คิดแย้งย้อนก่อน 'เชื่อ – แชร์' กับ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

‘สังคมก้มหน้า’ วลีที่ไม่ได้มีความหมายจำกัดวงเพียงพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือจำพวกแชท หรือติดตามความเคลื่อนไหวบนโลกอินเทอร์เน็ตประเภทไม่ใส่ใจสิ่งรอบตัวเท่านั้น เพราะปัจจุบันมีหนึ่งความน่ากลัวกำลังบ่มเพาะอยู่ในสังคมออนไลน์ และขยายออกไปอย่างรวดเร็วคือการก้มหน้าก้มตา ‘เชื่อ’ และ ‘แชร์’ โดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง

mars ชวนท่านผู้อ่าน ‘เงยหน้า’ คิดก่อนแชร์ เพื่อสร้างกระบวนความรู้ใหม่ให้กับโลกออนไลน์ที่ไม่ใช่เพียงเผยแพร่เพราะแค่เชื่อ หรือศรัทธา

เมื่อกล่าวถึงความเป็นไปในสังคมยุคหลับหูหลับตาแชร์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ชื่อ เจ้าของผู้ใช้เฟสบุ๊ค ‘Jessada Denduangboripant’ น่าจะอยู่อันดับต้นๆ ในฐานะผู้ให้ความกระจ่างสำหรับเรื่องราวซึ่งเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตรรกะทางวิทยาศาสตร์

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเฟสดังกล่าวคือหนึ่งในผู้ที่กำลังเฝ้ามองความเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลด้วยความห่วงใย ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ท่านพยายามค้นหาคำตอบ เพื่อบอกเล่าว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่กำลังแชร์กันอย่างสนุกสนานนั้นคืออะไร

กระบวนการคิดบ้านเรากำลังมีปัญหา
ผมเป็นนักเรียนทุนวิทยาศาสตร์ กลับมามาสอนหนังสือ ทำงานวิจัย ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบของมหาวิทยาลัย หรือเผยแพร่ผลงานทั่วๆ ไป คนเริ่มรู้จักผมตอน GT 200 ซึ่งเป็นการจับพลัดจับผลูมากกว่า ก่อนเป็นข่าวดังมีความเคลื่อนไหวอยู่หลายเดือนบนห้องหว้ากอของพันทิป มีจังหวะที่สื่อต่างประเทศคือ BBC เขาเล่นเรื่องนี้ สื่อไทยพอนำเสนอบ้างก็มาตามดูว่าใครพูดถึงเรื่องนี้ แล้วพบบทความของผมจึงเริ่มเป็นที่รับรู้ในหน้าสื่อ

ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมเรียนรู้ว่าวิทยาศาสตร์ในไทยมันมีปัญหานะ เราคิดว่าแค่เรียนหนังสือเฉยๆ แต่ทำไมคนในสังคมไม่มีกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ เรื่อยไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เขาใช้ตอบปัญหา พิจารณาเรื่องต่างๆ ไม่ใช้กระบวนการนี้เลย อาศัยความเชื่อ ศรัทธามากกว่า จากนั้นก็เริ่มตอบปัญหาบนพันทิปมากขึ้น ยิ่งทำให้เห็นว่าสังคมไทยมีเรื่องหลอกๆ เยอะ

ในพันทิปมีกิจกรรมอยู่เป็นระยะๆ มีการเปิดโปงเรื่องของโรงเรียนปิดตา อ้างว่ามีพลังจิต เหรียญควอนตั้ม มันมีอะไรเข้ามาเรื่อยๆ เพิ่งจะมีช่วง 2 ปีหลังผมเริ่มเล่นเฟสบุ๊คมันมีจุดเปลี่ยนเหมือนกันคือ พอเราพูดออกมาแล้วมีคนฟังมากขึ้นเรื่อยๆ คนในสังคมไทยอยากรู้ว่าเรื่องที่เห็นนั้นจริงเท็จแค่ไหน ยิ่งมาช่วงไม่กี่เดือนหลังคนรู้จักผมมากขึ้น คุ้นเคยชื่อ อ.เจษฎา มากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการแชร์ว่าอะไรไม่จริง ไม่จริงบ้าง

คนเรามักสนใจเรื่องราวที่เป็นลบมากกว่า
ในส่วนของเฟสบุ๊คผมว่ามันเป็นพัฒนาการของสื่อมากกว่ายังไม่ใช่ดาบสองคมอย่างชัดเจน เพราะเรื่องการสื่อมันมีความเป็นดาบสองคมในตัวอยู่แล้ว แม้กระทั่งหนังสือเรียนด้วยซ้ำถ้าถูกเขียนมาผิดๆ หรือโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ มันมีพัฒนาการมาสู่ยุคที่ข้อมูลข่าวสารวิ่งเร็วมากกว่าเมื่อก่อนเยอะ ต่างจากยุคฟอเวิร์ดเมล ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง หรือ เล่นในพันทิปต้องรอให้มีคนมาดู แต่มาช่วงโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ มันอยู่กับมือเราเลย

เมื่อก่อนผมแอนตี้มากนะเพราะเห็นคนอื่นเล่นแล้วมันติด คือข้อมูลข่าวสารมันเป็นอะไรที่ไวมาก แล้วโดยปกติจิตใจมนุษย์ ข้อมูลอะไรที่มันเป็นลบเรากลับสนใจมากกว่าโดยธรรมชาติ อะไรมีสีสัน ดูแปลก ดูน่ากลัว หรือรู้สึกต้องบอกคนอื่นต่อเราจะอยากแชร์ชาวบ้าน ตรงนี้ถ้าจะย้ำอีกครั้งว่าเป็นดาบสองคม ก็ต้องบองกว่าด้านโทษมันแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหน้าที่ผมคือทำให้ด้านที่เป็นโทษมันบิ่นหน่อยซิ แกล้งถูให้มันทื่อเล่น บอกว่าไอ้นี่ไม่จริง แล้วถ้าเราแชร์ออกไปมันจะมีปัญหาอะไรบ้างหรือเปล่า

ความเชื่อในแบบไทยๆ
ผมว่าเราหลงทางนะเราไม่ได้เรียนรู้วิชาการต่างๆ บนพื้นฐานที่มันถูกพัฒนาขึ้นมา ในต่างประเทศเราจะเรียนรู้ว่ามันเกิดการแก้ไขอะไรบ้าง อย่าสมมติผมบอกว่า ในอดีตคุณไม่เคยรู้เรื่องแรงโน้มถ่วงเลย วันหนึ่งมีนิวตั้นมาคิด แล้วต่อมาคนก็เรียนรู้ว่านิวตั้นมีอะไรผิดบ้าง ไอน์สไตน์บอกอะไรบ้าง แล้วเราก็เรียนรู้ว่าไอน์สไตน์มีจุดบอดอะไร ตรงนี้วิทยาศาสตร์คือการเรียนรู้ว่ามีความผิดพลาดอะไรบ้าง แล้วก็แก้ไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราคือเรียนแต่ตัวคอนเทนส์เลย ไม่เรียนประวัติศาสตร์ของมัน ถูกสอนให้ท่องจำเกือบทุกเรื่อง แม้แต่วิทยาศาสตร์ซึ่งมันควรจะเป็นวิชาที่มีการโต้แย้งสูง มันกลับกลายเป็นแค่ท่องจำ

ดังนั้นกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์จึงไม่ถูกปลูกฝังในบ้านเรา แล้วผมก็เพิ่งมาเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าตั้งแต่เด็กโตมาเราไม่เคยถูกปลูกฝังเรื่องนี้เท่าไหร่ เราถูกสอนไม่ให้เถียงครูในห้องเรียน มันแทบไม่ต่างจากชั้นเรียนศาสนา ถ้าเทียบก็ไม่ต่างจากเมื่อก่อนสมัยอยู่วัด คือหลวงพี่สอน ทุกคนท่องจำ ห้องเรียนของเราตั้งแต่ไหนแต่ไรมาก็เช่นกัน อาจารย์สอน ทุกคนท่องจำ ทั้งหมดอยู่แค่ในตำราเท่านั้น ผิดจากตำราไม่ได้ ตรงนี้มันไม่ใช่วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ แล้วมันก็ฝังอยู่ในใจเราโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นว่าเราพร้อมจะเชื่อในสิ่งที่เราศรัทธา หรือคนที่เราศรัทธา มากกว่าเชื่อเพราะว่าเขาโต้เถียงมาแล้วว่าเหตุผลมันดีกว่า หรือเราไม่สามารถจะเปลี่ยนใจเชื่อว่า คนที่เราเชื่อก็ผิดได้

เหมือนถูกปลูกฝังมาทั้งชีวิต เราไม่เคยโดนสอนว่าครูก็ผิดได้ เราเชื่อว่าครูถูกเสมอ เพราะอย่างไรครูต้องให้เกรดเรา พออยู่ในสังคม เจ้านายต้องถูกเสมอ ผู้นำถูกเสมอ คนที่เราศรัทธาเขาแล้วถูกเสมอ ทั้งหมดนี่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์เลย
มีช่วงที่ผมได้ไปเรียนในประเทศอังกฤษ เริ่มมี culture shock เล็กน้อย เขาไม่เหมือนเรานะ คือเขาชอบการโต้เถียงกันมาก ดีเบตกัน ไม่ใช่แค่เล่นคำสวยงามด้วย แต่เอาเนื้อหามาแย้งกันทีละประเด็น เห็นเลยว่าจริงๆ ควรจะเป็นอย่างไร แล้วยังอยู่ร่วมกันได้ แต่ของเราพอเริ่มต้นจะเถียงก็กลัว ก็เกลียดกันแล้ว ตรงนี้พอไม่โต้เถียงจึงเพาะนิสัยของการเชื่อตามๆ กัน

ความเชื่อที่ผิดๆ มาจาก คติ และ อคติ
คติ และอคติ ตรงนี้มันคือคำคำเดียวกันสำหรับผมนะ เพราะสุดท้ายมันก็มาจากความเชื่อคือศรัทธา วิทยาศาสตร์มันต่างจากสาขาอื่นตรงที่เราศรัทธาไม่ได้ คุณต้องพร้อมทำใจยอมรับว่ามันมีสิทธิ์ผิด เวลาผมไปเดินสายเป็นวิทยากรตามโรงเรียน ผมชอบนะที่จะให้เขาเห็นว่าในตำราเรียนเขียนอย่างนี้ แล้วเชื่อไหมว่าจริง เคยทดลองกับตัวเองหรือยัง บางเรื่องรู้เลยว่าไม่เห็นตรงตามตำรา แสดงว่าที่สอนอยู่ผิดสิ ตำราผิดสิ ผมพยายามชี้ให้เขาเห็นว่ามันพลาดกันได้ ดังนั้นมันจึงมีทั้งคติ และอคติอยู่ด้วย คือเชื่อก่อนเลยว่าใช่ ต้องไม่ใช่ พ่อแม่บอกมา เพราะปู่ย่าบอกมาอีกที ยกตัวอย่างเรื่องผงชูรสที่บอกอันตราย เพราะคนอื่นบอกมา

วิทยาศาสตร์ลวงโลกต้นธารความเชื่อที่ผิดเพี้ยน
ซูโดไซน์ (pseudoscience) คำนี้จริงๆ ในต่างประเทศมีมานานแล้ว และผมเองก็ไม่เคยได้ยินจนกระทั่งมาจับเรื่อง GT200 พอเราศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศว่าจัดการเรื่องแบบนี้อย่างไร ก็จะเห็นว่าเขายกคำนี้ขึ้นมาบ่อย ที่เราเรียนหนังสืออยู่ทุกวันนี้ไม่ได้เรียนรู้ว่า วิทยาศาสตร์มีแท้ๆ และทั้งที่มันลวงอยู่ด้วย

Pseudo แปลว่าหลอกลวง เทียม ผมมาให้คำจำกัดความเองว่าวิทยาศาสตร์ลวงโลก ภาพรวมคือวิทยาศาสตร์เทียม ความหมายมันคืออะไร ความหมายคือเขาบอกว่าไอ้นี่ดี ไอ้นี่ใช้ได้ หรือช่วยคุณได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์บางอย่างที่คุณเองก็ยังฟังไม่รู้เรื่อง มันฟังดูดีมากอย่าง ควอนตั้ม นาโน แม้กระทั่งคำว่าออแกนิค เอาเป็นว่าอะไรที่ดูแล้วเป็นวิทยาศาสตร์จะถูกยกเข้ามา เราไม่รู้ในรายละเอียด แต่เราสนใจในเชิงการแอบอ้างของเขา

หรือแม้แต่ทดลองให้ดู มีการสาธิต แล้วเรารู้สึกว่าเห็นกับตาแล้วมันต้องใช้ได้สิ แต่เราไม่ตั้งคำถามว่าทฤษฎีมันอธิบายยังไงคือวิทยาศาสตร์แท้จริงมันต้องอธิบายได้ อย่างมีกระป๋องเปล่าๆ มีเสาอากาศคุณบอกหาระเบิดเจอ โชว์ได้ด้วยว่าหาเจอ แต่อธิบายไม่ได้ว่ามันหาเจอได้อย่างไร มันเริ่มไม่ใช่วิทยาศาสตร์แล้ว เมื่อก่อนก็ไม่สนใจมองในมุมนี้นะครับ แต่พอมาเห็นข้อมูลบางเรื่องดูเป็นวิทยาศาสตร์แบบซูโดไซน์ ภาพใกล้ตัวเราที่สุดคือการหลอกขายของ ถ้าเราเปิดทีวีดู โดยเฉพาะช่องดาวเทียมทั้งหลายมันจะมีสินค้าสารพัดอย่างดูเป็นวิทยาศาสตร์มาก อย่างน้ำดื่มมีพลังแม่เหล็ก แต่มันทำงานอย่างไร เปลี่ยนแปลงได้ไง เราไม่รู้ แต่คนที่เขาอ้างซึ่งแต่งตัวดีๆ อาจเป็นอดีตคุณหมอ บอกว่าเคยใช้กับคนไข้มาแล้ว แต่ไม่มีผลการวิจัยใดๆ ที่สำคัญคือเขาไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นเข้าไปโต้แย้ง วิทยาศาสตร์ที่แท้จริงทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ผมอยู่อีกซีกโลกผมสามารถแย้งอีกคนได้ ถ้าผมมีงานวิจัยที่มันขัดแย้ง แต่กับซูโดไซน์ไม่มีตรงนี้ กลายเป็นเรื่องที่คุณต้องเชื่อ แล้วมันอยู่รอบตัวเรา ต้องระวัง

มีซูโดไซน์ด้านกลับด้วยนะครับ ไม่ใช่การขายของ แต่มันทำให้เรากลัวแทน คือไม่กล้าใช้นั่นนี่ ไม่กล้าใช้ ไม่กล้าใช้ไมโครเวฟ ไม่กล้าใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่กล้าใช้ผงชูรส หรือพืช GMO เป็นต้น ตรงนี้ต้องมองว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่ เช่นพอคุณไม่กล้าใช้ตัวนี้จึงต้องใช้สินค้าตัวอื่นแทน อย่างกระแสที่ขำๆ เรื่องใช้ไขมันพืชมันแย่ มันเลว ไปใช้ไขมันสัตว์ดีกว่า แสดงว่าเขากำลังโปรโมทไขมันสัตว์อยู่หรือเปล่า

คำถามคือแล้วเราจะตัดสินใจได้อย่างไรกับเรื่องต่างๆ ผมเองยังค่อนข้างเชื่อสิ่งที่เป็นกระแสหลักอยู่ คือเรารู้ว่าวิทยาศาสตร์มันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่เราจำเป็นต้องพึงพาหน่วยงาน หรือองค์กรหลัก แต่ต้องไม่ทิ้งกลุ่มที่เป็นกระแสรอง หรือทางเลือกเราฟังหูไว้หูได้ แต่มันไม่จำเป็นต้องเชื่อในสิ่งนั้น สมมติผมบอกว่าคนแชร์กันมาว่าไมโครเวฟมันอันตราย มีคลิปวิดีโออะไรก็ตามดูน่าเชื่อถือ แต่ในขณะเดียวกันตาชั่งด้านหนึ่งมันเป็นแค่ของที่เขาแชร์กันมา ในขณะที่ตาชั่งอีกด้าน WHO (องค์การอนามัยโลก : World Health Organization) เขาการันตีว่าไมโครเวฟใช้ได้ไม่อันตราย ผมควรจะชั่งใจอย่างไรดี เป็นผมก็ยังคงเชื่อในองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ หรือนักวิทยาศาสตร์ตัวจริงควรออกมาพูดสิ่งที่คิดประกอบข้อมูลที่มีอยู่ว่ามันถูกต้อง ดีกว่ารู้อะไรที่มันกลวงๆ จากคนที่อ้างตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือคนไม่รู้จริง
ภาพประกอบจาก Facebook : Jessada Denduangboripant
ติดตามได้แต่อย่าศรัทธาในตัวผม
ขณะผมกำลังรณรงค์ว่าอย่าไปเชื่อเรื่องสื่อศรัทธาจนเกินไป กลับกันก็อย่าเพิ่งมาศรัทธาในตัวผม ผมเริ่มกลัวนะพอโพสต์อะไรปุ๊บมีคนกดไลค์ขึ้นมาทันที แสดงว่านี่คุณยังไม่ได้อ่านเนื้อหาเลยนะ คุณอาจเห็นแค่หัวข้อ หรือภาพ แล้วไลค์ แชร์ อันนี้อันตรายนะ คุณรู้ได้อย่างไรว่าผมถูกต้อง แล้วถ้ามานั่งดูจริงๆ จะเห็นว่าเวลาผมโพสต์แต่ละครั้งจะมีคนมาแย้งนั่นนี่ แล้วถ้าเขาถูก หรือผมมีอะไรที่ไม่ครบถ้วนผมจะกลับไปแก้

หลายๆ เนื้อหาเราไม่ใช่ผู้รู้ 100% ในทุกเรื่อง ผมไม่มองตัวเองเป็นผู้รู้ด้วยนะ แค่เป็นนักสื่อสารคนหนึ่ง ผมพยายามจะย่อยอะไรที่เข้าใจยากให้สังคมเข้าใจง่ายขึ้น และรวดเร็วพอที่จะให้ใครช่วยตอบเรื่องบางเรื่อง
ที่ผ่านมาในสังคมไทยคือสังคมที่ไม่มีใครช่วยตอบเรื่องต่างๆ อย่างกรณีรอยพญานาค คุณเชื่อว่ามีจริง รอยเกิดขึ้นจริงโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ดังนั้นเรามาเรียนรู้เรื่องวิธีการแย้งสังคม เช่นผมแชร์เรื่องราวมาจากน้องอีกคนเรื่องเจาะเลือดว่าต้องนิ้วไหน ผมก็ช่วยเขาขยายว่าที่เขาแย้งนั้นน่าสนใจ แล้วตอนบ่ายก็มีคุณหมออีกคนมาแย้งกับผมว่าข้อมูลมันเป็นแบบนี้ ผมก็เออยิ่งดีเลยนี่คือวิทยาศาสตร์ มันต้องโต้แย้งกันตลอดเวลา

ตอนนี้มีคนตามเฟสผมเป็นแสน เรื่องที่ผมโพสต์มันต้องไปถึงผู้รู้สักคนแน่ๆ เราเองก็ต้องระวังตัวตลอดเวลาว่าสิ่งที่เราสื่อออกไปมันมีสิทธิ์ผิดได้ ตรงนี้ผมต้องทำการบ้านประมาณหนึ่ง มีเพื่อนที่เป็นหมอเป็นอะไรบ้างก็จะถามก่อน แต่ก็มีที่ผมล่อเป้าด้วย คือโพสต์แล้วอยากรู้ว่าคนอื่นคิดเห็นอย่างไร ที่น่าห่วงคือตอนนี้เป็นเรื่องของสื่อ เพราะหลายสื่อเริ่มตามผม ถึงขั้นเกาะติด เวลาผมโพสต์อะไรก็นำไปต่อยอดเป็นข่าวเลย ซึ่งมันมีสิทธิ์จะผิดได้ แล้วถ้าคุณเอาไปใช้มันผิดมันโดนทุกคนเลยนะ เผลอๆ กระทบภาพของวิทยาศาสตร์ และวิชาการด้วย
ผมทั้งใจกว้าง และใจแคบประมาณหนึ่ง คือเปิดให้เฉพาะสถานะเพื่อนคอมเม้นท์เท่านั้น มีคนถามว่าเปิดเป็นเพจเลยได้ไหม ใครก็คอมเม้นท์ได้ ผมบอก ผมยังเป็นปุถุชนธรรมดา ยังทำใจไม่ได้กับการที่มีคนตั้งใจเข้ามาด่าเฉยๆ โดยไม่อ่านเนื้อหา แต่ก็มีหลายคนนะครับที่ค่อนข้างมีคุณภาพ โต้เถียงกันด้วยข้อมูล
ภาพประกอบจาก Facebook : Jessada Denduangboripant
อ่านให้ครบกระบวนความ
ผมว่าเป็นธรรมชาตินะตามที่ผมสังเกตมา หรือถามบางคนเวลาไปแย้งว่าบางเรื่องแชร์ทำไม หยุดได้ไหม คือออกแนวห่วงเพื่อน เพราะการแชร์มันมีทั้งด้านบวกกับลบ เช่นเรื่องนี้ดีมากเลยอยากให้เพื่อนรู้ หรือบางเรื่องเห็นแล้วน่ากลัวมากก็ต้องรีบส่งให้เพื่อนเช่นกัน อารมณ์ประเภทของแปลกอะไรแบบนี้อาจจะน้อยหน่อย แต่ถ้าเรื่องสุขภาพ ความเชื่อนี่จะแชร์กันเร็วมาก

โดยภาพรวมของความเป็นวิทยาศาสตร์ จะรู้ว่าเป็นอะไรที่พูดไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่แล้ว มีคำศัพท์แปลกๆ เราก็พยายามแก้ให้มันง่ายขึ้น ต่อก็มาเรียนรู้ว่าคนไม่ค่อยชอบอ่านถ้าเนื้อหายาวๆ ก็ต้องพยายามย่อให้เหลือไม่กี่ย่อหน้า หรืออย่างน้อยก็ทำลิงค์ไป ตรงนี้เห็นชัดจากวัยรุ่นเริ่มหันไปเล่นอินสตาแกรมกันมากขึ้น เพราะมันมีแต่รูปแทบไม่ต้องอ่าน

ผมยิ่งเรียนรู้ว่าไม่ใช่แค่คนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 7 บรรทัดนะ บางที 2 บรรทัดก็ไม่อ่าน อย่างเรื่องตุ๊กแกยักษ์ ผมก็โพสต์อธิบายละเอียดเลยว่าทำไมตัวนี้ดูแล้วมันไม่น่าใช่ตุ๊กแก มันมีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง อ้างอิงถึงนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติเขามีข้อมูลอะไรบ้าง แต่พอนักข่าวแชร์ไป เขาเขียนสั้นๆ ว่า อ.เจษฎาเฉลย ไม่ใช่ตุ๊กแกยักษ์ แค่นี้ คือไม่อ่านในรายละเอียดเลย คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะว่ากล่าวในทันที ซึ่งมันอันตรายมาก คือคนที่ด่าผมค่อนข้างจะเยอะ ส่วนคนที่เชียร์แต่อ่านในเชิงแค่หัวข้อก็มีนะ แล้วไปเถียงว่าก็อาจารย์บอกมาอย่างนี้ คือมันไม่ใช่ คือไปอ่านหน่อยสิ ถ้าลองอ่านแล้วไล่ดูคอมเม้นท์คุณจะเห็นว่ามันสนุกเพราะมีมุมมองอื่นบ้าง

คิดแย้งย้อนก่อนแชร์
ผมพูดประโยคหนึ่งไปเมื่อเร็วๆ นี้แล้วมีคนฮือฮาว่าจริงหรือคือ สิ่งที่เราแชร์อยู่ตอนนี้ 80% เป็นเรื่องไม่จริง เรื่องมั่ว ตัวเลขนี้ไม่มีที่มาผมแค่ดูจากที่ได้มาแต่ละวันแล้วเราไม่เจอเรื่องจริง ต้องนานๆ จะมีโผล่มา ฉะนั้นเราได้อะไรมาแต่ละวันต้องเช็ค อันนี้จำเป็นแล้วเราอยู่ในโลกที่การเชื่อตามๆ กันเป็นสิ่งอันตราย ตัวอย่างที่ดีมากคือเป็นสูตรรักษาโรค แต่ผมแย้งไปว่าความเชื่อแบบนี้มันอันตราย นำสูตรนี้ไปใช้ยิ่งอันตรายกว่าเดิมอีก

มันเป็นโลกสมัยใหม่ที่เราต้องรู้เท่าทันมันนะ แต่ละเรื่องเราต้องเช็คก่อน แล้วจะเห็นความจริงจากมุมอื่น เมื่อไหร่ก็ตามถ้าเราเช็คเป็นมันจะเริ่มเป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์มากขึ้น คุณจะเริ่มคิดเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น คำถามต่างๆ ที่สังคมไทยเถียงกันอยู่ อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ควรทำไหม GMO ควรทำไหม มันไม่ใช่แค่เรื่องว่าเชื่อตามๆ กันกับข้อมูลลวงๆ ที่ส่งเข้ามา หรือแม้แต่เชื่อผู้หลักผู้ใหญ่บางคนพูด หรือนักวิชาการบางคน

ถ้าคุณเข้าใจคอนเซ็ปต์จะเริ่มหาข้อมูลของคุณเอง โต้เถียงกับตัวเองว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของสังคม คุณมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจคุณจะคิดอย่างไรกับเรื่องนั้น น่ายินดีนะครับที่ไม่กี่เดือนมานี้คำคำหนึ่งมันขายได้เลยก็คือ ‘เช็คก่อนแชร์’

เรื่อง : เอกลักษณ์ มุสิกะนันทน์
ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์
ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook : Jessada Denduangboripant

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE