'มายา(คติ)ของวิจิตรกามา' หม่อมน้อย-หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล


ย้อนกลับไป 40 กว่าปีก่อน…

ในยุคที่โลกมายายังเป็นขาว-ดำ ชาวบ้านร้านตลาดส่วนใหญ่ในสมัยนั้นยังไม่มีโทรทัศน์สี คำว่า 'หนัง' ยังแปลได้ความแค่ 'ผิวหนัง' การนัดสาวสักคนไปออกเดตด้วยการชวนดู 'ภาพยนตร์' ยังไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน วัฒนธรรมการดู 'ละคร' หลังข่าวยังไม่ใช่วัฒนธรรมที่ขาดไม่ได้ในทุกครัวเรือน

วันหนึ่ง เด็กนักเรียนมัธยมคนหนึ่งก็พาตัวเองเข้าไปดูละครเวทีที่ถูกจัดขึ้น ณ หอประชุมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์–ละครเวทีเรื่องนั้นดัดแปลงมาจากบทละครชื่อ Death of a Salesman ของนักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ชาวอเมริกันอย่าง Arthur Miller

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กชายคนหนึ่งสนใจศาสตร์แห่งการแสดง และเลือกเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนถูกปลุกเร้าให้หลงใหลในเสน่ห์ของภาพยนตร์และการละครอย่างหัวปักหัวปำ เริ่มเรียนรู้ว่ามันคือศิลปะที่สะท้อนชีวิต สังคม และลมหายใจของยุคสมัย จาก รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและโทรทัศน์) ประจำปี 2554) ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาอยู่

อีกหลายปีหลังจากนั้น ภาพยนตร์จากฝีมือการกำกับเรื่องแรกของเขาชื่อ 'เพลิงพิศวาส' ก็ออกมาสู่บรรณพิภพ เขาแจ้งเกิดให้แก่นักแสดงสาวที่จะกลายมาเป็นตำนานในกาลถัดมาอย่าง สินจัย เปล่งพานิช ด้วยการส่งเธอคว้ารางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขานักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม ใน พ.ศ. 2527

เด็กชายคนนั้นชื่อ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือที่คนในวงการเรียกขานอย่างเคารพว่า 'หม่อมน้อย'

ภาพยนตร์ 14 เรื่อง ละครโทรทัศน์ 10 เรื่อง และละครเวทีมากกว่า 10 คือผลงานที่เขาฝากไว้ให้แก่วงการในระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี แต่แล้วอยู่ๆ ในวันที่อายุล่วงเลยเข้าสู่วัยเกษียณ และกำลังจะมีหนังเรื่องใหม่อย่าง 'แม่เบี้ย' เข้าฉาย หม่อมน้อยกลับบอกเราว่า เขาไม่อยากเป็นผู้กำกับอีกต่อไป

“passion ตรงนั้นมันหมดไปนานแล้ว”

ในขณะที่การแสดงที่หม่อมน้อยพร่ำบอกลูกศิษย์ว่า คือการปล่อยวางอัตตาเพื่อเข้าสู่ภาวะสุญญตาเหมือนการปฏิบัติธรรม หัวใจในวันนี้ของหม่อมน้อยนั้นคล้ายมอบให้แก่พุทธศาสนา

หม่อมน้อยบอกกับเราว่า เขาอยากออกบวช อยากตัดทุกอย่างที่รกรุงรังออกไปจากชีวิต เข้าสู่สภาวะสุขสงบอย่างที่คนอายุหกสิบควรได้รับ–ใช่ นั่นดูเหมือนจะขัดกับภาพจำในสไตล์การกำกับภาพยนตร์ของเขาที่มักเต็มไปด้วยฉาก 'อีโรติก' วาบหวาม ซึ่งก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานาตั้งแต่หนังยังไม่ฉาย…

“เราอายุ 61 แล้ว คิดดูสิว่าคนอายุเท่านี้จะทำหนังอีโรติกเพื่อสนองความต้องการของตัวเองหรือเปล่า ถ้าเราอายุ 20-30 ก็ไม่แน่”

ภายใต้แววตามุ่งมั่น บุหรี่ที่ถูกจุดขึ้นมวนแล้วมวนเล่า และการตอบคำถามที่เต็มไปด้วยพลังจนถึงขนาดที่บางครั้งเขาต้องลุกขึ้นมากระทืบเท้า หม่อมน้อยกรุณา เปิดโอกาสให้เราถามไถ่ถึงประเด็นศิลปะแบบ 'วิจิตรกามา' ได้อย่างเต็มที่

– ก่อนจะไปคุยกันถึงหนังเรื่องใหม่อย่าง ‘แม่เบี้ย’ ช่วงนี้ (ณ วันสัมภาษณ์) กำลังมี ‘แผลเก่า’ (2014) ฉบับ international version เข้าฉายที่ House RCA ซึ่งดูเหมือนได้เสียงตอบรับที่ดี ฉบับนี้แตกต่างจากฉบับที่เราได้ดูกันในโรงภาพยนตร์ทั่วไปเมื่อปีก่อนอย่างไร
น่าจะเรียกว่าเป็นฉบับ ‘ตามบท’ ที่เขียนไว้ตั้งแต่แรกมากกว่า มันเป็นเรื่องการตัดต่อที่มีความสมบูรณ์ มีเนื้อหาสาระของความหมายในคำว่า 'แผลเก่า' ซึ่งแต่เดิมทุกเวอร์ชั่นจะมองไปถึงเรื่องความรักของขวัญเรียม แผลเก่าคือแผลรัก แผลรอของขวัญกับเรียม แต่ในครั้งนี้เราตีความความหมายของแผลเก่าให้กว้างขวางไปถึงทุกตัวละครว่า ทุกตัวจะมีแผลเก่าเป็นของตัวเองหมด ซึ่งหนังเวอร์ชั่นนี้มันยาวเกือบสามชั่วโมง มันจึงเล่าได้สมบูรณ์ แต่เวอร์ชั่นก่อน ด้วยปัญหาโรงฉายในไทยที่จำกัดเวลามาก เพราะฉะนั้นเวอร์ชั่นไทยเราก็ต้องตัดแบบคนไทย เล่าแบบ 1 2 3 4 ว่าความรักของขวัญเรียมเป็นอย่างไร แล้วก็จบที่ขวัญเรียมตาย ไม่ได้เล่าถึงตัวละครอื่นเลย

– ข้อกำจัดแบบนั้นทำให้ทำงานยากขึ้น หรือทำให้ไม่พอใจกับหนังฉบับที่ฉายเมื่อปีก่อนบ้างไหม
เราพอใจนะ ก็ถือว่าดีระดับหนึ่ง ฟังจากเสียงตอบรับ คนดูเขาก็ประทับใจ แต่ก็ไท้ไทย รสชาติไทยมาก ซาบซึ้งประทับใจแบบไทย แต่เวอร์ชั่นอินเตอร์นี่เราทำแบบอินเตอร์จริงๆ และใช้ภาษาหนังพูดจริงๆ หนังจะแตกต่าง ไม่มีตัดฉึบฉับ แต่จะนิ่งๆ สบายๆ ค่อยๆ ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของคนที่มีชีวิตอยู่ เริ่มต้นเรื่องมาขวัญเรียมตายแล้ว คุณหญิงทองคำเปลวมาสร้างศาลขวัญเรียมให้ ซึ่งศาลขวัญเรียมก็มีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ตัวละครพ่อคือตัวละครที่ทำให้มีส่วนในการเกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ พอพ่อมาเจอศาลนี้ ต่างคนก็ต่างนึกย้อนไปถึงความสัมพันธ์ของตัวเองที่มีต่อขวัญกับเรียม เล่าผ่านเหตุการณ์ที่เหมือนตัวเองเป็นเหตุในการนำไปสู่ความหายนะ และเมื่อเรื่องจบลง คนที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาเรียนรู้ข้อผิดพลาดของตัวเองมากน้อยแค่ไหน เรียนรู้คุณค่าของความรักมากขนาดไหน เรียนรู้การอภัยให้อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้จิตใจของตัวละครสูงขึ้นกว่าเดิม แต่ที่ขาดไม่ได้คือ จากการที่ขวัญเรียมตายไป มันดันกลายเป็นแผลใหม่ของพวกเขา และเมื่อเวลาผ่านไปมันจะกลายเป็นแผลเก่าที่พวกเขาไม่มีวันลืม มันทำให้ความหมายของคำว่าแผลเก่ากว้างขึ้น

– เรียกว่าตีความกว้างไกลไปกว่าตัวบทในงานวรรณกรรม?
วรรณกรรมกับภาพยนตร์มันเป็นคนละศาสตร์ วรรณกรรมก็สมบูรณ์ในแบบของวรรณกรรม เราไม่ได้ทำหนังลอกวรรณกรรม เพราะไม่มีใครในโลกนี้ถ่ายทอดหนังจากวรรณกรรมได้เหมือนเป๊ะ ไม่งั้นมันอาจจะน่าเบื่อ วรรณกรรมคือเรื่องที่ต้องอ่าน ภาพยนตร์คือเรื่องที่ต้องดู วรรณกรรมอยู่ในรูปแบบตัวอักษร คนอ่านจะมีจินตนาการของตัวเอง ขวัญเรียมของคนล้านคนก็จะไม่เหมือนกัน หน้าตาไม่เหมือนกัน บรรยากาศไม่เหมือนกัน
ส่วนในภาพยนตร์ เราต้องเล่าชีวิตของตัวละครให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะสมบูรณ์ได้ โดยผ่านภาพและตัวละครที่มีชีวิตโลดแล่นจริงๆ ทุกตัว มันคือบทดัดแปลงจากวรรณกรรม ภาษาอังกฤษเรียกว่า Adaptation Screenplay ไม่ใช่ Original Screenplay ไม่มีใครในโลกนี้ไม่ adapt เช่น วรรณกรรมเชกสเปียร์ ซึ่งได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็มีการ adapt ไม่ได้ทำตามเชกสเปียร์ทั้งหมด แต่แก่นแท้ในตัวละครต้องรักษาไว้ สิ่งที่ผู้ประพันธ์ต้องการจะสื่อกับคนดูต้องถูกเน้นออกมา แล้วแผลเก่าคราวนี้มันถูกเน้นออกมากว้างขวางมาก ที่สำคัญคือมีการตีความด้านการเมืองเกิดขึ้นมาด้วย จริงอยู่ที่ในวรรณกรรมมีการพูดถึงการเมืองแค่สองประโยค แต่เราสามารถดึงออกมาช่วยสร้างบรรยากาศอย่างสมจริง เรื่องของขวัญเรียมเป็นเรื่องแต่งก็จริง แต่ทุกวันนี้ศาลพ่อขวัญแม่เรียมก็ยังคงอยู่ที่เก่า ทุกคนก็ยังกราบไหว้บูชา สักการะอยู่ เราไม่คิดว่าขวัญเรียมตาย หนังเวอร์ชั่นนี้จบที่ภาพขวัญเรียมอยู่ในนา ขี่ควายตรงไปยังดวงอาทิตย์ที่กำลังจะตก เหมือนกับว่าพวกเขายังคงอยู่ และก็อยู่จริงๆ ไม่งั้นศาลคงรื้อไปแล้ว ไม่มีคนมานั่งไหว้กันอยู่ทุกวันนี้หรอก

– และแล้วหนังเรื่องใหม่อย่าง ‘แม่เบี้ย’ ก็เป็นการสร้างขึ้นมาจาก Adaptation Screenplay อีกครั้ง
มีหลายเหตุผลเหมือนกัน แล้วก็ขำตัวเองจริงๆ เพราะพอเสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ผู้ก่อตั้งบริษัทสหมงคลฟิล์ม) อยากให้หม่อมทำเรื่องแม่เบี้ย เราก็ขำอีกแล้วว่า ทำไมเราต้องทำหนังที่มีมาแล้วหลายเวอร์ชั่น ตั้งแต่ชั่วฟ้าดินสลาย (2010) จัน ดารา (2013) แล้วก็มาแผลเก่า ตอนแรกเราบอกว่า เรายังไม่รับปากนะ ขอไปอ่านก่อน จริงๆ เคยอ่านมาตั้งแต่สมัยที่วาณิช จรุงกิจอนันต์ เขียนลงในนิตยสารลลนาเมื่อราว 30-40 ปีก่อน ซึ่งพอกลับไปอ่านอีกครั้ง เราก็ไปเจอประเด็นที่น่าสนใจมากๆ ที่ทำให้คิดได้ว่า แม่เบี้ยที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครทีวีที่ผ่านๆ มา กลับไม่มีประเด็นที่ผู้เขียนต้องการพูดเลย กลับกลายเป็นเน้นเรื่องพิศวาสของชนะชลและเมขลา (ตัวเอก) ซึ่งจริงๆ มีประเด็นที่วาณิชตั้งใจจะพูดที่เราจับขึ้นมาได้คือเรื่อง 'ความเป็นไทย' ที่กำลังสูญหายไปจากสังคมไทย ความเชื่อแบบไทย ความเคารพในขนบประเพณีแบบไทย ความเคารพในศีลธรรมแบบคนไทยแท้ๆ หายไป
เรื่องนี้พูดถึงคนบาป ตัวละครทำบาปทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ตาม เรื่องนี้พูดถึงการค้นหาตัวตนของชนะชล เรื่องดำเนินไปในระยะเวลา 7 วันสุดท้ายของชีวิตผู้ชายคนนี้ แล้วผู้ชายคนนี้ก็ใฝ่หาแต่บ้านทรงไทย และท้ายที่สุดก็ไปเจอบ้านไทยที่บางปลาม้า สุพรรณบุรี แล้วได้ค้นพบว่าตัวเองจริงๆ คือใครในบ้านหลังนี้ และท้ายที่สุดเขาฆ่าตัวตาย เรื่องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องพิศวาสของชนะชลกับเมขลา คือพิศวาสก็มีนะ แต่จริงๆ แล้วแก่นแท้มันคือชนะชลใฝ่หารากเหง้าของตัวเองแล้วค้นพบ เหมือนที่วาณิชตั้งใจจะบอกว่าคนไทยทุกวันนี้ หรือเมื่อ 40 ปีที่แล้วเนี่ย ไม่ให้ความสำคัญกับรากเหง้าของตัวเองเลย ทุกคนไม่รู้ว่าขนบธรรมเนียมประเพณีของเราเป็นอย่างไร นั่นคือยุคที่โทรศัพท์มือถือยังไม่มีนะ ในยุคที่บ้านเมขลายังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีมือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ยุคนั้นแกพูดถึงเรื่องนี้แล้ว พอนำมาพูดในยุคปัจจุบัน เราจะพบว่าคนยิ่งไม่ใฝ่หาความเป็นไทย ยิ่งมองขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเป็นเรื่องเชย และเป็นเรื่องตลก เหตุผลหนึ่งที่ตัดสินใจทำเรื่องนี้ คือมีข่าวของแม่ลูกมาจากเมืองนอก แต่งชุดไทยเดินห้างแล้วคนคิดว่าเว่อร์บ้าง ตลกบ้าง มันสะท้อนค่านิยมที่ทำให้คนอย่างเราเศร้าใจ เพราะเวลาเราไปญี่ปุ่น ประเทศเขาไฮเทคกว่าเรา เจริญกว่าเรามากมาย แต่การสวมกิโมโนเป็นเรื่องที่น่านับถือ เขาเคารพวัฒนธรรมของเขาอย่างหนักแน่นมาก

– ขออนุญาตโฟกัสไปที่เรื่องการแต่งชุดไทยเดินห้าง ตอนที่ข่าวนี้ออกมาใหม่ๆ ก็จะมีความคิดเห็นบางส่วนที่ดูเหมือนจะเห็นค้าน เช่น การแต่งชุดไทยที่มีเครื่องทรงวิจิตรต่างๆ อาจไม่ใช่วัฒนธรรมของชาวบ้าน แต่เป็นวัฒนธรรมของอีกชนชั้น หรือถึงขนาดที่ว่า 'ความเป็นไทย' ไม่มีจริง เราหยิบยืมมาจากวัฒนธรรมอื่น
ปู่ย่าตายายของคุณมีจริงไหม ตอบตรงนี้ให้ได้ แล้วลองย้อนถามกลับดูว่า ความเป็นไทยล่ะมีจริงไหม แล้ววัฒนธรรมญี่ปุ่นล่ะมีจริงไหม ถึงแม้วัฒนธรรมโลกจะหยิบยืมกันมา แต่เขามีแบบของเขา เราก็มีแบบของเรา อย่างอินเดียเขาไฮเทคกว่าเรามาก แต่อินเดียรักษาวัฒนธรรมไว้ดีมาก เราได้รับจากอินเดียมา จากที่ต่างๆ มา แต่ทั้งหมดทั้งปวงมันรวมเป็นวัฒนธรรมของสยามใช่ไหม อย่างญี่ปุ่นเองก็เอามาจากจีนบางส่วน เกาหลีก็เอามาจากจีนบางส่วน แต่ในขณะเดียวกันมันก็หล่อหลอมกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขา ของไทยจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราก็หล่อหลอมมาเป็นเอกลักษณ์ของเรา
ซึ่งบ้านเรามีหลายชนชั้น ดูอย่างลิเก การแต่งองค์ทรงเครื่องก็ไม่เหมือนกัน ชนชั้นไหนก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไม่ใช่เหรอ วัฒนธรรมชาวบ้านเท่านั้นหรือที่เป็นวัฒนธรรม วัฒนธรรมชนชั้นสูงเท่านั้นหรือที่เป็นวัฒนธรรม ไม่ใช่ไง วัฒนธรรมมันรวมกันหมด จะแต่งอย่างไรก็เป็นไทย ญี่ปุ่นกิโมโนก็มีหลายแบบ ส่าหรีของอินเดียก็มีหลายแบบ เพราะฉะนั้นจะเป็นแนวใดก็เป็นวัฒนธรรม อย่างน้อยที่สุดเขาทำ แต่คนที่ปากพูดไปแล้วไม่ปฏิบัติ คุณมีสิทธิ์อะไรไปด่าเขา เช่น หม่อมน้อยทำหนังอีโรติก มันหนักหัวใคร ไม่อยากดูก็ไม่ต้องดู มีสิทธิ์อะไรมาวิพากษ์วิจารณ์ สิทธิเสรีภาพในเชิงประชาธิปไตยต้องไม่ Personal Attack ต้องเคารพในสิทธิมนุษยชน เมื่อคุณเคารพสิทธิของคุณ ต้องเคารพสิทธิของคนอื่นด้วย ไม่ใช่มีสิทธิ์จะพูดอะไรแล้วก็พูด Freedom of Speech มีจริง แต่มันมีขีดจำกัด ต้องไม่โจมตีคนอื่น ต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่ใช่พอมีสิทธิ์ก็ปากพล่อยพูดออกไป ในขณะที่เรื่องสิทธิมนุษยชน คุณยังไม่เข้าใจเลย–คุณไม่มีสิทธิ์ไปวิจารณ์ว่าทำไมเขาชอบใส่แว่นตาดำ เขาชอบแบบนี้ คุณมีสิทธิ์อะไรไปยุ่งเรื่องส่วนตัวของเขา ยิ่งมองผ่านโซเชียลมีเดีย คุณยังไม่รู้จักเขาเลย ไม่รู้ความตั้งใจของเขาเลย แต่ไปสรุปเขาแล้ว แบบนั้นมันไม่ใช่เสรีภาพในการพูด คุณต้องไม่ก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคลของเขา เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา คุณไม่ทำก็อย่าทำ แล้วถามว่าการแต่งตัวของเราทั้งหมดเป็นตัวเองไหม เปล่าเลย เลียนแบบฝรั่งหมด ที่เราใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์เพราะดาราฝรั่งใส่ เพื่อจะได้บอกให้ชาวโลกยอมรับ แต่เปล่าเลย คุณไม่มี identity ไม่มีเอกลักษณ์ของตัวเองเลยแม้แต่น้อย

– คล้ายวัฒนธรรมต่างๆ ในสมัยหนึ่ง จะโดนผลักให้กลายเป็นความ 'ไม่ปกติ'
ใช่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในแม่เบี้ยจะสะท้อนให้เห็นตัวเราในปัจจุบัน ผ่านมนุษย์หลายๆ ชีวิตที่เกี่ยวพันกัน เมขลา ชนะชล แม่ของเมขลาในอดีต พ่อแม่ของชนะชลในอดีต หรือชีวิตของชนะชลในกรุงเทพฯ ซึ่งจะออกมาชัดเจนในบทสนทนาของชนะชลกับเมขลาที่ชนะชลถามว่า 'ทำไมต้องใส่ชุดไทย คุณแต่งตัวแบบนี้ทุกวันเหรอ' เมขลาก็บอกว่า 'ไม่ทุกวันหรอกค่ะ บางโอกาสเท่านั้น จนคนแถวนี้เขาหาว่าฉันสติไม่ค่อยดี'–เห็นไหม ความเป็นไทยกลายเป็นเรื่องสติไม่ค่อยดี นี่มันสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน
และอีกประเด็นคือการทำบาป เราทำบาปโดยไม่รู้ตัวเลย หรือบางครั้งเราอาจคิดว่าเป็นเรื่องฉลาด เราไม่เชื่อบาปบุญคุณโทษ เช่น การโกหกเอาตัวรอด การโกหกให้คนอื่นสบายใจ แล้วเรามองว่าคนนี้ฉลาด เอาตัวรอดเก่ง โกหกเนียน ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นบาป หรือการกินเหล้า การเสพของมึนเมา การเป็นชู้กัน การทรยศหักหลังลูกเมีย เป็นเรื่องเก๋ไก๋ หรือแม้แต่การฆ่ากัน แล้วการฆ่ากันในเรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงการฆ่ากันในเชิงรูปธรรมอย่างเดียว ฆ่ากันทางจิตใจได้ ทำร้ายจิตใจกันจนแทบตาย มันหมายถึงการฆาตกรรมทางจิตใจด้วยเหมือนกัน หนังเรื่องนี้จะพูดถึงการทำบาปโดยไม่รู้ตัวแต่กลับกลายเป็นค่านิยมที่เก๋ไก๋ เป็นค่านิยมสมัยใหม่ การแอบรู้ แอบรักกันสองคน แอบมีเซ็กซ์กันเป็นเรื่องเก๋ไก๋ หนังพูดถึงคนที่ผิดบาป และตอนจบทุกคนก็ต้องรับชะตากรรมของตัวเองอย่างสาสม

– เราควรรักษาค่านิยมดั้งเดิมเอาไว้ ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนไป?
เราไม่เคยมองในด้านการอนุรักษ์ เรามองในความเป็นจริง ถ้าดูแผลเก่าเวอร์ชั่นต่างประเทศเข้าใจเนี่ย จะรู้ว่าประเทศเรามันเสียไปตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เปรียบได้กับฉากใส่หมวกแล้วเต้นรำ ซึ่งหมวกใหญ่มาก มันไม่เหมาะกับคนใส่เลย นักวิจารณ์ก็บอกว่าหม่อมน้อยโอเวอร์ แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นสัญลักษณ์

– แล้วเราเหมาะกับอะไร
ไม่ทราบ เราอาจเหมาะกับอย่างที่เราเคยเป็น อย่างที่ประเทศเราอยู่อย่างสุขสงบ นั่นแหละ ตรงนั้นน่ะเหมาะ จริงๆ แล้วความเหมาะสมในแง่ประเทศชาติคืออะไร ประชากรอยู่อย่างสุขสงบใช่ไหม ไม่เป็นหนี้เป็นสินเหมือนประเทศอื่น อยู่ดีกินดีตามอัตภาพใช่ไหม ไม่ต้องอยู่อย่างลำบาก เพราะทุกวันนี้เราผูกติดอยู่กับเงินดอลลาร์ของอเมริกัน พอดอลลาร์ตก เราก็ตกตาม เพราะตรงนี้ไง ตอนนั้นผู้นำเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็น Modernize ห้ามเล่นดนตรีไทย ห้ามนุ่งโจงกระเบน ห้ามกินหมาก ต้องแต่งตัวเป็นฝรั่ง ต้องสวมหมวก หมวกในแผลเก่าก็เป็นสัญลักษณ์ที่ไม่เหมาะเลย และถูกยัดเยียดให้สวมตามกฎหมายด้วย ลบล้างวัฒนธรรมเดิมหมด

– กลับไปที่แม่เบี้ย หม่อมคาดหวังอะไรจากหนังเรื่องนี้
คาดหวังให้คนเรียนรู้ศีลธรรม

– หนังแทบทุกเรื่องในยุคหลังๆ ของหม่อมก็พูดถึงเรื่องศีลธรรม แต่ก็มีฉากอีโรติกที่หลายคนรอดู สิ่งเหล่านี้ไม่ขัดแย้งกันเองใช่ไหม
เราจะทำหนังศีลธรรม เราไม่โชว์ฉากที่เขาทำผิดบาปไม่ได้ไง ต้องมีฉากรุนแรง ฉากอีโรติก ฉากฆาตกรรม แสดงให้เห็นว่าบาปแบบนี้เราไม่ควรทำ การเป็นชู้กันดูน่าตื่นเต้น สวยงาม สนุกสนาน แต่สุดท้ายเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราต้องนำเสนอผลกระทบของการตามใจตัวเองของคนเจเนอเรชั่นนี้ ที่เรียกกันว่าเจเนอเรชั่น ME ซึ่งเอาความต้องการของตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ฉันเป็นจุดศูนย์กลางของโลก ฉันทำอะไรก็ได้ตามใจอยาก

– สุดท้ายแล้วศีลธรรมคืออะไร มันสำคัญกับสังคมมนุษย์ขนาดไหน
ก็พูดกันไปว่าศีลธรรมไม่มีจริง เราเกิดมาแล้วก็ตายไป ชีวิตสั้นนัก นรกสวรรค์ไม่มีจริง เกิดมาแล้วต้องทำให้ตัวเองมีความสุขที่สุดก่อน จบ ซึ่งนี่เป็นค่านิยมของคนยุคปัจจุบัน แต่เอาง่ายๆ นะ ถ้าคุณเป็นชู้กับแฟนเพื่อน คุณแอบมีอะไรกัน ถามว่าจิตใจคุณมีความสุขไหม ตอนนั้นอาจมี แต่หลังจากนั้นคุณมีความสุขไหม บริสุทธิ์ใจไหม วินาทีที่คุณมีอะไรกันอาจมีความสุขก็จริง แต่หลังจากนั้นล่ะ คุณจะมองหน้าเพื่อนติดไหม ความรู้สึกเป็นอย่างไร ลองคิดดูสิ มันเป็นเรื่องง่ายๆ หรือการโกหกแฟน โกหกพ่อแม่ นาทีนั้นอาจจะตื่นเต้นที่เขาเชื่อ แต่เมื่อได้อยู่กับเขาสองต่อสอง เราบริสุทธิ์ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ก็ไม่ ทุกครั้งที่เราทำอะไรที่เป็นอกุศลจิต มันจะติดอยู่กับตัวเรา
สำหรับเรา เราเชื่อว่ามนุษย์มีทั้งพลังบวกและลบ เหมือนกับหยินหยาง มีกลางวันกลางคืน ตราบใดที่เรายังผลักพลังบวกออกไป อย่างไรก็จะมีบวกเข้ามาหาเรา แต่หากผลักออกไปแต่พลังลบ ก็จะมีแต่พลังลบเข้ามาหาเราแน่ๆ เช่น ฆาตกร ผลกรรมจะตามสนองเร็วมาก น้อยคนนักที่จะรอดได้ ซึ่งถ้ารอด อาจเป็นเพราะกรรมยังมาไม่ถึง แต่เราเชื่อเรื่องพุทธศาสนามาก กรรมแปลว่าการกระทำ ใครทำอะไรก็ได้สิ่งนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนเป็นวิทยาศาสตร์มาก ทุกอย่างมีเหตุ มีปัจจัยหมด เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธไม่ได้พูดถึงการกราบไหว้บูชา แต่พูดถึงสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์มาก มนุษย์ทำอะไรก็ได้ผลเช่นนั้น ทีนี้การคิดก็เป็นการกระทำ คิดดี คิดบวก สิ่งที่บวกก็จะเข้ามา คิดลบ สิ่งที่ลบก็มา แต่การประคองใจให้สะอาด สงบในยุคปัจจุบันนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก มนุษย์ปัจจุบันเจเนอเรชั่นนี้จะเสวยจิตที่เรียกว่า 'เวทนา' หรือ 'ความอยาก' มากเกินไป เพราะเราอยู่ในยุคบริโภคนิยม ของไม่ดีก็ต้องบอกว่าดี เพราะเราอยู่ในยุคแห่งการยั่วกิเลส เขาหลอกเอาเงินเรา ทำให้เราอยากซื้อของ ทุกคนเติบโตมาอย่างกระหายและต้องการอยู่ตลอดเวลา เราอยากได้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ อยากได้รถรุ่นนั้น อยากได้เสื้อผ้าแบบนี้ เรากลายเป็นทาสสังคมบริโภค คนทั้งโลกถูกหล่อหลอมโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นเราก็จะแสดงให้เห็นผ่านหนังด้วยว่า ค่านิยมของคนยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร นี่คือภาพจำลองที่บอกว่าเรามองคนปัจจุบันอย่างไร คนไทยสูญเสียอะไรไป รากเหง้าของตัวเองใช่ไหม
ซึ่งหนังจะพูดตรงนี้ว่า แม่เบี้ยคืออะไร งูคืออะไร คุณวาณิชลึกซึ้งมากที่เลือกงู เพราะมันมีความหมายหลากหลาย เช่น งูจะปรากฏตัวขึ้นทุกครั้งที่ตัวละครเอกทำผิดประเพณี ทำผิดบาป และงูจะฆ่าคนเลว ทำร้ายคนที่ทำบาปเท่านั้น เรื่องของงูนี่ตีความได้หลายอย่าง ตอนทำก็เราเอาไบเบิลมาเปิดแล้วพบว่า ในสวนอีเดน งูเป็นตัวร้าย หลอกล่อให้อีวากินแอปเปิ้ล (Passion Fruit) จนเกิดความละอาย กลายเป็นมนุษย์ที่มีความอยาก มันกำลังแสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์ผ่านสายตาของศาสนาว่าคืออะไร หรืออาจกำลังบอกว่ามนุษยชาติเต็มไปด้วยความทุกข์ ที่พระเยซูไถ่บาปก็เพื่อมนุษยชาติที่ทำบาปโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว แล้วถ้ามองกลับมาที่ศาสนาพุทธ ถ้าเราตั้งคำถามว่า ทำไมถึงใช้งู ทำไมไม่เป็นหมา เป็นแมว เราก็จะเห็นว่างูในศาสนาพุทธคืออะไร เราก็จับออกมาได้ว่าในวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วมีพายุมา พญานาคขึ้นมาแผ่พังพาน แผ่แม่เบี้ยกันฝนให้ท่าน จนท่านตรัสรู้ สุดท้ายพญานาคขอบวช แต่เป็นสัตว์เลยบวชไม่ได้ การบวชนาคจึงเกิดขึ้น ผู้ชายที่จะบวชพระทุกคนต้องบวชนาคก่อน เพื่อบวชให้พญานาค เราก็เลยจับได้ว่าแม่เบี้ยตรงนี้เปรียบได้กับงูที่มาปกป้องพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เฉกเช่นที่ปกป้องท่านในวันที่พายุมาจนทำให้ท่านตรัสรู้ได้ ทำให้รู้ว่าที่มาของงูที่ปรากฏตัวทุกครั้งคืออะไร

– ลงลึกไปที่เรื่องความอีโรติก ทุกวันนี้เราก็ยังเถียงกันไม่จบไม่สิ้นเรื่องเส้นแบ่งของ 'ศิลปะ' และ 'อนาจาร' หม่อมมองประเด็นนี้อย่างไร อย่างบางคนเขายังตั้งข้อสงสัยว่า หนังของหม่อมทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวผู้กำกับเองหรือเปล่า
เอาง่ายๆ เลยนะ สมมุติเราจับผู้หญิงมาถ่ายแบบเปลือยๆ ไม่ต้องจัดแสง ไม่ต้องแต่งหน้าเลย ได้ไหม มันก็อาจจะได้ อาจขายได้ สมัยก่อนมันมีหนังสือแบบนี้ที่ขายราคาถูกๆ เล่มละสิบบาท เอาผู้หญิงที่ไหนมาถ่ายก็ไม่รู้ ถ่ายรูปโดยใช้แฟลชธรรมดา ไม่เห็นต้องจ้างช่างภาพฝีมือดีๆ มาถ่ายเลย ถามว่านิตยสาร mars เนี่ยทำแบบนั้นได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม เพราะมันจะกลายเป็นอนาจารทันที
ปัญหาคือเวลาเราทำหนังที่มีฉากเหล่านี้ คนจะประณามทันทีว่าหม่อมเป็นคนลามก จิตใจทราม สร้างแต่หนังโป๊แบบนี้ออกมา ทั้งที่หนังยังไม่ทันฉายออกมาเลย ซึ่งนั่นก็แล้วแต่เขา เพราะเรารู้สึกว่าบัวมันมีหลายระดับ สัตว์มีหลายประเภท เฉกเช่น mars ของคุณ อาจจะถูกด่าก็ได้ว่าไม่คิดอะไรนอกจากเอาผู้หญิงแต่งตัวโป๊วับๆ แวมๆ มาขึ้นปก แต่เราคิดว่าของคุณยังมีศิลปะอยู่ในนั้น มีรสนิยมที่จะมองความงามทางสรีระ เรื่องนี้ต้องให้ความรู้แก่คนไทยมากเลยว่า เรื่องโป๊เปลือย โดยเฉพาะผู้หญิงนี่มันมีมาเป็นพันๆ ปีแล้ว ก่อนที่จะมีภาพยนตร์ ภาพเขียนในโบสถ์ หรือในศิลปะของทั้งไทยและฝรั่งก็มีหมด เช่น รูปปั้นเดวิด (ผลงานของ Michelangelo Buonarroti) นี่เห็นจู๋เลยนะ แถมตั้งอยู่ในวิหารด้วยซ้ำ ในยุคกรีกรูปปั้นเทพเจ้าก็เห็นสรีระหมด หรือในวัดไทยเนี่ย นางฟ้า นางในวรรณคดี นางกินรี เปลือยอกหมด ไม่นับรูปวาดในวัดหลายต่อหลายวัดที่มีฉากสังวาส ผู้ชายจับนมผู้หญิง นอกจากนั้นชายกับชายมีอะไรกันก็ยังมี
ซึ่งในยุคนั้นไม่มีภาพยนตร์ ศิลปะในโบสถ์วิหารก็เหมือนภาพยนตร์นั่นแหละ คือเขาต้องการเสนอให้เห็นวิถีชีวิตของคน และให้ปลงว่ามนุษย์มันเป็นแบบนี้ ขณะเดียวกันมันมีมาเพื่อสอนให้มนุษย์เห็นบาปของตัวเอง แล้วการทำหนังอีโรติกในแบบที่เราทำที่มีคนด่าเนี่ย เชื่อไหมว่าพอไปขายเมืองนอกกลับขายไม่ได้

– ทำไม
เพราะที่อื่นดาราดังเขาแก้ผ้าเห็นจู๋เห็นจิ๋มกันหมดไง เขาไม่ได้มองเป็นเรื่องลามกอนาจาร เขาจิตใจสูงพอที่จะมองเห็นว่านี่คือภาพของมนุษย์
แล้วในความเป็นจริง คนที่ด่าเรื่องลามกอนาจารเนี่ย ถามว่าในชีวิตจริงเขาทำหรือเปล่า พ่อแม่เราทำหรือเปล่า ปู่ย่าตายายเราทำหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ทำสิผิดปกติ ต้องไปหาหมอแล้ว มันเป็นเรื่องธรรมชาติมาก สำหรับเรา เราอายุ 61 แล้ว คิดดูสิว่าคนอายุเท่านี้จะทำหนังอีโรติกเพื่อสนองความต้องการของตัวเองหรือเปล่า ถ้าเราอายุ 20-30 ก็ไม่แน่ แต่เราอายุ 61 แล้ว เราผ่านเรื่องนี้มาไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ ผ่านมาเยอะจนเรามองมันเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว ในขณะที่คนอื่นมองว่าเราเป็นคนบ้ากาม วิปริต–แต่ก็ดีเหมือนกันนะ ชอบ เขาคงนึกว่าเราอายุน้อย คงนึกว่าเราอายุเท่าอุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร มั้ง (หัวเราะ) ทั้งที่เราอายุมากกว่าอุ๋ยตั้งสิบๆ ปี คิดดูว่าคนอายุ 60 ขึ้นไปแล้วจะยังอยากดูสิ่งเหล่านี้ไหม มันผ่านมาหมดแล้ว เราเจอมาก่อนคนที่มาด่าเราจะเกิดด้วยซ้ำ กูจะเอาผู้หญิงผู้ชายมาแก้ผ้าเพื่อสนองความต้องการของตัวเองเหรอ กูผ่านมาหมดแล้วเว้ย!

– ในแง่การตลาดล่ะ ฉากอีโรติกส่วนหนึ่งมันอาจเป็นจุดขายหรือเปล่า
สำหรับคนทำหนัง สำหรับผู้กำกับ จุดขายไม่สำคัญเลย เราไม่ใช่ฝ่ายขาย เราเป็นคนวาดรูป เป็นคนทำอาหาร เราไม่ต้องไปคิดวิธีขาย ถ้าถามแบบนี้ เราโกหกให้เชื่อก็ได้ว่าใช่ มันเป็นจุดขาย เราทำหนังให้คนเชื่อได้ด้วยซ้ำว่าฉากอีโรติกเกิดขึ้นจริงๆ มีการสังวาสกันจริงๆ แต่ถามว่าอย่างหนังของจา พนม เนี่ย ที่เขาเตะกัน ต่อยกัน หรือฆ่ากัน เขาฆ่ากันจริงๆ ไหม เอามีดมาแทง ยิงกันให้ตายจริงๆ ไหม แค่ชก หรือตบหน้าจริงก็ไม่ได้แล้ว ในหนังจึงต้องมีคิวบู๊ เพราะชกจริงมันไม่สวยเท่า อย่างหนังนักมวยในฮอลลีวู้ด ไม่ใช่การชกแบบนักมวยจริง เพราะนักมวยจริงท่าไม่สวย เพราะฉะนั้นมันต้องมีท่าสำหรับมุมกล้อง ทุกอย่างเป็นศิลปะหมด ฉากอีโรติกก็เช่นกัน
เวลาดูการสังวาสกัน ก็เทคนิคเดียวกับคิวบู๊ วิธีการถ่ายภาพยนตร์มันไม่เหมือนการถ่ายวีดิโอโป๊ มันต้องถูกเล่าหมดเลย มันต้องแสงสวยพอดีเป๊ะ แสงต้องลงตรงหน้าอกมันถึงจะงาม เหมือนถ่ายปกของคุณนั่นแหละ บิดหลังจนปวดไปหมดแต่ออกมาดูเซ็กซี่มาก แต่นางแบบนี่จะตายเอา แล้วพอเป็นภาพเคลื่อนไหวมันจึงยากกว่า แค่ถ่ายโคลสอัพแล้วยกตัวขึ้นไปเนี่ย คุณรู้ไหมว่าบางทีแสงมันต้องพอดีหน้า ผู้ชายแขนจะต้องยันเอาไว้ ผู้หญิงต้องเกร็งหลังเอาไว้ แต่หน้าต้องเป็นอีกแบบ ทั้งที่เมื่อย ร้อน ปวด ทรมาน เพื่อให้ภาพออกมาพอดีเป๊ะ ถ้าปล่อยให้เล่นไปภาพจะไม่สวยเลย เพราะเราไม่ได้ทำหนังแบบหนังโป๊ มันคนละชั้นกัน
แล้วแบบนี้จะมีอารมณ์ไหม ไม่มีหรอก ตอนถ่ายนี่ร้อนยิ่งกว่าที่เรานั่งคุยกันตรงนี้อีก แสงจะต้องส่องให้ผิวสวย ร้อนไม่พอตำแหน่งท่าทางต้องพอดี และดูเป็นธรรมชาติด้วย ถ้าสังเกตดีๆ จะรู้ว่าผิดธรรมชาติมาก คุณอาจเห็นก้นผู้ชายสวย แต่ธรรมชาติมนุษย์มันจะไม่เป็นแบบนี้ ลองดูหนังอีโรติกดีๆ ของฝรั่งก็ได้ เราดูตั้งแต่เราเรียนอยู่อเมริกา ดูแบบสโลว์โมชั่น ทำให้เห็นว่า โธ่เอ๊ย อย่างนี้นี่เอง–ไม่มีอวัยวะเพศโดนกัน ไม่มีเด็ดขาด แต่ถ้าดูเร็วๆ จะเห็นเหมือนเป็นแบบนั้น เพราะทุกอย่างเป็น choreography หมด เป็นเหมือนการจับท่าทางแบบการเต้นบัลเลต์ แต่วิธีเหล่านี้เราไม่อยากอธิบาย เพราะบอกไปแล้วจะดูหนังไม่สนุก เพราะหน้าที่ของหนังคือการทำให้เหมือนเรื่องจริงที่สุด แต่ยุคนี้มันยุคไหนแล้ว เอาง่ายๆ อย่างสไปเดอร์แมนนี่ ที่เขาเก่งกาจได้ขนาดนั้น เพราะโลกของภาพยนตร์มันทำได้หมดแล้ว ไม่ใช่ยุค 50 ปีที่แล้ว
และเราจะพูดเจาะจงลงไปว่า ฉากอีโรติกในหนังเรื่องนี้มันจำเป็นมาก ศีลห้า ข้อที่โดดเด่นที่สุด ซึ่งมักจะทำให้เกิดปัญหากับคนที่สุดและเกี่ยวข้องกับศีลข้ออื่นคือกาเมสุ มิจฉาจารา นั่นเอง มันก็เลยถูกเน้นผ่านตัวละครที่ประพฤติผิดในกาม เมขลา ชนะชล พจน์ และภาคภูมิ มันจะออกมาตรงนี้หมดเลย

– อย่างแม่เบี้ย หม่อมจะเล่าฉากอีโรติกออกมาด้วยวิธีการไหน
เรามาคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อพูดถึงสิ่งดีๆ เหมือนตอนทำจัน ดารา และชั่วฟ้าดินสลาย เราเลยนึกไปถึงการสอนเรื่องราวเหล่านี้ผ่านฉากเซ็กซ์ในวิหารของพุทธศาสนา ที่มีความงาม มีความสวย ถ้าจะทำต้องทำด้วยศิลปะที่สูงมาก มีการซ้อมอย่างดี ซึ่งก็คือซ้อมแบบ choreography เพื่อให้ภาพออกมางาม ไม่ต่างจากบัลเลต์หรือโมเดิร์นแดนซ์ เราเลือกใช้วิธีนี้ และพยายามหาความพอเหมาะพอดี ที่จะทำให้มุมกล้องและแสงออกมาเหมือนภาพเขียน นักแสดงต้องแสดงอย่างมีจิตใจสูง เราจะอธิบายให้ฟังว่า ฉากเหล่านี้จะโป๊จริง โป๊มาก โป๊น้อยก็ตาม เป็นสิ่งที่หากเรามีจิตใจต่ำทำไม่ได้ ต้องเล่นด้วยจิตบริสุทธิ์ เล่นเป็นตัวละครที่ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าตราบใดที่ยังเป็นตัวเราเนี่ย การกอดจูบกับคนที่สนิทก็คงทำไม่ได้ ต้องเล่นเป็นตัวละครจริงๆ เล่นด้วยจิตใจงามจริงๆ เรื่องนี้จะไม่มีเพียงฉากอีโรติก มีหลายครั้งที่นักแสดงต้องเปลือยอกจริงๆ เช่น แม็กกี้ (อาภา ภาวิไล) ที่ต้องเปลือยอก เดินเข้าไปในป่า ในบทของคุณโกสุม ที่เป็นดวงวิญญาณ ซึ่งเราให้แต่งตัวเหมือนนางในวรรณคดี เหมือนภาพเขียนของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และฉากที่เปลือยอกจริงๆ สวยมาก งามมาก เหมือนภาพเขียนมากๆ นักแสดงทุกคนเล่นด้วยจิตใจสูงมาก น่านับถือทุกคน ถ้าจะเจาะลึกจริงๆ เป็นฉากที่เราต้องคิดหน้าคิดหลังเยอะมาก ยากกว่าทุกฉากที่กำกับ นักแสดงต้องห่วงเรื่องแสงที่มากระทบด้วย ผิดองศานิดเดียวก็จะไม่สวยแล้ว แค่นั้นก็จะตายอยู่แล้ว

– ทั้งๆ ที่หลายคนก็รู้ว่า ฉากอีโรติกคือการแสดง แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มดูเหมือนจะรับไม่ได้
เราชอบ โช นิชิโนะ ที่เล่นเป็นแก้วในจันดาราตอบประเด็นนี้ เขาเป็นดาราเอวีของญี่ปุ่น แล้วจริงๆ แล้วดาราเอวีของญี่ปุ่นคือบันไดก้าวไปสู่การเล่นหนังใหญ่ ที่นั่นไม่ได้มองว่าเป็นหนังโป๊นะ เขาดังทั่วโลก มีความเป็นนักแสดงมาก เขาเล่นเป็นหมด เขาบอกเราว่า มีคนเคยถามว่า รู้สึกอย่างไรที่เล่นหนังเอวี มีคนญี่ปุ่นมองในทางไม่ดีบ้างไหม เราจำได้ว่าวันแรกที่ถ่ายฉากอีโรติกของโช เราเชิญแฟนเขามานั่งข้างเราหน้ามอนิเตอร์ แฟนของเขาพูดภาษาอังกฤษได้ แต่โชพูดไม่ได้ เราถามคำแรกว่า ยูมายด์ไหมที่โชเล่นแบบนี้ แฟนเขาหันมายิ้มแล้วบอกว่า “It’s her job.” น่ารักมาก เราเข้าใจเลยว่าทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงเจริญ โชเป็นมืออาชีพมาก ทำการบ้านเยอะมาก และให้ความสำคัญกับบทแก้วมาก เขาเป็นนักแสดงจริงๆ ไม่ได้มาเพื่อเล่นฉากโป๊ ไม่ใช่เลย บทเราส่งไปเป็นภาษาญี่ปุ่นให้เขาก่อน ตอนแรกเราบอกว่า ให้เขาพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วค่อยพากย์ทับเอา แต่เขาบอกว่าไม่ เขาจะพูดภาษาไทย ซึ่งเขาต้องทำการบ้านเยอะมาก เป็นมืออาชีพจริงๆ แต่ในประเทศเรามองต่างกัน ทัศนคติที่มีต่ออาชีพต่างกัน
ยกตัวอย่างตอนจันดารา ฉากที่ตั๊ก บงกช มาเล่นกับเจี๊ยบ (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ตั๊กต้องดันหลังขึ้นเพื่อให้เห็นหน้าอก แล้วแขนข้างหนึ่งของเจี๊ยบต้องคอยซัพพอร์ตตั๊ก แต่ถ่ายแค่ครึ่งตัวนะ อีกข้างอยู่ข้างหลัง เราสงสารเจี๊ยบมากเพราะผ้าปูที่นอนมันเลื่อน แล้วแขนเขาไหลอยู่ตลอด ขณะเขาต้องเอามือยันไว้ ซึ่งฉากนี้มีบทพูดด้วยนะ แต่ความอัศจรรย์ของทั้งคู่ เขาแสดงออกมาแล้วดูไม่รู้สึกเลยว่าแขนจะยันไม่อยู่แล้ว ตั๊กบอกว่ามือพี่เจี๊ยบข้างหลังกำลังแย่ หนูต้องช่วยด้วยการเกร็งไว้เพื่อให้แสงตกตรงหน้าอกพอดี–ถามว่าแบบนี้ยากไหม แล้วยิ่งนู้ดจริงๆ ยิ่งหนักเลยนะ นักแสดงหลายคนบอกตรงกันว่าปวดหลังมาก เพราะต้องบิดหลัง บิดคอ บิดตัวเพื่อโชว์สรีระ แต่หน้าต้องมีอารมณ์เหลือเกิน แต่บางคนมองเป็นความอนาจาร

– อาจเป็นเพราะเรามองแค่เปลือกนอกกันมากเกินไปหรือเปล่า
ใช่ เราเลยมีคำถามว่า คนมีสติปัญญาจริงๆ จะเที่ยวว่าคนโน้นคนนี้แบบนี้เหรอ ถ้าเราทำหนังเซ็กซ์โจ๋งครึ่มไร้ความหมายก็ว่ามาสิ คนที่ว่าเรา เคยดูหนังเราบ้างไหม เราเข้าใจนะว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เราห้ามความคิดใครไม่ได้ มันก็เหมือนยุงกัด เหมือนแมลงวันตอม

– จริงๆ แล้วความสำคัญของภาพยนตร์หรือการละครต่อมนุษย์คืออะไร
ศิลปะประเภทนี้มันเกิดจากสัญชาตญาณการเลียนแบบของมนุษย์ มันเกิดตั้งแต่ยุคหิน มีพิธีกรรมที่เรียกว่า Sympathetic Magic เมื่อล่าสัตว์ได้แล้ว คนที่ไปล่าก็เล่นให้ดูว่าเขาล่าสัตว์มาได้อย่างไร ห่มด้วยหนังของสัตว์แต่ละตัว มีคนเล่นเป็นสัตว์และเป็นผู้ล่า เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการออกไปล่าสัตว์ครั้งต่อไป ซึ่งตรงกับการรบสมัยอยุธยาที่จะมีการ 'ตัดไม้ข่มนาม' ตัดหัวศัตรูเพื่อเป็นขวัญกำลังใจก่อนรบ ส่วนทางตะวันตกจะเป็นไปในทางบูชาเทพเจ้า เริ่มต้นที่กรีก เกิดขึ้นในวัดเช่นกัน โดยที่นักบวชบวงสรวงเทพเจ้าซุส ตอนแรกเอาแพะมาฆ่า ต่อมาเปลี่ยนเป็นการแต่งบทกวี แล้วพัฒนามาเป็นบทละคร ที่เรียกว่า Tragedy ซึ่งไม่ได้แปลว่าละครเศร้า แต่มาจาก Tragos ที่แปลว่าแพะ ode แปลว่าบทเพลง มารวมกันมีความหมายว่า การบูชาด้วยบทละคร โดยเล่นเรื่อง Oedipus Rex ของ Sophocles ว่าด้วยเรื่องของตัวละครเอกที่เมื่อทำบาปบทสรุปคือหายนะ คนดูก็เหมือนได้ล้างบาปของตัวเอง และเข้าใจว่าบาปนั้นคืออะไร นี่คือต้นกำเนิดการแสดงของแท้ มีผลต่อบทละครในหลายร้อยปีต่อมาของเชกสเปียร์ เพราะเชกสเปียร์ศึกษาบทละครของกรีก แล้วนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการสร้างละครของตัวเอง ซึ่งงานของเชกสเปียร์มีผลต่อวงการภาพยนตร์ในเวลาต่อมา ดังนั้นภาพยนตร์จึงมีต้นกำเนิดมาจากละครบูชาเทพเจ้า เกิดขึ้นเพื่อสอนสั่งศีลธรรม ถ้ามองดีๆ แม้กระทั่งหนังซุปเปอร์ฮีโร่ก็ยังพูดถึงความดี หรือแม้บางเรื่องที่คนชั่วลอยนวลไปได้ มันก็สอนเราว่าโลกนี้มันมีคนชั่วนะ เราอย่าทำแบบนี้ ทุกเรื่องมันมีจริยธรรมอยู่ในนั้นหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังอะไรก็ตาม คนที่เข้าใจศิลปะตรงนี้จริงๆ จะรู้ว่าหน้าที่ของภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครเวทีคือเครื่องมือสอนจริยธรรมนั่นเอง ไม่ใช่เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว

– เป็นเหมือนความปรารถนาเล็กๆ ของมนุษย์ที่เชื่อว่าโลกยังมีความดีหลงเหลืออยู่?
ใช่ แม้ว่าโลกถูกทำร้าย หรือคำทำนายที่บอกว่า อีกไม่กี่ปีโลกก็แตก และมีแนวโน้มว่าจะเป็นจริงด้วย เพราะอากาศวิปริตไปหมดแล้ว เพราะคนทำลายโลกหมดเลย เป็นยุคที่น่ากลัวที่สุด ในขณะเดียวกันสิ่งที่หนังนำเสนอออกมาไม่ว่าจะเป็นหนังระดับใด พูดเหมือนกันหมด คือพูดถึงความดีความชั่ว และความดีก็จะชนะเสมอ นั่นคือความหวัง

– หม่อมอยู่ในวงการภาพยนตร์มามากกว่า 30 ปี ความรู้สึกในการทำหนังเรื่องล่าสุดอย่าง ‘แม่เบี้ย’ กับหนังเรื่องแรกอย่าง ‘เพลิงพิศวาส’ เมื่อ พ.ศ. 2527 ต่างกันไหม
ต่างกันมาก อย่าลืมว่าหนังเรื่องแรก ตอนนั้นเราเพิ่งอายุ 30 เอง ไฟแรงมาก passion สูงมาก อยากทำให้ดี ยุคนั้นหนังไทยมีไม่เท่าไหร่ ตอนนั้นเราเป็นผู้กำกับที่เด็กที่สุดในประเทศไทยเลยด้วยซ้ำมั้ง ยุคนั้นยังเป็นฟิล์มอยู่เลยนะ มอนิเตอร์ก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะไฟแรง แต่หลังๆ มามันต่างกันเพราะไม่ได้ทำด้วยอารมณ์แล้ว แต่ทำด้วยเหตุผล

– passion ในการทำหนังลดลงไปตามวันเวลา?
ลดลงมาก ขนาดที่เราทำชั่วฟ้าดินสลาย ไปถ่ายทำกลางป่าที่เชียงราย ตอนนั้นหยุดพักหลังจากถ่ายไปได้ครึ่งเรื่องเอง เราถามตัวเองว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการทำใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่ เราแฮปปี้กับการเป็นครูสอนมากกว่า คิดว่าไม่น่ามาทำเลย เราเหนื่อยมาก ทำไมต้องเหนื่อยขนาดนี้ ตอนนั้นอายุใกล้ๆ หกสิบทำไมต้องเหนื่อยขนาดนี้ เราผ่านอะไรมาหมดแล้ว รางวัลจากต่างประเทศก็ได้มาตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีสื่อ ไปเทศกาลมาหมดแล้ว ในเมืองไทยก็ได้รางวัลมาหมดแล้ว หนังทำเงินก็ได้มาหมดแล้ว หนังเจ๊งก็ทำมาแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาว อย่างเทศกาลหนังถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ไป ไปแล้วก็แค่นั้น ไม่ตื่นเต้นกับอะไรเลย ยิ่งในเมืองไทยยิ่งเบื่อ ไปงานก็นั่งเบื่อ เราไม่อยากไปนั่งข้างใน อยากสูบบุหรี่ แต่ไม่เป็นไร ยิ้มได้ เพื่อให้ภาพพจน์บริษัทดูดี ถูกตั้งคำถามแบบเดิมๆ ตอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า กูผ่านมาเท่าไหร่แล้ว

– แล้วสิ่งที่อยากทำ ณ วันนี้คืออะไร
อยากหยุดทุกอย่างแล้วไปบวช เราศึกษาพุทธศาสนามาเกือบสิบปีแล้ว และได้เจอสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะเรารู้ตัวว่าอารมณ์ของเรามันพลุ่งพล่านมาก มันทำให้เราเปลี่ยนไปในเชิงบวกมากขึ้น มองโลกในแง่ดีมากขึ้น มีสติมากขึ้น เราเลิกสุราได้ เราดื่มมาตั้งแต่อายุ 20 จนถึงเกือบ 60 ตอนแรกคิดว่าตัวเองเป็น alcoholic ด้วยซ้ำ แล้วพุทธศาสนาก็สอนอะไรให้เราเยอะมาก เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์มาก เข้าใจธรรมชาติของจักรวาลมาก เพราะฉะนั้นมันทำให้เรารู้จักตัวเอง คิดว่าการบวชทำให้เราได้ตัดทุกอย่าง เราโชคดีมากที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีแฟน ไม่มีอะไรทั้งนั้น การบวชจะช่วยให้เราตัดได้ทั้งหมด และศึกษาพระธรรมได้โดยตรง จะได้รู้ลึกขึ้น เราวางไว้ตั้งนานแล้วว่าจะรีไทร์ไปบวชที่เชียงใหม่ ที่เชียงดาว ถ้ายังบวชไม่ได้จะไปปฏิบัติธรรมแล้วไปสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค่อยๆ ปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ จนมีสภาวะจิตที่พร้อมก็จะบวช คิดว่ามันจะช่วยให้เราเข้าใจสัจธรรมจริงๆ และมีประโยชน์ต่อสังคมรอบด้านด้วยการสอน คือตอนนี้ 61 แล้ว รู้ตัวว่ายังตัดไม่ได้เพราะเรายังเป็นครูอยู่ มีลูกศิษย์เยอะมาก ทั้งของกันตนา สอนปริญญาโทของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อีก เหมือนเราเกิดมาทุกอย่างถูกวางไว้แล้ว เพราะมีหลายอย่างที่ไม่อยากทำแต่ต้องทำ เช่น การทำหนัง มันเป็นชะตากรรมที่หลีกหนีไม่ได้ ทำให้เชื่อว่าชีวิตมนุษย์ถูกลิขิตมาแล้ว

– ดูหม่อมจะอินกับบทบาทของ 'ครู' เป็นพิเศษ
คือโดยปกติแล้ว เวลาเราทำหนังเรื่องไหน เราก็จะสอนนักแสดงของเราก่อน สอนมาตั้งแต่หนังเรื่องแรก ทุกคนที่เล่นหนังเรา เราจะเปิดคลาสสอนก่อนสักห้าหกเดือน แล้วเมื่อสิบปีที่แล้ว บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ มีนโยบายที่จะสนับสนุนศิลปินของค่ายเขา เช่น พวกเดอะสตาร์ทั้งหลาย เขามาปรึกษาเราว่า อยากให้การศึกษากับนักแสดงที่เซ็นสัญญากับเขา เราเลยบอกว่า บอย การสอนโดยแท้ แค่มาเรียนสิบยี่สิบครั้งแล้วจบกันไปมันไม่ได้หรอก มันต้องนานถึงหกปีถึงจะทำได้ การเรียนสัปดาห์ละครั้งสองครั้งไม่ได้ช่วยอะไร คนที่มาเรียนกับเราต้องเรียนยาว ปัจจุบันก็ต้องเรียนอยู่ พัฒนาบุคลากรกันไป นั่นแหละคือการเริ่มต้นสอนอย่างจริงจัง

– อะไรที่ทำให้หม่อมทุ่มเทกับการสอนขนาดนั้น
เรามองตัวเองเป็นคนสวนที่รักการปลูกต้นไม้ ต้นไม้แต่ละต้นมีธรรมชาติไม่เหมือนกัน เรามีความสุขในการมองการเจริญเติบโตของต้นไม้แต่ละต้น บางต้นต้องการน้ำมาก บางต้นต้องการน้ำน้อย เรามีความสุขสงบจากการดูต้นไม้เจริญเติบโต เป็นการให้ที่เต็มไปด้วยกุศลจิต ให้ด้วยจิตบริสุทธิ์มาก เราให้ความเจริญเติบโตแก่ชีวิต ไม่ต่างจากการมีลูก แต่ลูกเราเยอะแยะไปหมดเลย ลูกสาวคนแรกของเราชื่อสินจัย เปล่งพานิช นั่นนับเป็นลูกสาวคนโต แล้วก็ไล่กันมาเรื่อยๆ ลูกชายคนแรกก็พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง พวกเขาเป็นคนที่เราชื่นชม เป็นต้นไม้ที่ยืนต้นแข็งแรง เป็นร่มเงาให้แก่ต้นไม้อื่น และสักวันเขาจะมาแทนเราได้ แต่เราก็ยังไม่หยุดปลูกนะ ซึ่งการทำหนังเทียบไม่ได้เลยกับความสุขสงบแบบนี้ เราไม่ได้ทำงานเพื่อความสนุก passion มันหมดไปแล้ว

– ถึงวันนี้ ในช่วงอายุ 61 ปี อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
สำหรับเราคือการรู้จักตัวเอง ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร รู้ว่าเรามีหน้าที่อะไร เราไม่ต่างจากพืชหรือสัตว์ เกิดขึ้นมาด้วยธรรมชาติ การเกิดของมนุษย์ที่มีปัญญาไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนอยากมีลูกก็มีไม่ได้ การเกิดมาครบ 32 ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่สุดแล้ว แล้วการที่เราสอนมา 40 กว่าปี เราค้นพบว่ามนุษย์มีความอัศจรรย์ในตัวมากมาย ดังที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าธรรมะอยู่ในตัวของทุกคน ธรรมในที่นี้หมายถึงธรรมชาตินะ เราทุกคนมีความอัศจรรย์ในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่รู้วิธีเข้าถึง แต่เมื่อคุณเข้าถึง รู้จักธรรมชาติของตัวเอง ก็จะรู้ด้วยตัวเองว่า คุณเกิดมามีหน้าที่อะไร

เรื่อง : ฆนาธร ขาวสนิท
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE