ลูบคมคิด ชีวิต “เหนือเมฆ” : นนทรีย์ นิมิบุตร


ไม่กี่เดือนก่อน “อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” เป็นบุคคลที่ถูกต้องการตัวอย่างมากจากทุกสำนักข่าว จากกรณีเรื่องราวของละคร “เหนือเมฆ” ซึ่งถูกปลดกลางอากาศ ทั้งที่เหลือเพียงสามตอนก็จะจบ…อย่างปราศจากคำอธิบายที่ชัดเจน “เหนือเมฆ” ลอยหายเข้ากลีบเมฆ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา

อย่างไรก็ตาม ชื่อของ “นนทรีย์ นิมิบุตร” ก็ไม่ใช่เพิ่งจะมาถูกพูดถึงแค่ตอนนี้ เพราะอันที่จริง “อุ๋ย นนทรีย์” เปรียบเสมือนไม้ใหญ่ต้นหนึ่งในวงการภาพยนตร์บ้านเรา และเขาก็คือหนึ่งในคลื่นลูกแรกๆ ที่ทำให้หนังไทยกลับมาบูมอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการแตกของฟองสบู่เศรษฐกิจและพิษต้มยำกุ้งเมื่อสิบกว่าปีก่อน ด้วยผลงานที่สร้างรายได้เกินร้อยล้านอย่าง “นางนาก”

ท่ามกลางการเกิดและล้มหายตายจากของนักทำหนังคนแล้วคนเล่า “อุ๋ย นนทรีย์” ยังคงเก็บถนอมพื้นที่แห่งการทำหนังของตัวเองไว้ราวกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บางถ้อยคำ เขาว่า “ผมจะทำหนังไปจนกว่าลมหายใจสุดท้าย” เราว่าเราก็เชื่อเช่นนั้น เพราะดูจากผลงานของเขาหลายต่อหลายเรื่อง มันอาจจะทำเงินบ้างไม่ทำบ้าง แต่เขาก็ยังมีหนังออกมาฉายสม่ำเสมอ และอีกราวสองเดือน “The Second Letter” อันเป็นภาคต่อของหนังกระทุ้งบ่อน้ำตาอย่าง “The Letter” ก็เตรียมจะเปิดกล้อง

แน่นอนว่า การที่ใครสักคนจะหยัดยืนอยู่กับบางสิ่งบางอย่างโดยไม่หวั่นไหว และยังมีใจให้กับสิ่งนั้นๆ แบบไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เขาอาจจะต้องประคองตัวให้อยู่เหนือ “เมฆหมอกมืดมัว” ให้ได้

เมฆหมอกทั้งหลายที่ว่านั้น ต่างกันทั้งในเชิงรูปลักษณ์และความหมายกับมวลเมฆที่ลอยล่องกลางท้องฟ้า มันคือเมฆหมอกแห่งอุปสรรคและความไม่สมปรารถนาบรรดามี และเราก็เชื่อว่า ผู้ชายคนนี้ มีความมุ่งมั่นอย่างถึงที่สุดเพื่อจะไม่ให้ตนเองจ่อมจมล้มหายไปในเมฆหมอกเหล่านั้น

เพราะ “เมฆ ไม่ได้มีไว้แบก แต่มีไว้ให้เหยียบ” หรือเปล่า? เราไม่แน่ใจ…

คุณคิดเห็นอย่างไรบ้างที่ในช่วงที่ผ่านมา มีหนังที่เราเคยทำ ถูกนำมาสร้างใหม่ 2-3 เรื่อง?
ก็เคยทบทวนเหมือนกันว่ามันนานเท่าไหร่แล้ว ก็พบว่า เอ้อ มันก็นาน 15-16 ปีแล้วนะ ซึ่งก็ถึงเวลาที่มันควรจะมีการรีเมกแล้ว คือผมคิดว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์มันมีวงจรของมันอยู่ ทุกๆ สิบปีจะมีการเปลี่ยนแปลง อย่างตอนนี้ ผมเชื่อว่าหนังไทยอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าเกือบจะ 0 เลย ในรอบ 5 ปีข้างหน้า มันก็อาจจะพุ่งขึ้นไป อาจมีเลือดใหม่เกิดขึ้น มีคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น และมันก็คงจะพุ่งขึ้นไปจนถึงสุดยอดของมันอีกครั้งหนึ่ง และจะใช้เวลาอีกราวๆ 5-10 ปีที่มันจะดาวน์ลงไปอีก ผมสังเกตเห็นว่ามันเป็นอย่างนี้อยู่ 2-3 รอบแล้ว มีจุดที่ขึ้นไปสูงสุด จุดนั้นมันดูได้จากอะไร ก็ดูได้จากว่าทุกคนลุกขึ้นมาทำหนังกันหมดเลย คนทำฟาร์มกุ้งก็อยากทำหนัง คนขายไอติมก็อยากทำหนัง มันคือจุดที่ทุกคนรู้สึกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์มันหอมหวานมาก ทุกๆ 10 ปีมันจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แล้วก็จะหายไป ที่เหลืออยู่ก็จะเป็นตัวจริงที่แม้จะอยู่แค่จุด 0 แต่ก็พยายามที่จะเริ่มต้นปีนขึ้นไปใหม่

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นว่า ในรอบ 20-30 ปี ก็จะมีคนที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่บนเส้นทางสายนี้ ไม่ไปไหน คือคนที่ใจสู้ ยังรักที่จะทำงานอยู่ ก็ยังคงอยู่ ส่วนที่รู้สึกว่าอุตสาหกรรมหนังมันไม่สะท้อนภาพความเป็นจริงเลย ก็ไปทำอย่างอื่น

คำว่า “อุตสาหกรรมหนังไม่สะท้อนภาพความเป็นจริง” ในความหมายของคุณ คืออะไร?
คือผมอยู่ตรงนี้มานาน และยอมรับอย่างเต็มใจเลยว่า การทำหนังมันหาเลี้ยงชีพไม่ได้ มันไม่สามารถเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองเหมือนกับอาชีพอื่นๆ เพราะว่าหนึ่ง ค่าตอบแทนของการเป็นผู้กำกับสักเรื่องหนึ่งมันน้อยมาก ถ้าเทียบกับเวลาในการทำงาน หนังเรื่องหนึ่งผมใช้เวลาประมาณปีหนึ่ง และมันได้ค่าแรงน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำไม่รู้กี่เท่า นั่นแสดงให้เห็นว่ามันไม่สามารถเลี้ยงชีวิตตัวเองได้ มันไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่างที่จะทำให้หนังเรื่องนั้นๆ ประสบความสำเร็จหรือไม่ เป็นที่ถูกใจคนดูหรือเปล่า รสนิยมมันต้องกับคนดูหรือเปล่า และผมก็ไม่ใช่คนที่ทำหนังตามใบสั่งน่ะ คือปกติ ถ้าเขารู้ว่าคนดูกำลังนิยมหนังตลก คนก็จะแห่ไปทำหนังตลก ตอนนี้หนังผีมา คนก็จะแห่ไปทำหนังผี แต่ผมเป็นคนทำหนังที่ผมอยากทำ อะไรที่มันสร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา เราก็สนใจที่จะทำตรงนั้น ซึ่งมันอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่คนดูเขาอยากดูก็ได้ ดังนั้น สำหรับผม มันจึงขึ้นอยู่ว่า กับสิ่งที่เราอยากทำ ตรงกับสิ่งที่คนดูเขาอยากได้หรือเปล่า แน่นอนว่า มันไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่ เพราะเราเลือกที่จะทำในสิ่งที่เราสนใจจะทำจริงๆ

ด้วยเหตุนี้ ถ้าผมจะบอกว่าตัวเองเป็นคนทำหนังอาชีพ ผมคงมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะว่าบางที ความต้องการของเรา มันก็สวนทางกับสิ่งที่คนดูต้องการ ผมถึงได้บอกว่า ผมเป็นคนทำหนังเป็นงานอดิเรก หนังมันคือฮอบบี้ของผม และโดยปกติ เราก็จะเอาตัวเองไปทำงานอีกแบบหนึ่งเพื่อหาเลี้ยงชีวิต ทำละคร ทำโฆษณา เราก็ทำอย่างอื่นเพื่อที่จะหาเงิน แต่การหาเงินตรงนั้นก็เป็นการเตรียมเพื่อจะทำหนัง เพราะทำหนังทีไร ผมก็จะหยิบเงินตัวเองเข้าไปใช้ด้วยทุกที คืออย่าว่าแต่ได้เงินเลย แต่ต้องจ่ายเงินตัวเองออกไปแทบทุกครั้ง เข้าเนื้อด้วย ถ้าคุณอยากร่ำรวยจากหนัง หรืออยู่ให้ได้ด้วยหนัง คุณก็ต้องโกงหนังน่ะ โกงก็คือ…สมมติว่าคุณได้เงินมาสัก 20 ล้านบาท คุณอาจจะทำแค่ 15 เก็บไว้ 5 ถามว่างานมันจะสำเร็จอย่างที่คุณคิดหรือเปล่า มันก็อาจจะไปไม่ถึงจุดนั้นซะทีเดียว เพราะคุณอยากจะได้เงินจากหนัง กำไรจากหนัง มันก็จะส่งผลให้คุณภาพของหนังหายไปด้วย

คิดว่าอะไรคือเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้วงการหนังบูมหรือเหี่ยว?
คือต้องบอกอย่างนี้ครับว่า หนังมันไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในชีวิตมนุษย์ มันเป็นปัจจัยที่สองร้อยกว่าด้วยซ้ำไป ฉะนั้น ถ้าหนังมันจะกลับมาบูม นั่นหมายความว่า คนพร้อมจะใช้เงิน สภาพเศรษฐกิจดี สังคมดี ทุกอย่างราบรื่น ตอนนั้น หนังก็จะเฟื่องฟู คนก็มีอารมณ์หรือมีรายได้พอที่จะไปดูหนัง แต่เดี๋ยวนี้ คนจะเข้าโรงหนัง ต้องมีอย่างน้อย 500 บาท ต่อคนต่อหัว ค่าอะไรต่างๆ เงิน 500 บาท สำหรับคนที่ยังทำงานในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่เวิร์ก มันก็ยากที่จะหยิบเงินมาดูหนัง ทุกคนก็คิดเหมือนกันหมด เพราะเรามีโฮมเธียเตอร์แล้ว รอซะหน่อยเดี๋ยวแผ่นดีวีดีก็ออกแล้ว มันก็ส่งผลให้คนดูหนังน้อยลง

“อุตสาหกรรมที่ถูกต้องที่สุด คืออุตสาหกรรรมที่มีหนังทุกประเภท
มีหนังตลก หนังรัก หนังสงคราม หนังผี หนังแอกชัน ฯลฯ”

สังเกตได้เลยครับว่า ตอนนี้ คนที่ดูหนังจริงๆ คือเด็ก คือคนที่ไม่ได้หาเงินเอง เพราะว่าเวลาเขาใช้เงิน เขาก็ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องระวังอะไร มาผ่อนคลาย การดูหนังมันคือการผ่อนคลาย เพราะฉะนั้น พอเราจะทำหนังอะไรก็ตามที่รู้สึกว่าต้องคิด มันก็จะไม่เวิร์กแล้ว

การที่หนังมันจะกลับมาได้ สภาพโดยรวมของประเทศมันต้องกลับมาก่อน คนถึงจะไปดูหนังกันได้อาทิตย์ละเรื่องหรือสองเรื่อง แต่ตอนนี้ โรงหนังว่างมาก มีแต่เด็กเข้าไปดูกันทั้งนั้น แล้วพอเป็นแบบนี้ คนที่ผลิตหนังซึ่งเป็นบริษัททำหนัง เขาก็ต้องมองว่า ลูกค้าเขาคือใคร เขาก็ต้องทำหนังป้อนวัยรุ่น ดังนั้น คนอายุเยอะอย่างเราก็ไม่มีหนังดู เป็นเวลานานมากแล้วที่ผมรู้สึกว่ามีหนังที่เราอยากไปดู และผมก็เคยลองแล้ว ไปพิสูจน์แล้ว และผลก็คือ…ขออภัยนะครับ ดูไม่รู้เรื่อง ถามว่าเขาผิดหรือเปล่า ก็ไม่ได้ผิด เพราะเขาคุยกับคนของเขา เขาต้องคุยกับวัยรุ่น เหตุผลบางทีก็ไม่จำเป็นต้องมี คือเหมือนกับว่า เอามัน เฮฮาสนุกสนาน ซาบซึ้งไปอย่างเดียว แล้วหนังที่ดูแล้วต้องใช้ความคิด หรือการเสพหนังเพื่อศิลปะภาพยนตร์จริงๆ มันก็จะหายไป

ฉะนั้น การที่จะกลับมาได้ ผมว่ามันอยู่ที่หลักคิดว่า อุตสาหกรรมที่ถูกต้องที่สุด คืออุตสาหกรรรมที่มีหนังทุกประเภท มีหนังตลก หนังรัก หนังสงคราม หนังผี หนังแอ็กชัน ฯลฯ มีทุกอย่างเลย คนทุกคนมีหนังของตัวเอง คนสูงอายุก็มีหนังเพื่อคนสูงอายุ มันจะมีหนังน้อยเรื่องมากเลยครับที่สามารถแพ็กเอากลุ่มคนดูทุกกลุ่มมาได้ มันจะต้องสร้างแรงกระตุ้นแบบนั้นให้ได้

“เราเล่นฟุตบอลกันไม่ได้ เราต้องต่อยมวยเพียงอย่างเดียว
แล้วเวลาต่อยมวย ใครได้ก็ได้ไป ใครไม่ได้ก็ไม่ได้”

มองว่าตอนนี้ วงการหนังโดยรวม เป็นอย่างไรบ้าง?
ตอนนี้ เป็นช่วงที่คนทำหนังเสียศูนย์ ไม่รู้จริงๆ แต่หลายคนก็บอกว่ามันเป็นช่วงเวลาของโรแมนติกคอเมดี้ และเป็นหนังที่พูดกับวัยรุ่นเป็นหลัก ผมจับต้องได้ว่า หนังของคุณยอร์ช ฤกษ์ชัย หนังของจีทีเอช เป็นหนังที่จับกลุ่มนี้ชัดเจน วัยรุ่นก็เข้าไปนั่งหัวเราะๆ เราไม่ได้บอกว่าหนังเขาดีหรือไม่ดีนะครับ แต่คำถามก็คือ เขาทำให้ใครดูแล้วมันตรงกลุ่มหรือเปล่า ซึ่งหลายคนก็ถามผมว่า ถ้าผมรู้อย่างนี้แล้ว ทำไมไม่ทำ ผมก็บอกว่า ทำไม่เป็น คือเราไม่แน่ใจว่าเราจะสื่อสารกับเขาแบบนั้นได้หรือเปล่า เหมือนกับว่าไม่ใช่ทางของเรา และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องถามตัวเองว่าเราอยากทำสิ่งนั้นจริงๆ หรือเปล่า คือถ้าเราฝืนทำในสิ่งที่เราไม่อยากจะทำ มันไม่น่าจะเวิร์กแน่นอน นอกจากวันหนึ่ง เราลุกขึ้นมาแล้วว่าเราอยากจะทำหนังแบบนี้จังเลย เราอยากทำหนังตลกแบบนี้จังเลย แต่มันยังไม่เคยอยากเลยไง ก็เลยไม่ถึงจุดนั้นสักที

แน่นอนว่า หนังมันเป็นธุรกิจ และธุรกิจก็คือการลงทุนแล้วได้กำไร ได้ทุนคืนและได้กำไร เพราะฉะนั้น เราต้องมาดูว่า บริษัทที่ลงทุนกับหนังอย่างจริงจัง มีไม่เกินห้าบริษัท และในห้าบริษัทนี้ก็จะมีคนตัดสินว่าหนังเรื่องไหนจะได้สร้างหรือไม่อยู่ 5 คน เท่านั้นเอง ดังนั้น ในห้าคนนี้ ก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของเขาที่มีต่อระบบ คือถ้าแต่ละคนพูดว่า เราทำธุรกิจ เราต้องทำกำไร ทุกคนก็ต้องมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ว่าทำอย่างไรถึงจะได้กำไร การขับเคลื่อนของภาพยนตร์ก็จะขึ้นอยู่กับห้าบริษัทนี้ บางคนอาจจะบอกว่า ชั่วโมงนี้ คุณต้องทำหนังที่ใช้ทุนไม่เกิน 5 ล้าน หรือ 10 ล้าน ถ้ามันเป็นอย่างนี้ หนังมันก็ถูกจำกัดในระดับเดียว

สมัยก่อน เราจะมีการวางขนาดของภาพยนตร์ ไซส์ของภาพยนตร์ไว้สามระดับ คือ เล็ก กลาง ใหญ่ ทุนต่ำ 10 ล้าน ถึง 20 ล้าน ระดับกลาง 20-30 ล้าน และระดับใหญ่คือมากกว่านั้นขึ้นไป เมื่อก่อน ผมก็เป็นคนทำหนังระดับกลาง แต่เดี๋ยวนี้ หนังขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงแล้วล่ะ ขนาดกลางนี่หายไปจากโรงนานแล้วนะ มีแต่เล็ก หรือไม่ก็ใหญ่ไปเลย เหลือแต่ต่ำกว่า 20 ล้าน หรือ 15 ล้านด้วยซ้ำ มันก็เป็นหนังขนาดเล็ก ถ่ายทำกันไม่เกิน 20 วัน ถ่ายแล้ว ฉายแล้ว บางทีเราก็ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีหนังเรื่องนั้นๆ

ผมว่าการเปลี่ยนแปลง มันต้องเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนทำหนังก่อน คือส่วนใหญ่ คนที่ทำหนังมาแล้วไม่ได้เงินก็มักจะไปโทษคนดู “คนดูหนังไทยยังงั้นยังงี้”

แล้วคุณเคยโทษคนดูไหม?
ผมว่าสิ่งที่ควรกลับมาถามมากกว่า ก็คือ เรากำลังทำอะไรกันอยู่ คือจริงๆ ทุกคนก็อยากทำให้มันดีนั่นแหละ แต่ว่าด้วยการจำกัดงบประมาณ แต่เหนืออื่นใด ผมว่าสิ่งที่ขาดหาย ไม่มีในวงการบ้านเรา ก็คือการรวมตัวกัน

ยังไงครับ ที่ว่า “วงการหนังขาดการรวมตัว”?
สมมติว่า เรามีเงินคนละสิบล้าน สิบล้าน ไปแยกกันทำ แต่ถ้าเราเอามารวมกัน 30 ล้าน แล้วไปหางานที่มันเจ๋งจริงๆ ทำร่วมกัน รวมกัน คือซื้อชิ้นเล็กๆ มันก็ได้ชิ้นเล็กๆ คนละชิ้น แต่ถ้าคุณรวมกัน มันก็จะได้เค้กก้อนใหญ่หนึ่งชิ้น คนเขาก็อยากจะดู เพราะมันใหญ่ แปลกนะ เราเล่นฟุตบอลกันไม่ได้ เราต้องต่อยมวยเพียงอย่างเดียว แล้วเวลาต่อยมวย ใครได้ก็ได้ไป ใครไม่ได้ก็ไม่ได้ การเล่นฟุตบอลมันไม่เคยเกิดขึ้น

“ผมอยากจะทำหนังไปจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต”

เผื่อฟลุกหรือเปล่า อย่างลงทุนสิบล้าน ได้มาสักร้อยล้าน?
มันก็เป็นไปได้นะ และเคยเกิดขึ้นมาแล้วนะครับ พอลงทุนสิบล้าน แล้วได้ 50-60 ล้าน นายทุนก็จะบอก เห็นมั้ย เขาลงทุนแค่นั้น แต่ได้เงินมาเยอะเลย แล้วจะมาเอาอะไรตั้ง 20 ล้าน ขนาดของหนังไม่ได้ขึ้นอยู่กับสคริปต์หรือความต้องการของสคริปต์แล้ว ขนาดของหนังมันขึ้นอยู่กับการตั้งต้นทุนและพูดว่า ต้นทุนเท่านี้ ไม่ขาดทุน หนังมันก็เลยถูกตีกรอบให้อยู่ในแนวคิดแค่นั้น เพราะ “ชั้นก็ทำได้แค่นี้ๆๆ” แล้วสุดท้าย มันก็ได้เค้กก้อนเท่าๆ กันหมด

ด้วยบริบทของอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่เช่นนี้ คุณเคยรู้สึกฝืน ประมาณว่าต้องลืมๆ ตัวตนของตัวเองไปเพื่อให้ได้ทำหนังสักเรื่อง?
ไม่ครับ คือสมมติว่า ถ้าตอนนี้ผมอยากทำเรื่องนี้มากเลย แต่ไม่มีใครอยากทำกับผมเลย ผมก็เก็บเอาไว้ เขียนเรื่องใหม่ขึ้นมา แล้วก็ไปถามว่า “ชอบไหม” ไม่ชอบก็เก็บ เอาใหม่ เราไม่สามารถฝืนได้หรอกครับ เพราะว่าการทำหนังมันใช้พลังงานมหาศาล ทั้งพลังกายและความคิด เวลา เงิน และสุขภาพ มันเอาจากเราไปหมด เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะต้องทำอะไรก็ตามที่มันต้องทุ่มเทขนาดนั้น แล้วมันไม่ได้เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำเลย ตื่นเช้ามา เราไม่ได้อยากออกไปถ่ายหนัง มันไม่เวิร์กหรอกครับ มันไม่มีทางเวิร์กหรอก มันต้องการแรงบันดาลใจพันเปอร์เซ็นต์ เพื่อจะให้มันเหลืออยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ในวันทำงาน อุปสรรคต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้น ความท้อแท้ระหว่างทาง ถ้าตั้งไว้ร้อย วันเปิดกล้องมันจะเหลือแค่ 20 เปอร์เซ็นต์

เพราะชัดเจนในตัวเองเช่นนี้ จึงทำให้คุณยังอยู่กับหนัง แล้วมีอะไรอย่างอื่นอีกไหมที่ยึดโยงเราไว้กับหนัง?
มันเป็นความรู้สึกที่ว่า เรา “อยากเห็น” มั้งครับ มันเป็นความรู้สึกที่แบบว่าพอเราคิดอะไรได้แล้ว เราอยากจะถ่ายทอด อยากให้คนได้รับรู้ เหมือนเราหลงใหลมัน ไม่อย่างนั้น เราคงไม่แบบว่า ทำงานๆๆ แล้วเอาเงินมาจ่ายกับหนังหรอก มันต้องคนที่อยากเห็นความฝันของตัวเองจริงๆ ดังนั้น ผมจึงไม่อยากเรียกว่ามันเป็นอาชีพ เพราะการเป็นอาชีพ มันเหมือนกับการที่เราทำมันแล้วได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม แต่ทีนี้ ความจริงมันไม่ได้แบบนั้นน่ะ มันไม่เคยได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ทุกวันนี้ ถามว่านายผมคือใคร นายผมคือหนังน่ะ เราเป็นขี้ข้านาย เราต้องทำทุกอย่างเพื่อนาย ทำให้ดีที่สุด
มีคนเคยถามผมว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากทำอะไรมากที่สุดไปตลอด ผมก็บอกว่า ผมอยากจะทำหนังไปจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิตน่ะ เพราะว่ามันทำอย่างอื่นไม่ได้แล้วน่ะ โอเคล่ะ อาจจะกระโดดไปทำละครบ้าง เพราะอย่างน้อยๆ มันก็เป็นการฝึกฝนฝีมือของเรา เรียนรู้ศาสตร์อีกศาสตร์หนึ่ง แล้วก็ทำให้ได้เงินกลับมาเลี้ยงชีวิตเรา และมาทำฝันของเรา

กับเรื่องแบบนี้ เราต้องตอบให้ได้ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร หรือถ้าเป็นการลงทุนแบบธุรกิจ เป้าหมายของมันก็คือกำไร แต่ผมเป็นคนที่เล่นฮอบบี้นี้ เล่นกับฝันของผม ถามว่าฝันของผมคืออะไร ฝันของผมก็คือทำงานเสร็จแล้วให้คนดู จบแล้ว คือวันที่ผมทำหนังเสร็จ และผมได้ฉายให้ตัวเองดูทั้งเรื่อง วันนั้น หน้าที่ผมจบ หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของหนัง ซึ่งมันจะนำพาคนดูได้อย่างไร หน้าที่ของการโปรโมตว่าจะทำยังไงให้คนเข้ามาดูหนังเรื่องนั้นๆ เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่หน้าที่ของผมแล้ว ถามว่าผมพอใจงานทุกชิ้นหรือเปล่า ผมพอใจ เพราะมันได้เสร็จในมือของผมจริงๆ ไม่ว่ามันจะดีหรือไม่อย่างไรก็ตามในความคิดเห็นของคนอื่น ใครจะชอบหรือไม่ชอบ ผมถือว่างานของผมเสร็จแล้ว

“ผมเหมือนช่างตัดรองเท้า
เราก็เดินเอาแบบรองเท้าที่เราดีไซน์ออกมาไปให้เขา
ถามว่าเขาชอบไหม ชอบ เราก็กลับมาทำจนเสร็จแล้วเอาไปให้เขา
แล้วหลังจากนั้น คุณจะเอาไปทิ้ง เอาไปขาย หรือเอาไปให้ใคร
ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว”

เอาล่ะ ไหนๆ ก็พาดพิงถึงละครแล้ว มีความสุขดีไหมครับกับการทำละคร?
ดีครับ คือผมโชคดีอยู่อย่าง คือผมทำละครกับเพื่อน ตั้งแต่วันแรกที่เพื่อน (นก ฉัตรชัย) ชวนมาทำ ผมก็บอกว่า ผมเป็นคนทำงานแบบนี้นะ ผมต้องการงานที่ดี มีคุณภาพ อาจจะไม่ได้กำไรนะ ซึ่งมันก็เกือบจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่ทำมาทุกเรื่อง เราก็ทำมา 4-5 เรื่องแล้ว มันก็ให้ความรู้สึกในอีกรูปแบบหนึ่งของชีวิต มันก็สนุกดี คือผมว่าชีวิตคือการเรียนรู้น่ะ เมื่อไหร่ที่เราหยุดคิด เราก็จะถอยหลัง

หลายคนบ่นว่า ละครไทยไม่ค่อยจะให้อะไรเท่าไรในเชิงความคิดหรือโลกทัศน์ คุณคิดอย่างนั้นไหม?
ผมว่าไลฟ์สไตล์หรือวัฒนธรรม มันเป็นของใครของมันนะ เราต้องถามว่าเรามาจากไหน เราก็มาจากโขน ลิเก ลำตัด อะไรแบบนี้ มาจากลิเกงานวัดที่ดำเนินอะไรไปด้วยความเรียบง่าย คำว่า “มหรสพ” สำหรับไทยเรา มันคือการให้ความบันเทิงจริงๆ นะ ไม่ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ แล้วเข้าใจง่าย เหมือนลิเกออกฉาก ก็จะบอกว่า ข้าพเจ้ามีนามนั้นนามนี้ เป็นใครมาจากไหน คือมันเคลียร์หมดเลย และมันก็เป็นวิธีการที่สืบเนื่องมาจนถึงเรื่องของละคร คือทุกอย่างต้องชัด ต้องบอกที่มาที่ไป คนดูต้องรู้เรื่องหมด

เพียงแต่ว่าในระยะหลังที่ศิลปะภาพยนตร์มันเข้ามามีบทบาท แล้วภาพยนตร์ เขาอาจจะมีบางส่วนที่คนดูจะต้องเข้าไปค้นหาด้วย อย่างทำไมเราต้องนั่งอยู่ในห้องมืดๆ เพราะว่าเขาต้องการให้เราจดจ่ออยู่กับมัน ไม่วอกแวกไปไหนเลย คุณไม่สามารถจะรีดผ้าได้ นอกจากกินป็อปคอร์น เพราะฉะนั้น ศิลปะทางภาพนยนตร์ มันก็จะมีความลึกลับได้ ซับซ้อนได้ ปกปิดตรงนั้นตรงนี้ เพื่อให้คนดูต่อจิ๊กซอว์เอาเอง แต่เนื่องจากว่าละครมันมาจากศิลปะอีกแบบหนึ่ง ลิเก มันจะไม่ได้ อย่างที่บอก รำแล้วต้องพูดด้วย ทำแล้วก็ต้องพูดไปด้วยว่าทำอะไร เพื่อให้ความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งกับคนดู เข้าใจง่ายๆ

อย่างเหนือเมฆ 2 นี่ ถือว่ามีความชัดเจนไหมในการบอกกับคนดูว่ามันเป็นเรื่องการเมืองไทย?
ไม่นะ จริงๆ มันต่อเนื่องมาจากภาคหนึ่งแล้วล่ะ คือนายกฯ ก็คนเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด แต่มีการเพิ่มตัวรองเข้าไป ซึ่งเราก็คิดให้มันเข้ากับยุคสมัยเท่านั้นเอง อย่างมันมีเรื่องสัมปทานดาวเทียม เราก็พูดเรื่องดาวเทียม เรื่องการศึกษา ไอเดียมันมาจากกรอบข่าวทั้งนั้นแหละ เรื่องเวทมนตร์ก็มาจากการที่เราได้ดูและได้อ่านมาจากที่ต่างๆ ผมว่าทุกอย่างที่ผมทำ มันเกิดจากแรงบันดาลใจ

แล้วเคยสงสัยไหมว่า ทำไมละครของเราถึงโดนแบน?
เราไม่รู้หรอกนะ และยิ่งถามว่าใครเป็นคนสั่งแบน ยิ่งไม่รู้ใหญ่เลย แต่ว่าเราก็ได้ทำในแบบที่เราอยากทำเต็มที่ไปแล้ว เขาอยากให้เราทำ ทำจนจบ ตัดสามเทปสุดท้ายให้เหลือเทปเดียว เราก็ทำ แล้วก็ขึ้นอยู่กับเขาว่าจะให้ฉายเทปเดียวหรือสามเทป แต่เขาเลือกที่จะไม่ฉายเลย ถ้าเผื่อจะพูดอย่างที่ผมเคยพูดไปแล้ว และคิดว่ามันชัดที่สุดก็คือ ผมว่าผมเหมือนช่างตัดรองเท้า เราก็เดินเอาแบบรองเท้าที่เราดีไซน์ออกมาไปให้เขา ถามว่าเขาชอบไหม ชอบ เราก็กลับมาทำจนเสร็จแล้วเอาไปให้เขา แล้วหลังจากนั้น คุณจะเอาไปทิ้ง เอาไปขาย หรือเอาไปให้ใคร ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว มีคำถามว่าผมเจ็บปวดไหม ผมเฉยๆ ไหม เพราะผมคิดว่าผมโตพอที่จะเข้าใจอะไรๆ ได้ดีแล้ว เพราะเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของโลก สัจธรรมของมนุษย์ เราก็ไม่ยึดติดอะไร บอกจริงๆ ผมไม่รู้สึกอะไรเลย โลกมันก็เป็นเช่นนี้

ไม่อยากวิพากษ์สักหน่อยเหรอ?
เฉยๆ ครับ ผมว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันก็บอกได้ชัดว่า คนที่ทำ เขาก็คงแสดงอำนาจของเขาเต็มที่ ว่านี่คืออำนาจของเขาที่เขามีอยู่ในมือนะ จะบอกให้
****************************
หนังเก่าเล่าใหม่ จัน ดารา – อันธพาล
“2499 หรือ จัน ดารา เป็นหนังสองเรื่องที่ใครหยิบมาทำก็ไม่มีทางเหมือนกัน ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับการตีความ อยู่ที่มุมมองของคนทำ เวลาที่เราทำหนังจากหนังสือหรือทำจากสื่อที่มีอยู่ มันจะเป็นแบบนั้นทุกครั้ง คือถามว่าใครทำผิดทำถูก ไม่มีหรอก มันแล้วแต่คนจะมอง แค่อย่างเดียวกัน คนสองคนก็คิดไม่เหมือนกันแล้ว เพราะฉะนั้น ในแง่ว่าดีหรือไม่ดี มันพูดไม่ได้ แต่ถามว่าคนดูแบบไหนมากกว่า เป็นส้มตำคนละรสชาติ”

พี่มาก พระโขนง
“ผมโอเคนะ ผมคิดว่ามันดีกว่ารีเมกน่ะ ถ้ามันมีคนมองเรื่องนี้อีกแบบหนึ่ง และเท่าที่ผมจับต้องได้ในตัวอย่างของหนัง เรื่องที่ผมเคยสื่อสาร มันยังอยู่ครบ เพียงแต่ว่าเขาบิดไปอีกทางเท่านั้นเอง ความรักของนางนาก การอยากสร้างครอบครัวของนางนาก ไอเดียต่างๆ ของเรายังอยู่ครบเลย เขาไม่ได้ดิ้นไปซะจนโครงสร้างมันสั่น เพียงแต่เขาทำให้มันดูสนุกขึ้น ฮาขึ้น มันก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง ผมจับฟีลลิ่งได้ว่ามันดี และมันจะมีมุมเรื่องซึ้งๆ”

ภาพโดย : จิรรรถ์ ภูจิตทอง

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE