มีวันนี้ เพราะพระให้ : ต้น เมืองนนท์

ในวงการพระเครื่องตอนนี้ ชื่อของ “ต้น เมืองนนท์” กำลังเปล่งปลั่งขึ้นมาทุกขณะ เขาคือทายาทของเซียนพระชื่อดัง “ต้อย เมืองนนท์” แน่นอนว่า ด้วยสถานะเช่นนี้ ทำให้ชายหนุ่มวัยสามสิบเต็ม ต้องขวนขวายเรียนรู้อย่างหนักเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของผู้เป็นพ่อ

วงการพระเครื่อง เหมือนเวทีปราบเซียน เต็มไปด้วยเล่ห์ แถมมากด้วยกล รู้ไม่ทันคนอาจโดนต้มได้ง่ายๆ ชนิดที่ “ของดี” ใดๆ ก็มิอาจช่วยได้ “ต้น เมืองนนท์” หรือ “ยุทธภูมิ เตชะวิภาค” มีประสบการณ์กับเรื่องพวกนี้อย่างไร ในช่วงเวลาแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อก้าวขึ้นสู่สถานะแห่งเซียนพระตัวจริง และเขามี “ของดี” อะไรติดตัวบ้าง ยามบ่ายวันนั้น ให้คำตอบสำหรับเรา…

แนะนำตัวหน่อยครับ?
ผมชื่อ ยุทธภูมิ เตชะวิภาค หรือในวงการพระเครื่องจะรู้จักผมในนาม “ต้น เมืองนนท์” เป็นลูกชายของคุณ “ต้อย เมืองนนท์” อุปนายกสมาคมคนที่หนึ่งของสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทยครับ

เห็นพระเครื่องมาตั้งแต่เด็กๆ เลยมั้ยครับ?
ตั้งแต่เด็กเลยครับ เรียนตามตรงว่า คุณพ่อของผมแกเป็นเซียนพระมาตั้งแต่สมัยที่แกยังเป็นวัยรุ่นอยู่เลย ทีนี้ตั้งแต่ผมเกิดมาเนี่ยคือพูดง่ายๆ ว่าก็คลุกคลีอยู่กับวงการพระเครื่องมาตั้งแต่เด็กเลย เพราะว่าซึมซับมาจากคุณพ่อ

ตอนเด็กๆ เคยฝันอยากเป็นเซียนพระมั้ยครับ?
ตอนเด็กๆ ไม่มีเลย ไม่มีความคิดที่จะเป็นเซียนพระเลย เพราะความที่เราชินมาตั้งแต่เด็ก เราเห็นพระเครื่อง บางคนอาจจะรัก อย่างผมนี่ พูดง่ายๆ ว่าซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วมันเหมือนอิ่มตัวครับ ความคิดผมไม่เคยคิดจะเป็นเซียนพระเลย ตอนเด็กๆ ผมมีความคิดอยากเป็นเจ้าของร้านเกมด้วยซ้ำ เป็นตำรวจบ้าง เป็นอะไรบ้าง สไตล์เด็กอย่างเราน่ะครับ ตอนเด็กไม่มีความคิดจะเป็นเซียนพระ อันนี้ยอมรับเลย

แล้วเพราะอะไรครับถึงได้มาเป็นเซียนพระ?
ตอนแรกผมออกไปทำธุรกิจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคาราโอเกะ ผับ บาร์ทุกอย่าง ที่นี้ถามว่ามันดีมั้ย มันก็ดี แต่พอเราเริ่มอายุมากขึ้น กลับมามองย้อนเราว่า คุณพ่อผมมีลูกแค่ 2 คนคือผมกับน้องสาว ทีนี้ถ้าเป็นผู้หญิงนี่ก็ไม่สามารถจะมารู้เรื่องอะไรอย่างนี้มาก เพราะว่าน้องเขาก็ไม่ได้สนใจเรื่องตรงนี้ ผมก็เลยมาคิดว่า เอ๊ะสมมติว่าเราไม่เอาพระเครื่อง ถ้าเราไม่มาสืบสานตรงนี้ สมบัติทั้งหลายทั้งปวงของคุณพ่อ มันจะเป็นยังไง

จากตรงนั้น เราก็เริ่มมานั่งศึกษาละว่าเป็นยังไง ช่วงอายุประมาณ 23-24 ผมเริ่มหันมาสนใจพระเครื่อง ตอนนี้ผมสามสิบ เท่ากับว่าผมเริ่มมาในวงการพระเครื่องจริงๆ ไม่น่าจะเกิน 6-7 ปีเท่านั้น จุดกำเนิดคือเนื่องมาจากว่า คุณพ่อเคยเดินมาบอกผม คือตอนนั้น ผมทำธุรกิจร้านคาราโอเกะอยู่ ไม่มีความสนใจเรื่องพระเลยซักนิด เวลาใครมาถามแบบว่า คุณต้น โห ลูกชายป๋าต้อย เมืองนนท์ นี่ดูพระให้ผมหน่อย ดูพระให้ฉันหน่อย เราก็เกิดความอายตัวเองว่าเราเป็นลูกของอุปนายกฯ แต่ทำไม เราดูพระไม่เป็น มันก็เลยกลายเป็นว่า คนเขาจำเรามาจากคุณพ่อว่าเก่ง อย่างเราก็อายในตัวเอง ก็เลยต้องค่อยๆ ศึกษา เวลาใครมาถามใครมาอะไรจะได้ตอบคำถามเขาได้ มันก็เลยเกิดเป็นความสนใจ

พระองค์แรกที่ผมปล่อยเช่าได้ และจุดประกายให้ผมรู้ว่าสนใจพระเครื่อง คือพระหลวงพ่อเงิน บางคลาน จ.พิจิตร เป็นพระจอบเล็ก เขาเรียกกันว่ารุ่นจอบเล็ก ตอนนั้นผมปล่อยเช่าไปเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ราคาจะอยู่ประมาณหนึ่งล้านสองแสนบาท ผมเช่ามาในราคาหนึ่งล้านหนึ่งแสนบาท เท่ากับว่าผมได้กำไรไปหนึ่งแสนบาท มันก็เลยกลายเป็นว่า เฮ้ย มันก็ได้ตังค์นะ แล้วมันก็รู้สึกดีจนกลายเป็นความรักว่าผมอยากทำตรงนี้ ผมก็เลยทิ้งทุกอย่างแล้วมาทำตรงนี้

“ถ้าใจเรานับถือศรัทธา ต่อให้เราห้อยของเก๊ นั่นแหละครับพระดีที่สุด”

คุณคิดว่าพระเครื่องให้อะไรกับคุณบ้าง?
หนึ่ง สมาธิ เพราะเวลาเราส่องพระ หนึ่ง ถ้าเราไม่มีสมาธิ เราจะไม่สามารถดูจุดเก๊หรือแท้ได้ เหมือนกับว่าถ้าเรานั่งอยู่ตามพวกคนเยอะๆ อย่างเนี้ย เสียงโวยวายเสียงอะไร ผมเป็นคนสมาธิสั้น จะจำอะไรได้น้อยมาก แต่ตั้งแต่ผมเริ่มมาเล่นพระ มันเหมือนกับว่าสมาธิเราดีขึ้น เพราะหนึ่ง เราต้องจำหลายอย่าง เช่น จุดตำหนิ เนื้อพระ อายุพระ ทั้งหมดนี่ ถ้าเราไม่มีสมาธิหรือว่าเราไม่มีความมั่นคงที่ดี เราจะไม่สามารถจับจุดตรงนี้ได้ คือพระเครื่องสำคัญที่สุดคือ พิมพ์พระ เนื้อพระ ถ้าเราพลาด สมมติเราซื้อมาล้านหนึ่ง มันก็จะหายไปเลยล้านหนึ่ง ไม่สามารถซื้อขายต่อได้ ตรงนี้ล่ะครับสำคัญ สอนผมได้เยอะเลย

มีประสบการณ์อัศจรรย์อะไรที่เจอกับตัวเองหรือเปล่าครับ?
ถ้าผมจำไม่ผิด ก็ประมาณปี 2542 เป็นวันเกิดผม คุณป๋าพยัพ คำพันธุ์ ที่เป็นนายกสมาคมได้มอบพระมาให้ผมองค์หนึ่ง คือหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ตอนนั้นพูดง่ายๆ ว่าผมไม่มีความรู้เรื่องพระ เราก็ห้อยพระตามแบบ เขาให้เราก็ห้อย ผมจำได้ว่าคืนนั้นรู้สึกจะเป็นเดือนเมษายน ผมไปนั่งสังสรรค์กับเพื่อนแถวรัชดาแล้วก็ห้อยพระองค์นี้อยู่องค์เดียว ด้วยความเมา พูดง่ายๆ เราคะนองวัยรุ่นน่ะครับ ขับรถกลับบ้าน ทีนี้ตรงรัชดาจะมีแยกที่เรียกว่าสี่แยกโค้งร้อยศพ ตรงนั้น เขาจะรู้กันดีเลยว่า ถ้าเกิดมาตรงๆ แรงๆ เสร็จแน่ๆ ผมไปตรงๆ เลยครับ โครม! ชนครับ ข้างนี่เอียงไปเลย มีแต่คนบอกว่าสภาพรถนี่ไม่น่ารอด แต่ว่าผมมีแผลถลอกนิดเดียวเอง ตอนนั้นผมเมา น่าจะเหยียบเกือบร้อยยี่สิบได้ครับ คือข้างหน้าเนี่ยเละไปหมดเลย ได้ลงหนังสือพิมพ์ด้วย ก็รอดมาได้ครับ

“พระองค์หนึ่งขายได้ล้านหนึ่งจริง แต่มันก็ต้องมีต้นทุน” “ ”

ตอนนี้ คุณมองว่าตัวเองเป็นเซียนพระหรือยัง?
เอาเป็นว่าผมมองตัวเองว่าเป็นนักสะสมดีกว่า นักสะสมแลกเปลี่ยน ถ้าเซียนพระที่แท้จริง คือซื้อเองขายเองไม่ต้องพึ่งตาใคร ไม่ต้องอะไรใคร แต่อย่างผม พูดตรงๆ อย่างไม่อายว่า บางครั้งพระบางอย่าง ผมยังต้องพึ่งตาคนอื่นอยู่ เนื่องจากประสบการณ์ผมยังน้อยอยู่ครับ

จากที่ป๋าต้อย เมืองนนท์ เป็นเซียนพระรุ่นใหญ่ของวงการ และต่อไปคุณจะถูกคาดหวังให้เป็นเซียนพระรุ่นต่อไป กดดันมั้ย?
กดดันนะครับ เพราะคนที่จะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการได้ ต้องมีคนเคารพนับถือ ต้องเก่ง ต้องรู้จักเข้าใจคน ต้องคุมคนในวงการได้ คือคนในวงการพระเครื่อง บางคนจะนึกว่าเป็นคนกลุ่มน้อยๆ มันก็แค่กลุ่มคนในห้างพันธุ์ทิพย์ กลุ่มในท่าพระจันทร์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ วงการพระนี่คือทั่วประเทศ ไม่ว่าจะระดับไหน จะรากหญ้าหรือระดับเศรษฐีขนาดไหน ทุกคนเล่นพระหมดชั่วโมงนี้ คือคนที่เล่นพระไม่ได้ซื้อเพื่อที่ว่าจะทำกำไร บางคนสะสมก็เพราะว่านับถือ บางคนก็มีบ้าง และเราก็เข้าใจว่าสะสม เพราะราคามันจะขึ้น ทีนี้ คนที่จะมาเป็นผู้ใหญ่ในวงการได้ หรือจะให้ความเคารพในวงการได้ ต้องมีคนรู้จักเยอะ ต้องช่วยสังคมด้วย อะไรหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้น การคาดหวังว่าผมจะสืบทอดต่อไป มันก็กดดันครับ กดดันเยอะมากๆ

ในวงการพระเครื่องจากมุมมองของคนภายนอก เป็นเหมือนวงการที่ต้องหักเหลี่ยมเฉือนคมกัน มีเงินหมุนเวียนต่อวันเป็นหลักล้าน คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?

ถ้าคนภายนอกมองมา จะเหมือนว่าวงการพระเครื่องเฟื่องฟู หูย!ซื้อขายกันทีนึง สามล้านสิบล้าน แต่จริงๆ ต้องทำความเข้าใจว่าวงการพระทุกอย่างมีทุนหมด อย่างเช่น พระองค์หนึ่งขายได้ล้านหนึ่งจริง แต่มันก็ต้องมีต้นทุน ต้นทุนก็คือที่เราไปเช่าหามา เหมือนกับผมจะปล่อยพระสักองค์หนึ่งอย่างนี้ ผมก็ต้องไปหามา ไม่ใช่ว่าเราจะมีอยู่แล้ว อย่างเช่น พระบางองค์ คนเขามองไอ้ต้นมันขายทีสี่ล้านห้าล้าน แต่จริงๆ ทุนเราอาจจะประมาณสี่ล้านแล้ว กำไรอาจจะสี่ถึงห้าหมื่นก็มีในราคาเวลาที่เราปล่อยเช่าเป็นหลักล้าน เพราะฉะนั้น บางทีคนข้างนอกมองว่าวงการพระมันเฟื่องฟู จริงๆ แล้ว ทุกอย่างมันมีทุนหมดครับ เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ

พระอะไรที่คุณนับถือมากที่สุด?

ถ้าพระที่ผมนับถือมากที่สุดก็จะเป็นหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร เนื่องจากว่า คุณแม่ผมเป็นคนพิจิตร ผมก็เลยซึมซับมา ไปไหว้ท่านมาตั้งแต่เด็ก คือรูปหล่อ เพราะท่านมรณะมาเป็นร้อยปีแล้ว ก็นับถือมาตั้งแต่เด็ก

เคยปล่อยเช่าพระเครื่องราคาสูงสุดเท่าไหร่?
ถ้าเป็นตัวผมเองนะ ไม่รวมกับคุณพ่อ ก็หลักสิบล้าน เป็นพระสมเด็จวัดระฆังครับ ไม่น่าจะเกิน 3 ปีมานี้

“อย่าเอาเปรียบคน อย่าซ้ำคน”


เบ็ดเสร็จแล้ว คุณสะสมพระมากี่ปี ที่เริ่มใส่ใจจริงๆ?
ไม่เกิน 7 ปี ตั้งแต่ผมอายุประมาณ 24-25 ตอนนี้ก็ 30 คือตัดสินใจเด็ดขาดเลย เริ่มเอาจริงเอาจัง บอกคุณพ่อเลยว่าผมจะเล่นพระแล้วนะ เพราะสมัยก่อน ต่อให้คุณพ่อเคี่ยวเข็ญขนาดไหน ขนาดเอาเงินก้อนมาวางไว้ให้ ไปนะ ไปนั่งหน้าร้านนะ ผมไม่เคยไปเลย ถ้าคนที่อยู่ที่นี่ เขาจะรู้ว่าผมไม่เคยมาเลย

มุมมองต่อพระเครื่องหลังจากที่ได้เข้ามาเล่นพระแล้วเป็นยังไง?
เปลี่ยนไปนะ คนละด้านคนละมุมเลย เพราะสมัยก่อนผมเคยคิดแค่ว่า พระเครื่องก็เป็นแค่…เหมือนเวลาเราไปไหว้พระแล้วพระก็เอ้า! เอาของดีไปนะ คือเราได้ฟรี สมัยก่อน เราไม่เคยซื้อขาย พระก็เหมือนกันหมด แค่ซื้อ แค่ขาย แต่พอมาเล่นพระจริงๆ นี่ ได้รู้เกี่ยวกับพุทธคุณท่าน เกี่ยวกับจริยะของพระบางองค์ เหมือนกับเราได้มีสมาธิขึ้น เรามีจิตใจฝักใฝ่ธรรมะขึ้นด้วย คือการเล่นพระไม่ใช่มีแค่เรื่องเงินอย่างเดียว พอศึกษาไปๆ มาๆ พุทธคุณ เมตตา อะไรทุกอย่างนี่มีหมดครับ พอซึมซับมาได้หมดทุกอย่าง ก็เป็นอะไรที่ต้องลองสัมผัสด้วยตัวเองแล้วจะรู้ว่ามันให้อะไรเรามากกว่า

คิดเห็นอย่างไรครับ เมื่อมีคนบอกว่าหากินกับพระ?
สมัยก่อน คำว่าหากินกับพระ คนโบร่ำโบราณเขาว่ากันไว้นะ คือจะใช้กับพวกที่ทำพระเก๊ขาย พวกนั้นหากินกับพระ เค้าทำพระเก๊ออกมาขายเพื่อแลกเป็นเงิน แต่สำหรับพระแท้ มันเหมือนกับเป็นการแลกเปลี่ยนกันมากกว่า เหมือนเรามีรถอยู่คันหนึ่ง ผมเบื่อรถคันนี้อยากเปลี่ยนเป็นคันอื่น ก็ไปขายแล้วเอาเงินที่ได้ไปซื้อใหม่ ทุกอย่างนี่เหมือนกันหมด แต่ที่คนมองว่าหากินกับพระเพราะเห็นว่าเอาวัตถุมงคลมาขาย จริงๆ ไม่ใช่หรอกครับ

ก็จะมีคำที่ป๋า (ต้อย เมืองนนท์) สอนผมตลอดเวลาว่า “อย่าเอาเปรียบคน อย่าซ้ำคน” แค่นั้นเอง แกสอนผม คือแกจะไม่ได้สอนอะไรผมมาก แต่แกจะบอกคำหนึ่งว่า เวลาซื้อขายพระ ให้พยายามอยู่ใกล้แก แกเคยบอกว่าการสอน บางทีมันไม่สามารถทำให้จำได้ เพราะมันเหมือนการบังคับ แต่เมื่อใดก็ตาม ถ้าเราสนใจเอง แป๊บเดียวก็จะได้วิชามากกว่าที่แกตั้งใจสอน อะไรก็แล้วแต่ ไม่เท่ากับเราใฝ่เรียนรู้เอง ต่อให้มีครูเป็นร้อยเป็นพันมานั่งสอนเรา แต่ถ้าเราไม่เอาก็ไม่มีค่า เหมือนครูพักลักจำ อย่างที่โบราณบอกว่ามักจะเก่งกว่าคนที่นั่งเรียนเอง

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE