มนุดกลม กับเรื่องเล่าจากโตเกียว สุดเฟี้ยวเงาะ!!

อะไรนะ “มนุดกลม”?
ในมุมคนทั่วไป และเชื่อว่าส่วนใหญ่ น่าจะไม่คุ้นกับชื่อนี้เป็นแน่ แต่สำหรับคนที่รักชอบการ์ตูนไทย อย่างน้อยๆ ก็น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาชื่อเสียงเรียงนามนี้มาบ้างล่ะ เพราะตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่าน เขาผู้นี้มีผลงานการ์ตูนรวมเล่มออกสู่สายตาบรรดาคอมิกส์แฟนมาแล้วถึง 3 เล่ม โดยมี “มนุดกลม ทัวร์โตเกียว สุดเฟี้ยวเงาะ” เป็นเล่มล่าสุด

“ชื่อ “มนุดกลม” มันเริ่มจากหัดวาดลายเส้นก่อน แล้วค่อยมาตั้งชื่อครับ” คนหนุ่มวัยยี่สิบปลาย ย้ายเสียงออกจากลำคอ บอกเล่าความเป็นมา “คือตอนที่หัดวาดการ์ตูนผมก็ลอกลายเส้นการ์ตูนญี่ปุ่นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ประถมเลยวาดลงสมุดเหลือๆ น่ะครับ จนถึงราวๆ ม.ปลายหรือตอนเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เริ่มวาดเป็นตอนสั้นๆ แบบสี่ช่องจบ และใช้ตัวละครแบบตัดลายละเอียด คือไม่คางแหลมๆ ตาไม่โต นิ้วก็มีบ้างไม่มีบ้าง ลดรายละเอียดไปเยอะ แล้วก็ลดมาเรื่อยๆ จนมาถนัดมือที่ตัวมนุดกลมปัจจุบัน…คือไม่เหลือแม้แต่ทรงผม นิ้ว และเสื้อผ้าเลยครับ ฮาๆ จากนั้นตอนที่คิดว่าอยากลองวาดเป็นการ์ตูนเผยแพร่เป็นผลงานของตัวเองแบบเป็นจริงเป็นจัง ผมนั่งจ้องตัวการ์ตูนในแบบที่ผมวาดถนัดมือที่สุด (ตัวมนุดกลมในปัจจุบันนั่นเอง) แล้วก็พยายามคิดชื่อกับนามปากกาจากลักษณะของตัวละครตัวนี้ เป็นคนหัวกลมๆ เลยตั้งชื่อว่า “มนุดกลม” และจงใจเขียนว่า มนุด แทน มนุษย์ เพื่อเป็นสิ่งบ่งบอกช่วงเวลาเกิดของตัวละครตัวนี้ ว่าเกิดในช่วงที่เราเริ่มมี “ภาษาแชต” ที่นิยมพิมพ์ว่ามนุดแทนมนุษย์ นั่นเองครับ”

โดยคอนเซ็ปต์แล้ว “มนุดกลม” ไขแจงแถลงชี้ว่า การ์ตูนของเขาจะเน้นเรื่องสนุกๆ ขำๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คนที่หลากหลายในกรุงเทพฯ “โดยส่วนตัวก็ตั้งใจให้มันเป็นผลงานที่เล่าเรื่องของชีวิตคนเมืองในยุคสมัยนึง และเป็นหนังสือ สปช. ย่อมๆ แบบอ่านสนุกไปด้วยครับ” เขาบอกกับเราแบบนั้น ก่อนจะเปิดโอกาสให้เราเดินเข้าไปในอาณาบริเวณชีวิตของเขา…

'มนุดกลม'
มนุษย์เงินเดือนก็ทำตามฝันได้

คงไม่ต่างจากประชาชนพลเมืองอีกหลายสิบล้านคนบนแผนที่ประเทศไทย คนหนุ่มผู้ใช้คำเรียกขานตัวเองว่า “มนุดกลม” ก็ดำรงชีวิตอยู่ใต้ร่มเงาของการเป็นมนุษย์กินเงินเดือน โดยรับผิดชอบด้านไอทีที่บริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งมาตลอดระยะเวลา 5-6 ปี แต่ด้วยความรักความชอบที่มีต่องานเขียนการ์ตูน ช่วงเวลาหลังเลิกงานจึงเป็นโมงยามแห่งความเบิกบานกับความรักนั้น

“หลังเลิกงานจะเป็นอีกบทบาทคือผู้เขียนการ์ตูนมนุดกลม การ์ตูนเล่าเรื่องขำๆ จากชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปของคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม (กวาดกว้างๆ เป็นเหล่าเจน Y) ตั้งแต่เรื่องเรียน เที่ยว ทำงาน และวาดมาได้สามปีแล้วครับ”

โลกแห่งงานประจำ กับการงานแห่งความฝัน แม้จะดูเหมือนยืนอยู่คนละด้าน แต่ทว่าเขากลับประสานให้มันเดินเคียงคู่กันไปได้อย่างลงตัว ถ้อยคำของเขาบนบรรทัดถัดจากนี้จึงน่าจะพอมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่รอคอยว่าเมื่อไหร่จะได้ทำตามความฝันของตนเองสักที

“นี่เป็นความเห็นและมุมมองส่วนตัวนะครับ แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะพิจารณา สำหรับผมแล้ว “อาชีพ” คือสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้เราและครอบครัวดำรงชีวิตอยู่ได้ในระดับที่เราไม่ลำบากครับ ซึ่งการเลือกอาชีพสำหรับผมจึงเลือกได้หลายอย่าง ตั้งแต่ทำสิ่งที่ตัวเองถนัด ชอบ หรือแม้แต่ยังไม่รู้ว่าชอบอะไร สมัครงานได้อันไหนเอาอันนั้น บางคนได้หลายอันก็เอาอันผลตอบแทนมากที่สุด ก็ไม่ผิดกติกา ตราบใดที่ “อาชีพ” ที่เราเลือกยังช่วยให้เราและครอบครัวดำรงชีวิตได้ในระดับที่เราไม่ลำบาก จากนั้นความฝันหรือสิ่งที่ชอบจะเป็นเรื่องที่ตามมาเป็นเรื่องที่สองครับ ถ้าใครโชคดี มีโอกาสได้ประกอบอาชีพที่ตรงกับฝันในสมัยเด็กเป๊ะๆ แล้วชีวิตอยู่ดีมีสุข ถือว่ามีบุญและโชคดีสุดๆ

“สำหรับผม เมื่องานประจำค่อนข้างลงตัวระดับนึงแล้ว สิ่งที่ผมตามหาต่อคือทำสิ่งที่ตัวเองฝันไว้ครับ คือการสร้างผลงานของตัวเองจากสิ่งที่ตัวเองถนัด สนใจ และเป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่เด็ก กรณีวาดการ์ตูนของผมจะค่อนข้างง่ายหน่อยเพราะอุปกรณ์เป็นเพียงคอมพิวเตอร์กับโปรแกรม และทำอยู่ที่บ้านได้ แต่สำหรับผู้อ่านท่านอื่นๆ ผมก็เชื่อว่าถ้าท่านมีความใฝ่ฝันอะไรมานานแล้ว และอยากลองทำดูจริงสักครั้ง ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงลาออกจากงานประจำเสมอไปครับ บริหารเวลาจัดการงานประจำให้เสร็จเรียบร้อยตามที่ตกลงกัน เวลาหลังเลิกงานคือเวลาที่เรายังสามารถเอามาทำอะไรได้อีกเยอะมากๆ ครับ คิดซะว่าเป็นการฝึกฝนเพื่อหารายได้เสริมก็ได้ ผมรู้จักรุ่นพี่ผมหลายๆ คนที่เดินเส้นทางเดียวและอดทนในการฝึกฝนแบบเดียวกับผม ทุกคนเหนื่อยจริงครับ แต่ผมไม่เคยได้ยินคำว่า “ว่างไม่รู้ทำไร” จากปากคนเหล่านั้นเลย เจอกันทีไรก็มีประสบการณ์ใหม่ๆ มาเล่าสู่กันฟังทุกครั้งครับ

“โดยสรุปแล้ว ผมเชียร์ครับสำหรับคนที่ยังไม่มีอะไรทำนอกจากกลับบ้าน เริ่มทำอะไรสักอย่างกับเวลาหลังเลิกงาน อย่างน้อยก็เพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณของตัวเองและอาจเป็นรายได้เสริมได้ด้วยนะครับ มีแต่ได้กับได้”
ทัวร์โตเกียว
อะไร “เฟี้ยวเงาะ”?

จากผลงานเล่มที่หนึ่งมาจนถึงเล่มที่สาม อย่าง “มนุดกลม ทัวร์โตเกียว สุดเฟี้ยวเงาะ” ที่ลัดเลาะไปในปริมณฑลแห่งวัฒนธรรมกลางเมืองใหญ่ของดินแดนอาทิตย์อุทัยอย่างโตเกียว การท่องเที่ยวเดินทางมีความหลังฝังใจอะไรกับแดนดินถิ่นนี้ที่อยากไปสัมผัสให้รู้ชัดแก่สายตาหรือเปล่า เราถามด้วยความอยากรู้

“ผมไม่มีอะไรฝังใจกับโตเกียวครับ แต่ผมมีอะไรผูกพันหลายอย่างกับผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมต่างๆ ของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ของใช้ในชีวิตประจำวัน ตอนเด็กๆ ผมสงสัยมาก ว่าทำไมมันมาจากญี่ปุ่นทั้งนั้นเลย ขนาดเกมหรือการ์ตูนที่ผมชอบดูชอบเล่น ยังมาจากญี่ปุ่นมากกว่าการ์ตูนฝรั่ง จนทำให้ผมสนใจครับว่ามันมีอะไรดี(ฮ่าๆ) ตั้งใจสักครั้งอยู่แล้วว่าจะไปเยือนประเทศนี้ ดูที่มาของสิ่งต่างๆ ที่เราโตมาพร้อมกับมันสักครั้ง ส่วนที่หมายรอบนี้ที่เป็นโตเกียว เป็นเพราะข้อจำกัดเรื่องเวลาเดินทางที่เป็นราวๆ ปลายเดือนมีนาคม ซึ่งผมกับกบน้อยก็ลุ้นกันว่าซากุระน่าจะเริ่มบานแล้วที่โตเกียว ก็เลยกะว่าเที่ยวมันละแวกโตเกียวอย่างเดียวนี่แหละ เอาให้ครบ ถ้าคราวหน้าได้มาอีกก็ไปที่อื่นแทนได้เลยนอกจากนี้ยังมีเพื่อนๆ เรียนต่ออยู่หลายท่าน ก็เลยตกลงไปเที่ยวกันที่โตเกียวครับ”

การเดินทางแต่ละครั้ง ยอมฝากฝังรอยระลึกประทับไว้ในความทรงจำ ไม่หนึ่งอย่างก็หลายอย่าง และ “มนุดกลม” ก็ไม่อนุญาตให้ตัวเองได้รับการยกเว้นในข้อนี้

“ผมว่าโตเกียวเป็นเมืองใหญ่ที่ดูสะอาด เป็นระเบียบ การเดินทางสะดวก รถไฟอื้อซ่า เดินทางเท้าก็ง่ายไม่มีแผงลอย สะอาดตาดีมากๆ คนจะเยอะไปไหน นี่สายแล้วคนยังเยอะขนาดนี้เลยเรอะ อ๊าก ทำไมข้าวแพงแบบนี้ มื้อห่วยๆ ยังสองร้อยบาทเลยเรอะ กินที่ไทยได้อย่างดีเลยนะ อุ๊ยตาย แต่เลี้ยวร้านไหนก็อร่อยทั้งนั้นเลย…ยกเว้น พวกแนวโปรโมตเรียกนักท่องเที่ยวจัดๆ อร่อยสู้ร้านที่ดูธรรมดาทั่วไปไม่ได้ ตู้กดน้ำให้เลือกเพียบเลย ฯลฯ”

แล้วอะไรที่ถือว่าเฟี้ยวเงาะสุดๆ อืมมม…อะไรคือเฟี้ยวเงาะกันนี่? “เฟี้ยว เป็นภาษาวัยสะรุ่นสมัยคุณโจอี้ บอย รุ่งเรือง แปลว่าเจ๋งสุดๆ “เฟี้ยวเงาะ” ก็เป็นขั้นกว่าของเฟี้ยวไงครับฮาๆ” คนหนุ่มในนามมนุดกลม ว่า แล้วก็ต่อด้วยประสบการณ์ที่เขาเห็นว่า “เฟี้ยวเงาะฝุดๆ”

“เรื่องแรกคงเป็นเรื่องของกินครับ ที่นี่เน้นปรุงสดกินเลย ไม่มีแนวทำทิ้งไว้อุ่นแล้วส่งให้เด็ดขาดครับ คนอยากกินก็ต้องรอเท่านั้นครับ บางร้านไม่ง้อลูกค้ามากด้วยคือมีขายเท่านี้ต้องรอทำเท่านั้น ไม่งั้นก็ไม่ได้ทาน ทำให้คุณภาพของกินของเค้าอยู่ในระดับที่ไม่ธรรมดาเป็นส่วนใหญ่

“เรื่องที่สองจะเป็นพวกของอำนวยความสะดวกจุกจิกๆ ที่มันจะโผล่มาให้เราได้เล่นแบบจุกจิกๆ อย่างไม่คาดคิดครับ มันแสดงถึงการใส่ใจในรายละเอียดมากๆ พอผนวกกับเทคโนโลยีบ้านเค้าก็ทำให้มันเจ๋งได้ครับ เช่น เครื่องรอคิวรับอาหาร หน้าตาเหมือนป้ายคิวทั่วไป แต่มันจะดังที่โต๊ะเรา ให้ลุกไปเอาอาหารได้เลย ไม่ต้องยืนรอ อีกตัวอย่างก็จะเป็นพวกกล่องซ้อนกล่องส้อม ประตูเล็กประตูน้อย อันนี้ไปเห็นเองจะได้อารมณ์กว่ามากครับ

“เรื่องที่สามก็จะเป็นเรื่องมาสคอตครับ มองไปทางไหนไม่ว่าร้านจะเล็กจะใหญ่ยังไง ทุกห้างร้านต้องมีตัวการ์ตูนมาสคอตน่ารักๆ เสมอ บางร้านไม่ได้เป็นแนวน่ารักก็อาจเป็นแนวตัวหนังสือเท่ๆ ของตัวเองไป ซึ่งส่วนตัวผมเห็นแล้วชอบมาก ดูมีชีวิตชีวาน่ามองดี ขนาดฝาท่อระบายน้ำบางเมืองยังมีรูปการ์ตูนเลยครับ

“สุดท้ายคือมิวเซียมของสตูดิโอจิบลิครับ อันนี้ตรึงใจผมมาก เพราะเค้านำเสนอได้ประทับใจตั้งแต่กระบวนการผลิตให้เราเข้าใจได้อย่างง่ายว่า กว่าจะได้แอนิเมชันแต่ละนาทีต้องผ่านหยาดเหงื่อ ใช้ทักษะและความชำนาญอย่างยิ่งกว่าจะเสร็จ และยังมีกองหนังสืออ้างอิง ภาพวาดงานออกแบบฉาก ตัวละคร สตอรีบอร์ดเบื้องหลัง ที่ให้ทั้งความรู้และแรงบันดาลใจกับผู้เข้าชมอย่างดีครับ นอกจากนั้น มิวเซียมนี้ยังตกแต่งได้มนต์ขลังตามสไตล์ผลงานของสตูดิโอนี้อีกด้วย”
คัลเจอร์ ช็อก
กับสิ่งที่น่าลอกจากญี่ปุ่น

ในหนังสือเล่มทัวร์โตเกียวนี้มีการกล่าวถึง “คัลเจอร์ ช็อก” ด้วย อธิบายง่ายๆ คัลเจอร์ ช็อก ก็คงเป็นอาการคล้ายๆ การที่คนต่างถิ่นไปเห็นวิถีวัฒนธรรมของอีกถิ่นแล้วเกิดความรู้สึกมหัศจรรย์ระคนประหลาดใจ ทำนองนั้น…

“คงเป็นความมีระเบียบวินัยครับ คือถึงผมจะเป็นคนนนทบุรี แต่ส่วนใหญ่ก็เรียนกับทำงานอยู่กรุงเทพฯ สังคมเรามันจะแปลกๆ ตรงที่เราต้องกลัวคนเอาเปรียบ เวลาเราทำตัวตามมารยาทสังคมที่คุณครูสมัยประถมสอนสั่งกันมาอย่างดี แต่มันมักจะมีผู้ใหญ่ “เกรียนที่ใจ ไม่ใช่ทรงผม” บางคนที่เอาเปรียบคนอื่นครับ เช่น แซงคิว ลักไก่ ตีมึน และอื่นๆ ที่คาดว่าน่าจะเคยเจอะเจอกันทุกคน มันทำอารมณ์เสียเวลาที่เราโดนเอาเปรียบแล้วต้องไปโวยชาวบ้านบ้าง เพื่อรักษาสิทธิ์

“แต่ที่ญี่ปุ่น เหมือนมันมากับระบบประสาทเค้าเลยครับ ทุกคนมาแนวเดียวกันหมด จนผมเกร็งไปหมด แค่จะเดินทอดน่องในสถานีรถไฟเพื่อวินโดว์ชอปปิ้งตามประสาไฮโซรากหญ้า ยังไม่กล้าเลยครับ ทุกคนเร่งรีบกันมาก หรือแค่จะหาร้านกาแฟง่ายๆ นั่งพักทอดน่องจากการเดินอันเมื่อยล้าก็มีแต่ร้านกาแฟที่ราคาไม่สบายกระเป๋าเท่าไร และที่ช็อกสุดๆ คือ คนรุ่นลุงของเค้า โหด MAX ครับ ถ้าเราไปพลาดทำอะไรไม่เหมือนธรรมเนียมบ้านเค้า…โหดแบบต้องเกรงใจเค้าจริงๆ เล่ามากเป็นตัวหนังสือเดี๋ยวจะยาว ขออนุญาตขายของโดยการเชิญชวนให้ไปติดตามต่อในเล่มครับ อุอุ”

ประสบการณ์บางอย่างต้องสงวนไว้ เพื่อประโยชน์ในการขาย (555) แต่ที่เขายอมรับว่า น่าโยกย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเยอะๆ ก็มีอยู่ และมัน “สำคัญมากๆ”

“ระเบียบวินัยกับจิตสาธารณะนี่แหละครับ ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีเรื่องนี้ในจิตใจกัน บ้านเราถ้าจะเอาอย่าง ก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งจัดแบบรุ่นลุงแบบบ้านเค้าก็ได้ เอาแค่ตามกติกาสังคมกันสัก 80% นี่ก็หรูแล้วครับ เรื่องแบบนี้ทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนจริงๆ ต่อให้วันนี้ผมเกลี้ยกล่อมใครสักคนให้ล้มโต๊ะลุกขึ้นมาเปลี่ยนพฤติกรรม สังคมซึ่งเป็นภาพใหญ่ก็ไม่เปลี่ยนอยู่ดี เราทุกคนในฐานะชิ้นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ มีหน้าที่ช่วยกันทุกคนครับ ใครทำตัวไม่ดี ช่วยกันล้อมกดดันด้วยความดีเลยครับ”
***********************************

เคล็ดไม่ลับจาก “มนุดกลม”
เที่ยวญี่ปุ่นอย่างไร ไม่ให้หน้าแตก

“ผมว่าเตรียมหน้าแตกไว้เลยดีกว่าครับ (ฮา) หลักๆ ก็ขึ้นบันไดเลื่อน อยู่โตเกียวให้ชิดซ้ายเสมอ อย่าหันมาเมาท์กับเพื่อนไปมานะครับ อยู่ในสถานีอย่าเดินชิลเกะกะคนอื่น เดินชิลในห้างได้ตามปกติ ทิ้งขยะเค้าแยกประเภทนะครับ ดูสัญลักษณ์ให้ดี และที่นี่การต่อคิวนี่ต้องทำนะครับ ห้ามคุณหนูเหวี่ยงเริ่ดเชิดนะครับ ทุกคนต้องต่อคิวหมดตามกติกาสังคม

“ที่เหลือ หลักๆ ก็ให้ระวังมารยาทสังคมให้มากหน่อย ผมเคยเห็นคนไทยกลุ่มนึงไม่สบตา ไม่ตอบโต้กับพนักงานขับรถบัสที่จอดรถตรงป้ายและชะโงกหน้าถามอย่างสุภาพประมาณว่าจะไปสถานีมั้ยครับ คนไทยกลุ่มนั้นเมิน ไม่มองหน้าด้วยครับ ซึ่งผมนั่งอยู่ในรถรู้สึกอายมากๆ เลยครับ เพราะเค้ากลับเข้ามาบ่นในรถกับผู้โดยสารท่านอื่นๆ ด้วยในเชิงตำหนิ เพราะฉะนั้น ระมัดระวังเรื่องนี้ด้วยครับ สบตาผู้พูด ฟังไม่รู้เรื่องก็ตอบภาษาอังกฤษ หรือโบกมือไม่เอาไม่ไปอะไรก็ยังดีครับ ที่เหลือก็ตามคนญี่ปุ่นข้างหน้าครับ ถ้าสามสี่คนหน้าทำเหมือนกัน จงลอกอย่างมั่นใจครับ (ฮา)”

*******************************
คนเยอะขนาดนี้ เดินทอดน่องไม่ได้นะครับ
ทุกจังหวัดยังมีมาสคอตเลยครับ
บรรยากาศเมืองอากิฮาบาระของชาวการ์ตูน
มิวเซียมสตูดิโอจิบลิ ตกแต่งอย่างเปี่ยมจินตนาการ
รอคิวอย่างเป็นระเบียบ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องมาจัดให้
อาหารร้านกินด่วนข้างทาง หน้าตาธรรมดาแต่อร่อย

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE