแม้อายุมันจะเยอะแล้ว (หัวเราะ)” เจ้าตัวปฏิเสธตลอดเวลาว่า “กูไม่แก่” แถมยังยืนยันว่าตัวเองโสดตลอดศก จ้างให้เราก็ไม่เชื่อ ร่วม 20 ปีที่เดินมา เส้นทางสายดนตรี ผ่านร้อนผ่านหนาว และไม่เคยเหยียบเข้าไปในวงกตของคำว่า มนุษย์เงินเดือน ทำให้เราน้อมรับความเก๋าของพี่แก

ฉันยังรักเธอ รักเธอ รักเธอ .. ผู้หญิงที่ไหน ฉันไม่มี้ ม่ายมี

เพลง ไม่เจ้าชู้ ตอนนั้นเป็นเดโมที่ส่งไปที่แฟตเรดิโอ เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ยังเป็นเพลงที่ส่งเหมือนเพื่อนส่งให้เพื่อนฟังต่อๆ กันไป จึงไม่ได้สมบูรณ์อะไรมาก แต่ทางนั้นก็ให้การตอบรับดี แฟนๆ ชอบ จำได้ว่าขึ้นไปถึงอันดับ 4 ชาร์ตแฟตเรดิโอ เรายังอยู่เป็นวงดนตรีอิสระ ไม่ขึ้นกับใคร เพลงก็ยังไม่ได้นับเป็นอัลบั้ม คือจะแยกเป็นซิงเกิล ตอนนั้นทำออกมาประปราย เล่นไปด้วย ขายไปด้วย ไม่ได้เป็นทางการ ไม่ได้เป็นรูปแบบเหมือนตอนนี้ ที่เอาเพลงไม่เจ้าชู้กลับมาอีกครั้ง ก็เพราะว่ามันเป็นเพลงบลูส์ ที่เป็นตัวตนของผมมากที่สุดแล้ว เป็นเวอร์ชันไทย ที่ปรับมาจากอเมริกันบลูส์
ผมใช้หลักจิตวิทยานะ ว่าใครที่พูดเสียงสูง มันจะพูดโกหก เราก็ยืนยันนะว่าไม่เจ้าชู้ แต่ถ้าผู้หญิงฟัง เขาก็จะบอกว่า ไอ้นี่ เจ้าชู้แน่ๆ แต่ว่าด้วยผมเป็นคนแบบเนี้ย ก็ ม่าย ไม่ ไม่ใช่ เวลาฟังหลายคนอาจจะไม่ค่อยเก็ตเท่าไหร่ แต่ถ้าใครที่ตามไปฟังพวกผมเล่นสน แล้วจะอ๋อ ใช่ละ มันคือการปฏิสัมพันธ์ทางความรู้สึก ส่วนใหญ่เนื้อหาของเพลงก็ได้มาจากประสบการณ์ โดยเฉพาะคุณผู้หญิง แต่จะสรุปว่า เพราะผู้หญิงงี่เง่า ก็ไม่ใช่ เราก็งี่เง่า ทุกคนมีความงี่เง่าของตัวเองหมด ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย อย่างในเพลง ไม่เจ้าชู้ มันไม่ใช่ผู้หญิงงี่เง่า แต่เราเป็นคนปฏิเสธความจริง ซึ่งเขาน่ะ พูดถูก เขาพูดถูกว่าเราน่ะ เจ้าชู้นะ แต่เราปฏิเสธ เราก็แถไป มันก็เป็นความจริงของผู้ชาย เอาข้างแถไปเรื่อย

ไอ้ความเจ้าชู้น่ะ มันเป็นธรรมชาติของผู้ชาย ต่อให้คุณแต่งงานแล้วก็ตาม มีภรรยา มีลูก หรือคุณรักภรรยาคุณมากแค่ไหนก็ตาม ให้ผู้หญิงใส่บิกินี่เดินผ่านหน้า ให้ตายคุณก็ต้องมอง ต่อให้เป็นสาวประเภทสอง ผู้หญิงแบบที่เขาประกวดกัน คุณก็ต้องมอง มันอยู่ในจิตใต้สำนึกอยู่แล้ว เรื่องแบบนี้น่ะ

ต้องอาศัยสถานการณ์ ผมจะเจ้าชู้โดยอาศัยสถานการณ์ ไม่ใช่ไปเจ้าชู้ในทุกอิริยาบถ ต้องดูว่าวันนี้เราอยู่กับใคร เราอยู่คนเดียวไหม หรือว่าเราอยู่กับคนที่มีความสัมพันธ์ มีความรู้สึกดีด้วย แต่ว่ามันมีจุดพอดีอยู่ มันมีความอิ่มตัวของแต่ละสถานการณ์ แต่ถ้าไปคนเดียว ไปไหน ปาร์ตี้กับเพื่อน เออ นั่นผมเต็มที่ ผมไม่ชอบบรรยากาศแบบรถไฟชนกัน มันอึดอัด อีกอย่างคือ คนเจ้าชู้มันไม่จำเป็นต้องโสดครับ มีเมียสามมันก็เจ้าชู้ได้ เป็นกมลสันดาน แล้วการเจ้าชู้ สำหรับผมนะ มันก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องจบลงด้วยเซ็กซ์เสมอไป ไม่ต้องมีอะไรกับผู้หญิงก้ได้ คือผมเป็นคนชอบคุย ชอบพูดกับผู้หญิง ผมพูดแล้วผมมีความสุข ผมไม่จำเป็นต้องมีเซ็กซ์กับเธอก็ได้ แต่ว่าถ้ามีเซ็กซ์ด้วยก็จะดีมาก (หัวเราะ) แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร ผมก็ได้มีความสุขที่ได้คุย ได้ชมเค้าว่า ผมเค้าสวยนะ หุ่นดี สะโพกสวย นิ้วเรียว อะไรอย่างนี้ ผมก็จะมีความสุขแล้ว แต่ก็อยู่ที่ผู้หญิงด้วยนะว่าเขาจะโอเคกับเรารึเปล่า ถ้าเขาไม่ เราก็ต้องหยุด ไม่ตามนะ เพราะเขาไม่รู้สึกดีกับเรา

ทุกวันฉันร้องเพลงบลูส์ กีตาร์ของฉัน มันก็บลูส์

บลูส์มันเขียน มันบอกเป็นคำ เป็นตัวหนังสือไม่ได้ มันอยู่ข้างใน รู้สึกดี มีพลัง แต่มันมีความรู้สึกที่ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน หมายถึงตอนที่เราเล่นดนตรี ถ้าเราใช้แต่พลังอย่างเดียว ไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเลย มันก็คือการไม่สนใจ ไม่แคร์คนอื่น แต่ถ้าผมอ่อนน้อมถ่อมตน ฟังคนอื่น ผมก็จะทำได้ดี หมายถึงทุกอย่างมันต้องประสานกัน
มันมีหลายแง่มุมมาก อย่างที่บูลส์ของอเมริกาเขาเศร้า ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ เขายังไม่มีดนตรีเล่นกัน พวกนิโกรแอฟริกัน คนดำที่เขากวาดต้อนมา ห้ามเล่นดนตรี กลัวว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างกัน เพื่อรวมตัวต่อต้านนายทาส แต่พวกนี้ก็แอบร้องกัน มีเมโลดี้ของเขาอยู่แล้ว บวกกับมีอารมณ์แห่งความเศร้า เวลาที่เปล่งเสียงออกมา มันยากเกินบรรยาย แต่จริงๆ บูลส์มันมีหลากหลายอารมณ์ มีทั้งทะลึ่งตึงตัง พูดถึงความรัก เกี้ยวพาราสี เศร้า อกหัก ส่วนบูลส์ของผมส่วนใหญ่ก็จะออกทะลึ่งตึงตัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะไม่พูดถึงเรื่องชีวิต การดำเนินชีวิตจากอัลบั้มเพลงของเรา
การ Improvise (ด้นสด) ถ้าเราไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิด เราก็จะทำมันได้ไม่ดี กีตาร์ก็เหมือนปาก เปล่งเสียงเป็นคำพูด เราจะถ่ายทอดอะไรให้ผู้ฟังได้ยังไง เราต้องมั่นใจ เชื่อในสิ่งที่ทำ แล้วคนฟังก็จะมั่นใจ และเชื่อว่า นี่ล่ะ คือเรื่องของเรา อยากถ่ายทอดให้พวกคุณสัมผัสได้ มันเป็นปฏิสัมพันธ์ทางความรู้สึก คนเล่นก็แสดงได้ อยากจะโชว์เมื่อไหร่ มันเป็นภาษาเฉพาะของวงเรา คนฟังก็สามารถแสดงความรู้สึกได้ มันไม่มีขีดจำกัด แต่มันเป็นเรื่องที่เราเองทุกคนก็รู้ว่ามันจะสุดเมื่อไหร่ จะจบเมื่อไหร่ มันมีเขตแดนของมันอยู่ และทั้งเราและผู้ฟังก็รู้จุดนั้นร่วมกัน มันไม่ใช่ ตัวกูของกู อย่างเดียว มันเป็นการรับรู้ร่วมกัน มีการให้ และการรับที่สมควรและพอดี

20 ปีที่ผ่านมา บลูส์มันให้อะไรกับพวกผมเยอะ ทั้งประสบการณ์ รู้จักคิด นอบน้อมถ่อนตน รู้จักให้และรับ สอนผมทุกอย่าง ผมใช้บลูส์เป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิตของผม ซึ่งผมจะทำอะไรต่อต่อผมก็ไม่ขัดเขิน จะไปเล่นร็อก เล่นฟรังโก ไม่ขัดเขินแล้ว เพราะผมมีบูลส์เป็นพื้นฐานแล้ว ผมมองบูลส์เป็นธรรมะ เขาฟังเพลงบลูส์ของในหลวงเขายังไม่รู้ตัวเลยว่าฟังเพลงบลูส์ เขาฟังเพลงของสุรพลเขาก็ยังไม่รู้เลยว่านี่เพลงบลูส์เหรอ อัลบั้มของพวกผมเป็นสิ่งที่อยากจะสะกิดให้คนฟังเขารู้ว่า นี่ไง ยังมีดนตรีบลูส์อยู่ในโลกนี้นะ ถ้าเขาเข้าใจนะ เขาจะรู้ว่าดนตรีบลูส์ก็คือชีวิตเขานั่นแหละ เป็นพื้นฐานเลย เหมือนแม่ค้าขายกล้วยปิ้ง เหมือนคนขับมอเตอร์ไซค์วิน หรือเป็นอาเสี่ย ทุกคนมีพื้นฐานของบลูส์อยู่แล้ว

มีแต่เธอกับบลูส์ที่เข้าใจ ผู้หญิงที่ไหน ฉันม่ายรู๊

เพลงของเรามันต้องคิดก่อนชั้นหนึ่งถึงจะเข้าใจ ไม่ใช่ประเภทแดกด่วน หรือ How to คนที่คิดแบบนี้ ถ้าไม่มีคนคิดมาก่อน มันก็จะไม่คิดตาม เหมือนการสร้างวัฒนธรรม ทำอย่างนี้แล้วคุณจะรวย เพราะว่ามันมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว คนนี้อ่ะ ต้องเอาอย่างเขาสิ คือเราอยากจะบอกว่า คุณไม่ต้องเอาอย่างก็ได้ คุณมีชีวิตแบบที่คุณเป็นก็ได้ คิดเองก็ได้ ไม่ต้องดำเนินรอยตาม เพราะคุณไม่ใช่เขานี่ แล้วคุณรู้ตัวเองรึเปล่าว่าคุณเป็นใคร คุณเป็นนักดนตรี หรือเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คุณเป็นอะไรอยู่ ถ้าคุณรู้ คุณก็จะรู้เองว่าคุณควรทำอะไร ไม่ต้อง How to มันอยู่ที่ตัวคุณ ไม่ใช่ตัวไอ้นี่ แล้วคุณก็จะกลวง

เหมือนที่มีน้องๆ ผมเขามาถามว่า ใครเก่งกว่ากัน ระหว่าง อีริค แคลปตัน กับ จิมมี เฮนดริกซ์ ผมบอกว่า ไม่มีใครเก่งกว่ากันทั้งนั้นแหละ ถ้าคุณจะดู คุณต้องดูว่าใครเข้าถึงกว่ากัน กับดนตรีแบบนี้อ่ะ ใครมันเข้าถึงกว่ากัน มีกระดาษแผ่นนึง แล้วดูว่าเค้าเล่นโน้ตนี้นั้น มันไม่รู้หรอกว่าใครเก่งกว่ากัน คุณต้องไปดูเขาเล่น เขาเข้าถึงแค่ไหนมากกว่า อย่าไปแยกแยะว่าเขาเก่ง ไม่เก่ง ฟังสิ่งที่เขาเล่น แล้วใช้อารมณ์ฟัง ใช้หัวใจฟังว่าเขาเข้าถึงแค่ไหน แล้วคุณอาจจะบอกว่า เขาไม่เก่ง เพราะคุณเข้าไม่ถึงเขามากกว่า

ที่ผมต้องการ คือไม่ได้อยากให้มันเป็นแฟชั่น ให้มันเป็นจุดเล็กๆ หรือเป็นกระแสรองยังดีซะกว่า ไม่อย่างนั้น มันจะไม่มีความหมาย เพราะว่าบ้านเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้ ภาวนา ไม่อยากให้มันเป็นแฟชั่น แต่อยากให้คนรู้ว่า นี่แหละคือ ดนตรีบลูส์ ไม่กลัวหรอกว่าสิ่งที่พวกเราทำมันจะหลุดหายไปจากวงโคจร ดีว่ามานั่งอยู่เฉยๆ ดีกว่าไม่ทำอะไร ลงมือทำ เราทำเพราะมันเป็นตัวของเราเอง เราไม่ต้องเสแสร้ง มีคนถามว่า ทำไมพวกผมถึงเลือกดนตรีบลูส์ ผมตอบว่า ไม่ใช่ ผมไม่ได้เลือกดนตรีบลูส์ ดนตรีบลูส์มันเลือกผม ผมอยู่กับมันมานานแล้ว ผมไม่ต้องเสแสร้งอะไร ผมไม่ต้องไปดัดเมโลดี้ แสร้งทำว่าเป็น Pop แล้วมาเข้าเพลงบลูส์ เพราะผมเล่นมันอยู่แล้ว

วงการเพลงไทย ไม่เคยหยุดนิ่งนะ มีพัฒนาการอยู่ตลอด มีแนวเพลงใหม่ๆ มาให้คนฟังอย่างต่อเนื่อง คนทำงานเพลงต้องแอกทีฟ อยู่ตลอดเวลา ยิ่งปัจจุบันมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามามาก เดี๋ยวนี้ใครจะทำเพลงขึ้นมาซักเพลงก็ไม่ใช่เรื่องยาก ยูทิวบ์ก็มีให้ไว้ปล่อยของ ขึ้นอยู่กับว่างานเพลงของคุณดีหรือเปล่า วงเราเล่นเพลงแนวนี้มาสิบๆ ปี ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนฟังไม่กว้างมาก เชื่อว่า ถ้าเรามุ่งมั่นและรักเพลงบลูส์จริงๆ มันก็อยู่ได้ อยากให้คนฟังเพลงในบ้านเราเปิดกว้าง ไม่ใช่ฟังแต่เพลงกระแสอย่างเดียว


No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE