ช่างภาพมืออาชีพกำลังจะตาย? : คามิน เจริญสุข


Tao Liu ช่างภาพมือสมัครเล่นชาวจีนวัย 30 ต้นๆ เริ่มเป็นที่รู้จักในระดับโลกเมื่อไม่นานมานี้จากผลงานภาพถ่ายแนววิถีชีวิตชาวบ้านที่ทำให้ช่างภาพมืออาชีพต้องตกตะลึงกับความสามารถในการจัดวางและหยิบจับเรื่องราวมาถ่ายทอด ที่น่าทึ่งขึ้นไปอีกคือเขาเรียนถ่ายภาพจากอินเทอร์เน็ต นิตยสาร รวมไปถึงหนังสือต่างๆ และถ่ายมันด้วยกล้องดิจิตอลคอมแพคราคาย่อมเยา แต่ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ อาชีพเดิมของเขาเป็นเพียงพนักงานตรวจมิเตอร์น้ำประปา!
หลิวคือตัวอย่างที่ว่า ยุคนี้ใครๆ ก็ก้าวสู่ความเป็นช่างภาพระดับ ‘มืออาชีพ’ ได้ ขอเพียงแค่คุณมีกล้อง มีความรู้ในการถ่ายภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี และรู้จัก ‘แชร์’ ให้ถูกที่ถูกทาง
แต่เอาเข้าจริงแล้ว เส้นทางสู่ความเป็นช่างภาพ ‘มืออาชีพ’ มีอะไรมากกว่านั้น!
คามิน เจริญสุข หนุ่มวัยใกล้ 30 ปี ก็เหมือนคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่ต่างค้นหาว่าตัวเองอยากจะ ‘มีอาชีพ’ อะไรในอนาคต คำตอบชัดเจนหลังจากเรียนจบด้านนิเทศศิลป์ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และทำงานในวงการโฆษณาอยู่พักหนึ่งก็คือ เขาอยาก ‘เป็นช่างภาพ’ คามินเลือกเรียนต่อปริญญาโทที่ Academy of Art University เพื่อที่จะตอบคำถามให้กับตัวเองว่า เขาสามารถเป็น ‘มืออาชีพ’ ได้หรือไม่?
อนาคตไม่มีใครรู้… แต่ที่แน่ๆ หนุ่มไทยลูกกรุงผสมลูกทุ่งอย่างเขาก็คว้า รางวัล Best of Show Awards จากการประกวดรายการ Spring Show in USA ประจำปี 2014 มาครองได้ หลังเฉือนผลงานที่ส่งเข้าประกวดกว่า 5,000 ชิ้น
สิ่งที่คามินค้นพบ และมุมมองต่ออาชีพช่างภาพของเขานั้นน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งเรื่องของความเป็นมือชีพ ทั้งเรื่องของการแก่งแย่งแข่งขัน การปะทะกันทางความคิดระหว่างช่างภาพรุ่นใหม่กับช่างภาพรุ่นใหญ่ รวมไปถึงข้อสังเกตที่ว่า

ช่างภาพมืออาชีพกำลังจะตาย?

มีบางคนบอกว่าการไปเรียนเมืองนอกเหมือนการชุบตัว มองมุมนี้ยังไง
ถ้าไปเรียนเพื่อกลับมาเป็นช่างภาพชั้นนำ มองแบบนั้นฉาบฉวยไป คือเท่าที่ผมเรียนมามันก็คือศิลปะ ค้นหาตัวเองให้เจอ ไม่ใช่ว่าชอบสไตล์ไฟคนโน้น แสงคนนั้น สี อารมณ์ โทน เฟรม คอมโพสประมาณนี้ เราถ่ายตามแล้วยึดมาเป็นสไตล์เรา มันไม่ใช่ มันคือการหาตัวเองว่า งานเราต้องมีพลังที่สุด มาจากตัวเรา ไม่มีใครรู้จักตัวเรามากเท่าตัวเราแล้ว ต่อให้เป็น commercial เราก็ต้องใส่ตัวเองเข้าไปในระดับหนึ่งเลย

เขาสอนยังไงถึงทำให้เรามีวิธีคิดแบบนี้
ใช้วิธีเอาผลงานมาวางกันแล้วก็วิจารณ์กันหนักๆ เอาให้ตายกันไปข้าง ห่วยก็ห่วย จิกกัดกัน พวกอาร์ติสต์เขาปากจะร้ายอยู่แล้ว เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันไว้เยอะ อย่างถ้าเขาสั่งงานมาโปรเจ็กต์นี้ 5 รูป ผมจะทำให้เยอะกว่าชาวบ้าน คือเราไปเรียนตั้งไกล ถ้าเราทำงานแค่ผ่านๆ ไปมันไม่ได้อะไร เราตั้งเป้าว่าถ้าไม่ได้ที่หนึ่งของคณะเราก็จะกลายเป็นช่างภาพระดับล่าง ซึ่งในวงการมีเยอะมาก เราจะนั่งติสต์อย่างเดียวไม่ได้

ในยุคที่ทุกคนก็มีกล้องถ่ายภาพในมือถือ เทคนิคต่างๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้ในอินเทอร์เน็ต แถมยังมีโปรแกรมแต่งภาพให้สวยได้ง่ายๆ คิดว่าอาชีพช่างภาพยังทรงคุณค่าอยู่อีกไหม
มันเป็นคำถามโลกแตกเหมือนกันนะ (หัวเราะ) โอเค ถ้ามีกล้อง ใช้กล้องเป็น แต่งรูปเป็น งาน post-production ก็สามารถเรียนรู้ได้เองตาม online tutorials ต่างๆ แล้วถามว่าอาชีพช่างภาพจะยังทรงคุณค่าอยู่ไหม? แน่นอนครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องภูมิใจในอาชีพที่เราทำก่อน ซึ่งผมก็ภูมิใจนะที่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นช่างภาพ มันใช้เวลานานกว่าจะกล้าพูดคำนี้ แล้วการที่อาชีพช่างภาพจะไม่ทรงคุณค่านั้น มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่เจอมากับตัวและถือว่าไม่ให้เกียรติอย่างมากเลยคือ มีคนมาจ้างเราแต่อยากได้งานเหมือนช่างภาพคนอื่น ผมก็ถามว่าทำไมไม่ไปจ้างคนนั้นล่ะ เขาบอกว่าเพราะราคาเราถูกกว่า เจอแบบนี้ผมเลี่ยงเลย ไม่ได้อีโก้อะไรนะ แต่ชอบคนที่มาจ้างเพราะชอบงานเราจริงๆ

ในคำว่า 'มืออาชีพ' สำหรับช่างภาพรุ่นใหม่อย่างคุณ ต้องมีอะไรบ้าง
ผมว่าที่สำคัญคือ สามารถบรรลุและตอบโจทย์ message ของงานให้ได้ เพราะการถ่ายภาพเป็นการสื่อสาร เราต้องหาตัวตนให้เจอไม่ว่าจะนานแค่ไหน 1 ปี 2 ปี หรือแม้ 10 ปี ให้เกียรติอาชีพนี้และเพื่อนร่วมสายอาชีพ อย่าคิดว่าตัวเองเก่งครับ คุณอาจจะไม่รู้ว่าข้างนอกนั่นมีคนที่เหนือกว่าคุณอยู่เยอะแบบที่คุณไม่เคยคิดมาก่อน อย่ามัวแต่ปิดหูปิดตา เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ศึกษางานจากศิลปินว่าเขาคิดงานยังไง ถ่ายทอดยังไง ไม่ใช่มัวแต่ศึกษาเรื่องกล้องใหม่ๆ มีกล้องดี กล้องรุ่นใหม่ ไม่ได้ทำให้ถ่ายภาพเก่งขึ้น ถ้าจะให้ตรงก็คือ ผมว่าคนสมัยนี้มัวแต่ให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีมากกว่าแก่นของการถ่ายภาพจริงๆ สิ่งที่สำคัญสำหรับความเป็นมืออาชีพนั้น ควรจะเป็นการสื่อสาร message ผ่านทางภาพถ่ายได้อย่างสมบูรณ์และสวยงาม

ช่างภาพรุ่นใหม่หลายคนตั้งแง่กับงานคอมเมอร์เชียลเพราะเห็นว่าต้องทำตามลูกค้า ไม่มีคุณค่าในเชิงศิลปะ มองยังไงเกี่ยวกับเรื่องนี้
งั้นก็ไปเป็นศิลปินสิครับ (หัวเราะ) พูดเล่นนะ เพราะศิลปินก็ยังต้องทำงานตามโจทย์เลยครับ เขามีคอนเส็ปต์ของเขา ซึ่งผมว่างานคอมเมอร์เชียลและงานไฟน์อาร์ต มีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ คุณต้องตอบโจทย์ให้ได้ มันต่างกันที่เป็นโจทย์ของเขาหรือโจทย์ของเรา
โจทย์ของเราอาจมีอิสระมากกว่า สามารถคิดหรือทำอะไรก็ได้ ส่วนโจทย์ของเขา มันแน่อยู่แล้วที่จะมาพร้อมกับเงื่อนไขต่างๆ แต่ถ้าคุณใส่ความเป็นตัวตนในโจทย์ของเขาได้นี่ถือว่าสุดยอด ผมว่าคุณค่าทางศิลปะในการถ่ายภาพมันคือการที่เราตอบโจทย์โจทย์นั้นได้มากเพียงใด

คุณเรียนศิลปะการถ่ายภาพ แล้วต่อต้านงานคอมเมอร์เชียลไหม
จนสิครับ (หัวเราะ) ติสต์อย่างเดียวไม่ได้ เราสามารถเอาตัวเราใส่ไปในงานคอมเมอร์เชียลได้นะ ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องคำว่าแมส อินดี้ หรือฮิปสเตอร์ มันเป็นยุคที่ตามๆ กันไป เป็นแค่สไตล์เท่านั้นเอง

จำเป็นไหมที่งานภาพที่ดีนั้น จะดียิ่งขึ้นไปอีกเพราะชื่อเสียงของช่างภาพ
อันนี้ผมไม่รู้ครับ เพราะยังไม่มีชื่อเสียง (หัวเราะ) ส่วนตัวแล้วมีทั้งจริงและไม่จริง เพราะความมีตัวตนของศิลปินเกิดขึ้นเพราะเขาสร้างชื่อมา เขาค้นหาตัวเองจนเจอ มีภาพงานเก่าๆ ติดตาคนดู และงานยังไปถึงผู้เสพได้ง่าย ส่วนที่ไม่จริงเพราะว่าเราทุกคนไม่สามารถสร้างงานที่ดีได้ทุกงาน ต้องมีพลาดกันบ้าง เปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนกับผู้กำกับหนัง สร้างบางเรื่องออกมาดีมาก พอเรื่องถัดไปดับก็มีเยอะแยะ แต่เรื่องแบบนี้ก็ไม่แน่ในบ้านเรานะ เพราะคนบ้านเราจะชอบยกยอคนมีชื่อเสียงอยู่แล้ว

แล้วชื่อเสียงของช่างภาพมีอิทธิพลต่อการสร้างงานมากน้อยแค่ไหน
มีมากครับ ผมว่าถ้าเราเคยสร้างงานที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ความกดดันในงานต่อๆ ไปจะคูณ 2 ครับ หรือมันจะคูณไปเรื่อยๆ ครับ ส่วนตัวผมว่า ยิ่งความกดดันมากเท่าไร พลังในการสร้างงานจะเยอะขึ้นครับ มันจะยิ่งขับดันเราไปให้ไกลขึ้น

อาชีพช่างภาพมีมาเป็นร้อยปีแล้ว ถามจริงๆ คิดว่ามันมาถึงทางตันหรือยัง
มันตันตั้งนานแล้วนะ ตั้งแต่ดิจิทัลเข้ามา มันอาจจะตันเรื่องเทคนิค แต่มันไม่ตันเรื่องความคิดหรอก คนดิ้นหาทางปล่อยของทางอื่นเยอะแยะ บางทีเรามองมันเป็นเทรนด์มากเกิน ตอนนี้กล้องราคาถูกลง โฟโต้ช็อปก็ใช้งานได้ดี คอมพ์ก็แรง ทีนี้ก็แข่งกันที่สมองแล้ว ถึงได้บอกว่าที่โน่น (Academy of Art University) การค้นหาตัวเองสำคัญที่สุด เขาไม่สอนเรื่องเทคนิคเลยนะ โฟโต้ช็อป 90% เราเรียนเอง เขาจะหยอดเรื่องการตลาดบ้าง แต่หลักๆ คือสอนให้เราค้นหาตัวเองให้พบ

ถ้าอย่างนั้นกระบวนคิดของคนรุ่นต่อไปจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ประกาศนียบัตร?
อย่างเราไม่ได้เรียนแบบสนใจเกรดอยู่แล้ว เราสนใจงานซึ่งมันสำคัญกว่าเกรดอีก ถ้างานออกมาน่าขยำมาก แต่เกรดได้ 4 ใครจะมาจ้าง ที่โน่นเขาจะจ้างเพราะงาน เขาจ้างเพราะตัวตน ไม่ได้จ้างเพราะราคาหรืออุปกรณ์ครบ

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ช่างภาพมืออาชีพในเมืองไทยกำลังจะตาย คุณคิดว่าเกิดจากอะไร
มีหลายเรื่องครับ แต่เรื่องที่ผมเห็นได้ชัดคือ มันเป็นอาชีพที่ต้องใช้อุปกรณ์ ต้องลงทุน แต่ช่างภาพด้วยกันเองมาตัดราคา มาทำร้ายกันเอง โดนกดราคาบ้างอะไรบ้าง ลูกค้าต้องการงานถูกแต่อลังการ เรื่องพวกนี้น่ากลัวสำหรับวงการช่างภาพมากครับ ถ้าเราได้ค่าตอบแทนที่น้อยกว่ามาตรฐาน แต่การที่ต้องลงทุนลงแรงยังเท่าเดิมหรืออาจจะแพงขึ้นด้วย มันคงไม่ใช่แค่จะตายนะครับ แต่มันคงตายไปเลย

อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากไปเรียนต่อเมืองนอกบ้าง
ฝากเหรอ โชคดีนะ (หัวเราะ) มันเหนื่อยนะ อย่างมหา'ลัยผมมันรวมคนจากทั่วโลกเลย ความจริงคนอเมริกันมันไม่ได้เรื่องหรอก จีน ยุโรป รัสเซียนี่น่ากลัวมาก ส่วนคนไทย… ผมว่าติดนิสัยคนไทยมามากไปหน่อย อยู่ไปวันๆ ทำงานส่งอาจารย์ จบ ไม่ไฟต์เลย มันต้องสู้หน่อยสิวะ

เรื่อง : วรชัย รัตนดวงตา
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว

คามิน เจริญสุข
ผลงานของคามินที่ได้รางวัล Best of Show Awards จากการประกวดระดับมหาวิทยาลัยในรายการ Spring Show in USA ประจำปี 2014 นั้นมีชื่อว่า ‘The Mind Journal’ เป็นบทบันทึกความรู้สึกนึกคิดของเขาระหว่างอาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโก ได้รับอิทธิพลแบบเต็มๆ มาจาก René François Ghislain Magritte ซึ่งเจ้าตัวบอกว่ามีทั้งคนชอบมากและเกลียดเข้าไส้ ทุกวันนี้คามินยังคงอาศัยอยู่ที่ซานฟรานฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าอยากลอง ‘ใช้ชีวิต’


user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE