SPF + Radio Garden : ร็อกหน้าใหม่ ไม่กลัว 'ยูทูบ'

ในวงการเพลงร่วมสมัย มีศิลปินและวงดนตรีหน้าใหม่ๆ เบียดแทรกพื้นที่ขึ้นมาแนะนำตัวเองอยู่เรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับสองวงร็อกจากค่ายโมโนนี้ ที่พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา เพื่อหา “ที่อยู่ที่ยืน” ให้กับตัวเอง ผ่านการปล่อยผลงานเพลงแบบซิงเกิ้ลออกชิมลางตลาดเป็นระยะๆ
SPF
SPF คือวงดนตรีวงแรกที่กล่าวถึงซึ่งเดินมาในแนวทางของโมเดิร์นร็อก ประกอบด้วยสมาชิก ทั้ง “เบนซ์-เมธีวุฒิ ประพัฒน์พรกุล”, “หยี-ดิษฐพล สีตองก่อน”, “อาร์ต-อาทิตย์ สีตองอ่อน” และ “ผัก-พิสุทธิ์ อินทร์แก้ว” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันตั้งแต่สมัยเล่นดนตรีในผับตอนเรียนมหาวิทยาลัย เส้นทางของพวกเขาเดินทางมาถึงซิงเกิ้ลที่สามแล้วตอนนี้ ในชื่อเพลง “เสียงเพลงในใจฉัน” และที่สำคัญ มีศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง “แมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม” เป็นโปรดิวซ์ให้ด้วย

“SPF นั้นย่อมาจาก So Many People Funny ความหมายของเราก็อยากจะให้เป็นไปในทำนองว่า อยากให้คนที่ฟังแล้วมีความสนุกและมีความสุข ยิ่งเยอะก็ยิ่งสนุกมากขึ้น เวลาเล่นสด เราก็เต็มที่และสนุกกับมัน เพื่อส่งผ่านความรู้สึกแบบนั้นสู่คนฟัง ถึงแม้เนื้อหาจะมีความเศร้าบ้าง แต่เราก็พยายามให้ความหวังต่อคนฟัง จะไม่เป็นแง่ลบเกินไป”

“จากซิงเกิลแรกมาจนถึงซิงเกิลที่สามนี้ พวกเราใช้เวลาแต่งเพลงกันนานพอสมควร ก็มีการปรับแก้กันอยู่หลายรอบ เพราะอยากได้ซาวนด์ดนตรีที่หนักแน่นและเนื้อเพลงที่โดนใจ สำหรับเนื้อหาของเพลงนี้ก็จะพูดถึงการได้บอกรักใครสักคน ถึงแม้เขาจะรับหรือไม่ก็ตาม แต่สำหรับเรา ก็ขอให้ได้บอกออกไป ก็เป็นความสำเร็จแล้ว ก็เป็นเพลงซึ้งๆ ซึ่งมีการมองโลกในแง่ดีอยู่ในนั้นด้วยครับ”


จาก SPF ข้ามมายังฝั่งของ Radio Garden ซึ่งก็ถือเป็นวงร็อกหน้าใหม่เช่นเดียวกัน เพียงแต่ฉีกสไตล์ออกไปอยู่บ้างก็ตรงที่เป็นโมเดิร์นร็อกที่ผสมผสานกลิ่นอายแบบอะคูสติก ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน คือ “มะตูม-สกานท์ เอี่ยมสอาด” (ร้องนำ), “ติ๊ก-กิตติศักดิ์ พลสิทธิพัฒน์” (กีตาร์) และ “บี๋-ศรัณย์ จิรศรัณย์พร” (เบส)

“ชื่อวงก็มาจากความชอบส่วนตัวครับ เราชอบธรรมชาติ ชอบต้นไม้ ก็เลยหยิบยกคำว่าการ์เด้นและเรดิโอมารวมกัน ก็ได้ความหมายว่าเป็นสวนแห่งเสียงเพลง”

และตอนนี้ “สวนแห่งเสียงเพลง” สวนนี้ก็มีผลงานซิบเกิลที่สามออกมาแล้ว ในชื่อเพลง “คนไหนไม่สำคัญ”
Radio Garden
ในโลกแห่งวงการเพลงร่วมสมัย ดูเหมือนว่า วัฒนธรรมอย่างหนึ่งซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมเพลงอย่างมากก็คือ การผลิตผลงานในแบบซิงเกิลออกมา แทนที่จะเป็นอัลบัมเหมือนเมื่อก่อน

“เราคิดว่าคงเป็นเพราะสื่อมันเยอะขึ้นนะครับ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต ที่มีการให้ดาวน์โหลดได้ การทำงานเพลงในลักษณะที่เป็นอัลบัม มันอาจจะเป็นการลงทุนที่สูงและไร้ค่าโดยไม่จำเป็น ถ้าเกิดขายไม่ได้ สู้ว่าปล่อยทีละซิงเกิล อาจจะขายได้บ้างไม่ได้บ้าง โหลดบ้างแชร์บ้าง แต่มันก็ยังได้ เราคิดว่า สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งคือมันเปิดช่องทางให้ศิลปินหน้าใหม่ๆ ได้เกิดและทำเพลงลองตลาดได้สะดวกมากขึ้น คือไม่จำเป็นว่าต้องเจ๋งเป้งหรือวงใหญ่ๆ เท่านั้นที่จะได้ทำเพลงกับค่าย เพราะเราอาจจะลองทำทีละเพลง ทีละซิงเกิล ถ้าผลตอบรับดี ก็ทำต่อ ถ้าผลตอบรับไม่ดี ก็ให้โอกาสแก่วงอื่นๆ ได้มาลองทำบ้าง”

ถัดจาก “วิธีการขาย” แบบใหม่เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนฟังยุคออนไลน์แล้ว กระแสที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ก็คือการที่ค่ายเพลงบางค่ายพยายามที่จะ “ลด” ช่องทางในการเข้าถึงเพลงของคนฟังด้วยการถอดผลงานออกจากพื้นที่บนยูทูบ ศิลปินหน้าใหม่อย่างเรดิโอ การ์เด้น มีความคิดเห็นเป็นอย่างไร?

“เรามองว่า การที่ค่ายบางค่ายเขาถอดเพลงหรือเอ็มวีออกจากยูทูบ เพราะว่ามันสามารถดาวน์โหลดไฟล์เก็บไว้ได้ และเมื่อโหลดมาแล้ว ก็มีโปรแกรมที่สามารถแยกภาพและเสียงออกจากกันได้ แล้วทีนี้ คนที่คิดไม่ซื่อเขาก็เอาแต่เสียงไปปล่อย ไปทำขายอะไรทำนองนั้น จริงๆ มันมองได้หลายมุมนะ เขาคิดก็ถูกแหละ แต่อย่างเมืองนอกเขาก็ไม่กลัวกับเรื่องนี้ อย่างเลดี้ กาก้า เขาก็ยังปล่อยฟรี ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร”

“สุดท้าย เราคิดว่ามันมีวิธีทำอีกตั้งหลายแบบที่จะเอาออกมาขาย มันอยู่ที่ประเทศด้วยแหละ อย่างบางประเทศ ถ้าเขามีความรู้เรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญา ถึงเขาจะดูทางเว็บหรือทางยูทูบ แต่ที่สุดแล้ว เขาก็จะซื้อแผ่นแท้ลิขสิทธิ์ เราคิดว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ เราไปแก้ที่ต้นเหตุดีกว่า ทำแบบนี้มันก็เหมือนผักชีโรยหน้า แก้แค่ปลายเหตุ

“ต้นเหตุก็คือการเคารพสิทธิ์ คนไทยยังไม่ค่อยเคารพเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญาเท่าไหร่ อย่างเพลงๆ หนึ่ง มูลค่ามันเยอะนะครับสำหรับคนทำเพลงอย่างพวกเรา กว่าจะเสร็จแต่ละเพลง มันเปลืองเงินทองและพลังงานมากมายใช้ได้เลย

“อย่างไรก็ตาม สำหรับพวกเรา ไม่กลัวการไปอยู่ในยูทูบ และคิดว่า ควรจะทำตัวให้ชินมากกว่า มันไปต่อต้านก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย”

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE