‘ชีวิต ECO… No Slow Life’ ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร


ย้อนไปเมื่อก่อนวันสมรสของคู่รักในวงการ ‘ท็อป พิพัฒน์’ และ ‘นุ่น ศิรพันธ์’ มีมุมที่น่าสนใจไม่น้อย

การ์ดเชิญงานแต่งงานของทั้งคู่ ผลิตจากกระดาษสีน้ำตาลที่สามารถรีไซเคิลได้ง่ายกว่ากระดาษฟอกขาวทั่วไป แถมซองที่ใส่ยังสามารถนำกลับมาใช้ต่อได้

รูปแบบงานเน้นเรียบง่ายแบบพอเพียง ในคอนเซ็ปท์ ‘ECO Wedding’

สมุดเขียนอวยพรหน้าพิธีก็ทำมาจากกระดาษที่ใช้แล้ว เพื่อลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้

ชุดเจ้าบ่าวที่แม้จะตัดขึ้นใหม่แต่เจ้าตัวก็เลือกใช้ชุดสูททรงคลาสสิกทั่วไปเพื่อจะได้นำไปใส่ออกงานอื่นๆ ได้ในอนาคต ขณะที่เจ้าสาวก็ปฏิเสธชุดเวอร์วังอลังการ โดยเลือกใช้ชุดที่มีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตัดเย็บใหม่หรือสั่งตรงชุดแพงระยับอิมพอร์ตจากเมืองนอกเมืองนาแต่อย่างใด

อะไรทำให้ผู้ชายคนหนึ่งที่เริ่มต้นเป็นที่รู้จักจากหลายบทบาทในวงการบันเทิง ชีวิตที่ดูน่าจะฟุ้งเฟ้อแปรเปลี่ยนเป็นหนุ่มรักโลก รักสิ่งแวดล้อม ดูแลทั้งต้นรักและต้นไม้ให้หยั่งรากลึกยั่งยืนนานอย่างแข็งแกร่ง mars พาคุณไปเจาะเรื่องราวและเรียนรู้รูปแบบชีวิต ECO ของผู้ชายคนนี้ ‘ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร’

ก่อนอื่นคงไม่ช้าเกินไปหาจะขอแสดงความยินดีกับชีวิตรักของทั้งคู่ด้วย คบกันมา 8 ปีมีเทคนิคบริหารความรักอย่างไร
คบกันมาตั้ง 8 ปี นานเหมือนกันเนอะ (หัวเราะ) เทคนิคบริหารความรักก็ไม่มีอะไรมากครับ พยายามเป็นตัวของตัวเองและปรับในสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะปรับได้แบบที่ไม่ต้องฝืนมากๆ มิเช่นนั้นมันจะกลายเป็นว่าทำได้แป๊บเดียว อันนี้เป็นทั้งสองฝั่งเลยนะครับ คือเราเริ่มก่อนเลย คือเราทำให้เขาเห็นก่อนตั้งแต่แรกๆ ที่คบกันเลย แต่มันก็จะมีเลเวลของมัน บางอย่างที่เราชั่วมากๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลาสักนิด (หัวเราะ) แล้วค่อยแสดงธาตุแท้ แต่ก็ต้องแสดงให้เขาเห็นครับว่าเวลาที่เราโกรธมากๆ หงุดหงิดมาก หรือบางทีเราสันดานเสียมันเป็นอย่างไร เขาจะได้รับรู้ไว้ ซึ่งก็ดีอย่างว่ามันทำให้เราไม่ต้องปรับจูนกันเยอะเพราะต่างเป็นตัวของตัวเอง เขาก็จะเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่าเราไม่ได้เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบอะไร ก็เลยไม่ต้องปรับอะไรมาก

มีจุดที่รับไม่ได้ของแต่ละคนบ้างไหม
มีนะครับ ช่วงที่รับไม่ได้เราก็มีแสดงอารมณ์ใส่กัน มีงอนกันทะเลาะกัน แต่สุดท้ายมันก็ต้องจบที่การเคลียร์กัน เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่ได้อยู่ด้วยกัน เราผิดเราก็จะง้อโดยการไปหาที่บ้านไปเจอพูดคุยกันมันก็ทำให้เขาหายเร็วขึ้น คือเราจะรู้จุดของแต่ละคน เหมือนเวลาผมโกรธมากๆ นุ่นก็จะผ่อนลง แล้วทิ้งระยะให้ผมอยู่คนเดียวเงียบๆ ก่อน พอผมเริ่มเซตระบบตัวเองได้มันจะดีขึ้นเอง ต้องบริหารจัดการซึ่งกันและกัน

ในฐานะคู่รักในวงการ เราใช้ชีวิตอยู่ยากกว่าคู่รักทั่วไปไหม
สำหรับผมนี่ไม่เลยนะ คือเราใช้ชีวิตปกติ อยากไปไหน ทำอะไร เดินทางด้วยวิธีการอะไร เราก็ใช้ชีวิตแบบปกติเหมือนชาวบ้านทั่วไปเลย คือด้วยประเทศเราไม่ได้โหดร้ายเหมือนต่างประเทศที่มีปาปารัซซี่จ้องเกาะติดตลอด จะขยับหรือทำอะไรทีมันดูลำบากมากๆ ทำอะไรก็ดูเหมือนเป็นข่าวได้ตลอดเวลา แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ คู่เราไม่ได้เป็นแบบดาราที่มีชื่อเสียงมากๆ หรือระดับซูเปอร์สตาร์อะไร ไม่ได้ถูกจับตาทุกฝีก้าว ไม่เหมือนบางท่านที่พร้อมเป็นกระแสตลอดเวลา ไม่จะทำอะไรก็ตาม ในส่วนนี้เราเลยค่อนข้างจะสบายๆ ได้อยู่ แล้วด้วยความที่เราเป็นตัวของตัวเอง คนเขาก็เลยรับรู้ว่า มันเป็นของมันแบบนี้แหละ ฉะนั้นเราเลยชิลล์ๆ สบายๆ ไม่ได้กดดันเกร็ง หรือว่าต้องทำอะไรเพื่อที่จะทำให้คนอื่นเขารู้สึกดี

วางเป้าหมายอนาคตเรื่องครอบครัวไว้อย่างไร
ตอนนี้ก็ยังไม่ได้วางเป้าหมายอนาคตอะไรกันเลยครับ (หัวเราะ) เราวางเป้าหมายระยะสั้นกันมากกว่า ตอนแรกก็วางว่าคบกัน ตอนนี้ก็แต่งงานกัน แล้วก็อยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ยังไม่ได้วางเป้าว่าจะมีลูกด้วยกัน หรือว่าอนาคตจะแก่ตายด้วยวิธียังไง ไม่ได้วางอะไรแบบนั้น ก็ใช้ชีวิตคู่กันไป ทำให้มันเวิร์คๆ ในทุกๆ วันแบบนี้ตลอดไป

หลายคนบอกว่า คู่นี้คือคู่รักต้นแบบสำหรับวัยรุ่นยุคใหม่ ส่วนตัวเราเองรู้สึกอย่างไร
จะพูดแบบนั้นก็คงไม่ใช่ เพราะผมเองก็ไม่ได้เป็นชีวิตคู่ที่ดีหรือบริหารได้ดีมากนัก เรามีทะเลาะกัน เรามีไม่เข้าใจกัน มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหลายเรื่องอยู่ ไม่ได้เป็นคู่สวีทหวานหรือว่าจะเป็นตัวอย่างให้กับใครได้ พูดจริงๆ จะให้ผมไปแนะนำใครเรื่องการบริหารความรักก็คงจะลำบาก แต่สิ่งที่ผมทำแล้วรู้สึกดีคือการเป็นตัวของตัวเอง พร้อมๆ กับที่ผมแคร์อีกคนหนึ่งเสมอด้วย

ส่วนไหนที่เขาประทับใจเรา
ผมคงหล่อแหละ (หัวเราะ) อันนี้ต้องถามเขาเอง เพราะเขาก็ไม่เคยบอกผมเลย ผมว่าคงหลายๆ อย่างประกอบเข้าด้วยกันแหละ เริ่มต้นจากความสนใจหรือเคมีบางอย่างที่มันตรงกัน เลยทำให้เราสามารถอยู่ด้วยกันได้ยาวนาน

สำหรับชีวิตคู่คิดว่าปัญหาไหนข้ามผ่านยากที่สุด
การที่เสแสร้งใส่กัน คือการโกหกตัวเองนี่แหละ คืออย่างถ้าเราไม่ใช่เป็นผู้ชายโรแมนติก แล้วช่วงโปรโมชั่นเรากลับพยายามจะโรแมนติก พยายามจะจำทุกวันที่เป็นวันสำคัญในชีวิตของเขาหรือทุกสิ่งอย่างของเขาให้ได้หมด พอมันเฟคหรือเสแสร้งใส่กัน พอวันหนึ่งเราเองนี่แหละที่จะเป็นคนทำไม่ได้ แล้ววันที่เราทำไม่ได้ เขาก็จะบอกว่าเราเปลี่ยนไป จริงๆ เราไม่ได้เปลี่ยนไปหรอก เราแค่กลับไปเป็นตัวเอง คือมึงเป็นคนของมึงแบบนี้อยู่แล้ว มึงไม่ได้เป็นคนจำรายละเอียดอะไรเยอะแยะ ผมก็เลยคิดว่าเราเป็นแบบไหนก็เป็นแบบนั้น อย่าพยายามเป็นหรือฝืนจะเป็น

มาที่ตัวท็อป จากบทบาทในวงการแบบที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน ทำไมวันหนึ่งเหมือนท็อปถอยตัวเองออกมา
ตอนนั้นเหมือนได้ลองเล่นอยู่บ้าง ถามว่าชอบไหม ผมก็ชอบนะ แต่เรารู้ตัวเองดีว่าทำได้ไม่ดีนัก เพราะเราไม่ได้เริ่มจากพื้นฐานที่ดี ไม่ได้เรียนการแสดงมา เราไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องเข้าไปอยู่ในวงการบันเทิง การทำตัวหรือการที่จะใฝ่ดีในเรื่องของการแสดงมันมีไม่มาก แล้วพอเราเป็นแบบนั้นเราก็เริ่มรู้ตัวว่าอะไรที่มันพอจะผลักดันเราได้ เราก็เริ่มที่จะตัดทอนบางอย่าง อย่างการแสดงผมก็รู้ตัวว่าผมไม่ใช่คนที่มีแอ๊คติ้งที่ดีนัก ฉะนั้นถ้าผมจะมีแอ๊คติ้งที่ดีขึ้นผมก็ต้องไปเรียนต้องไปศึกษามัน แต่ผมชอบมันถึงขนาดจะต้องไปศึกษามันหรือเปล่าก็ไม่ใช่ ฉะนั้นในวงการบันเทิงผมเลยลดบทบาทต่างๆ ที่เราคิดว่าไม่ใช่ลง และเลือกที่เราชอบนั่นคืองานพิธีกร ซึ่งผมรู้สึกว่าผมชอบและอยากที่จะทุ่มเท ผมก็ไปเรียนเพิ่มเติม ลองไปทำรายการที่มันหลากหลาย ฝึกการใช้เสียงต่างๆ อันนี้ก็เลยรู้สึกว่า ในส่วนวงการบันเทิงเราก็ทำงานพิธีกรไปดีกว่า
แต่นอกนั้นมันก็จะมีงานอย่างอื่นที่เราชอบ นั่นคืองานออกแบบ ที่ผมจบมาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร และเรื่องที่เราสนใจนั่นคือสิ่งแวดล้อม ก็เลยเหมือนแบ่งตัวเอง แบ่งความรับผิดชอบหรือความสนใจออกมาให้เรื่องนี้ จากเดิมที่มันก็ไม่มากเท่าไร แต่พอทำไปมันก็รู้สึกอินมากขึ้น แล้วมันก็เป็นอาชีพของเราอีกอาชีพหนึ่ง เลยแบ่งน้ำหนักให้มีน้ำหนักที่มากขึ้นเรื่อยๆ

อะไรคือสาเหตุให้เริ่มสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม
มันเริ่มจากจุดเล็กๆ คือเราไปดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ได้ดู อัล กอร์ พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วเราเข้าใจง่าย เลยกลับมาศึกษาต่อ หยิบเรื่องนี้มาทำวิทยานิพนธ์ตอนเรียนปริญญาโท (มหาบัณฑิต MBA ด้านการตลาด มศว.) จนมีโอกาสได้ไปเป็นดีไซนเนอร์ จนได้มาเปิดร้าน ECO SHOP เล็กๆ เมื่อก่อนนี้ แล้วมันก็เป็นที่มาที่ทำให้เราได้เห็นข้อดีแบบจริงๆ จังๆ คือข้อเท็จจริงที่ว่า การทำอะไรพวกนี้ มันไม่ได้มีข้อดีเฉพาะกับสิ่งแวดล้อม ที่คนรู้สึกว่ามันไกลตัว แต่มันดีกับคนที่เริ่มทำ ดีกับผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงาน คนในโรงงาน ตัวดีไซเนอร์เอง ทุกอย่างผมว่ามันโอเคหมด ผมก็เลยรู้สึกว่าทั้งหมดมันเป็นข้อดีโดยตรงที่น่าจะบอกต่อ หรือสื่อสารให้กับคนอื่นๆ ได้รู้ เลยเป็นที่มาของการเปิด ศูนย์การเรียนรู้งานออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ECO SHOP Common) ขึ้นที่บริเวณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ใช้คำว่าศูนย์การเรียนรู้เท่ากับเราไม่ได้ตั้งใจที่ทำเพื่อการค้าเป็นหลัก
ปีแรกเราให้ความรู้ 70% ขาย 30% แต่พอเราเริ่มทำแล้วคนเขาแสดงออกชัดเจนว่าเขาอยากที่จะซื้อ แล้วพูดตรงๆ เลยว่าเราต้องการผู้สนับสนุนเพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้มันดำเนินอยู่ได้ เราก็มาคิดว่าทำไมเราไม่ลดปริมาณของผู้สนับสนุนลง แล้วมาทำให้คนยังรู้สึกว่าได้ความรู้ เลยนำสินค้ามาให้ความรู้ด้วยแผ่นป้ายอธิบาย อย่างเรื่องออร์แกนิคเราก็มีป้ายอธิบายใช้อินโฟกราฟิกต่างๆ มาอธิบายไปพร้อมๆ กับตัวสินค้า คือถ้าคุณชอบมันก็สามารถซื้อไปใช้ได้ ผมว่าแบบนี้ทำให้รู้สึกว่ามันดูยั่งยืนกว่ามาก แทนที่จะมาดูๆ เสร็จ กลับไปก็ลืม อันนี้ดูเสร็จได้ข้อมูลกลับไปลองใช้ได้เลย ลองใช้แล้วถูกใจก็อาจจะอยากลองใช้ของอื่นๆ หรือสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มันอาจจะเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขาสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ได้ สินค้าทั้งหมดเราไม่ได้คิดค้นเอง เราเป็นเหมือนที่ที่ทุกคนสามารถเอาของมาแสดงได้

ศูนย์การเรียนรู้สอนอะไรและสอนใครบ้าง
หลักๆ ก็มีสามกลุ่มครับ กลุ่มคนทั่วไป ให้เขาเรียนรู้ว่าการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมันเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องยากปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองแค่ปรับมาใช้ในบางส่วนของชีวิต ดีไซเนอร์ได้มาดูวัสดุอะไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เผื่อจะได้ไปปรับใช้หรือเลือกใช้ได้ ได้เห็นตัวอย่างงานออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เห็นวิธีการขาย การตั้งราคา หรือว่าคอนเซ็ปต์ต่างๆ คนที่เป็นเจ้าของโรงงาน เจ้าของกิจการก็สามารถมาดูเป็นตัวอย่างได้ เพื่อกลับไปพัฒนาโรงงาน สถานประกอบการ หรือสินค้าของเขา
นอกจากนี้ ในภาคของการออกแบบเขาเริ่มหันมาสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เลยติดต่อให้ผมไปช่วยเล่าให้นักศึกษาได้ฟังหน่อยว่า วิธีการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมันมีอะไรบ้าง เราก็หยิบสิ่งที่เป็นประสบการณ์ของเรา หยิบงานออกแบบของเรากับของทีมไปเล่าให้เขาฟัง เน้นเรื่องของ ECO Design

ตัวตนชีวิตท็อปเป็นแบบ Slow Life ไหม
ผมปกตินะ ผมใช้ชีวิตปกติมากๆ แถมบางอย่างก็ทำลายสิ่งแวดล้อมเสียด้วย (หัวเราะ) เราเป็น ECO แบบมีกิเลส คือบางครั้งเราไปร้านอาหารเราอยากกินโน่นนั่นนี่หลายอย่างเราก็สั่งมา แล้วบางทีมันก็เหลือเยอะเหมือนกัน แต่ว่าเวลาที่มันเหลือสิ่งที่ผมกับนุ่นไม่เคยอายเลยก็คือการใส่กล่องกลับบ้าน หรือว่าถ้าน้ำเหลือผมก็จะขอขวดนั้นออกมากินต่อ คือเรายังต้องทำงาน ยังต้องวิ่งตามกระแสสังคมและโลกอยู่ ฉะนั้นบางทีเราต้องแบ่งแยก การทำอะไรบางอย่างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมันทำให้สังคมมันดีขึ้นจริง แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของการทำให้บริษัทผมอยู่รอดได้ด้วย เพราะว่าพนักงานในออฟฟิศหรือเด็กๆ แต่ละคน เขาต้องกินต้องใช้กันหมด เลยต้องทำให้สองอย่างมันสมดุลกัน
เหมือนเราอยู่กับความเป็นจริงในระบบทุนนิยมด้วย คือ เพราะเราต้องอยู่ เราอยู่กรุงเทพฯ เราอยู่กับครอบครัว เราอยู่กับสังคมเพื่อนหรือคนทำงานที่เป็นแบบนี้ เราต้องพยายามเข้าใจเขา สมมุติว่าผมไปรับงานหนึ่งมาแล้วบริษัทนั้นเขาอยากทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อประชาสัมพันธ์ เราเห็นอยู่ว่าบางอย่างมันอาจจะไม่ได้อุดมการณ์มาแบบเต็มที่จากลูกค้าที่มาจ้าง แต่ก็คิดว่าถ้าเกิดเขาให้เราทำ แล้วเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำเราทำอะไรอยู่ แล้วเราทำให้มันได้เห็นผลจริงๆ มันก็น่าจะดี เราก็ตั้งใจทำของเราไป แล้วเขาจะเอาไปเพื่อใช้ประโยชน์อะไรหรือเพื่อประชาสัมพันธ์อะไรก็แล้วแต่เขา เพราะเขาจ่ายเงิน (หัวเราะ)

เหมือนว่าต่างคนต่างมีแก่นของตัวเอง
ใช่ครับ ผมรู้ว่าความรับผิดชอบของบริษัทคืออะไร แล้วสิ่งที่ผู้จ้างต้องการคืออะไร ก็จับมาเจอกัน แต่ผลที่จะได้รับมันต้องให้เห็นผลจริงๆ

ก้าวต่อไปของบริษัทเราล่ะ จะไปในทางใด
คือตอนนี้เราเหมือนเป็น ECO Agency ถ้าเกิดมีคนสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะในประเด็นไหนก็ตาม เราสามารถจัดสรรให้ได้ ถ้าทำเองได้เราทำเอง ถ้าต้องการเครือข่ายเรามีคอนเน็คชั่นต่างๆ อยู่ ก็ทำแบบนี้เพื่อเป็นคอนเซาท์ให้กับหลายๆ ที่ เช่น องค์การหมู่บ้านต้องการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากกระบวนการก่อสร้าง เราก็จะมีทีมเข้าไปเก็บข้อมูลและพยายามหาวิธีเบื้องต้นเพื่อทำให้เขาสามารถลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นได้ บริษัทไหนอยากให้พนักงานของเขารู้สึกว่าการสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องยาก หากิจกรรมไปให้เขาทำ ทำให้เขาใส่ใจหรือสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรมากขึ้น หรือว่าการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนต้องการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของคนในชุมชน แล้วนำขยะพวกนี้ไปทำอะไรต่อได้ ตรงนี้แหละที่เป็นก้าวต่อไปที่บริษัทจะทำ นอกเหนือจากการเป็นศูนย์การเรียนรู้ หรือการมีสินค้าของตัวเองจะเป็นบริการที่มีมากขึ้น

เห็นว่าทำแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมออกมาด้วย
ใช่ครับ ตอนนี้เรามีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น ‘ECOLIFE’ เป็นเรื่องที่เราพยายามทุ่มเทอย่างมาก เป็นแอพพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมาเพื่ออยากจะให้คนเปลี่ยนการเดินทางให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการเดิน ปั่นจักรยาน หรือว่าหากยังอยากขับรถต้องไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะจะทำให้ประหยัดพลังงานได้ 20% เราพยายามทำตรงนี้ให้คนรับรู้ว่าการพยายามเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่เรื่องยาก แล้วทุกวันเราทุกคนต้องเดินทางอยู่แล้ว เราก็ให้เขาทำโดยที่มีแรงจูงใจคือนำ ‘ECOpoints’ ไปแลกรับส่วนลดตามร้านค้าร้านอาหาร แล้วปริมาณที่เกิดขึ้นในแอพพลิเคชั่นจากการลดคาบอนไดออกไซน์ เราจะทำการปลูกในพื้นที่จริงๆ ให้ด้วย ก็ถือว่าเป็นการใช้นวัตกรรมเพื่อมาทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป ผมก็พยายามจะนำตัวเข้าไปให้มหาวิทยาลัยได้ใช้กันทั่วทั้งประเทศ ตอนนี้เราก็พยายามเน้นเรื่องของการเข้าถึงในกลุ่มมหาวิทยาลัยอยู่

ในมุมมองของท็อป ทำไมคนถึงต้องหันมาสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม
ผมพูดก่อนว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้มันบังคับกันไม่ได้ ตอนแรกหากมีคนมาบังคับแล้วผมไม่สนใจหรือผมไม่ชอบยังไงก็แล้วแต่ผมก็จะไม่สนใจมันอยู่ดี เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราเคยเรียนสมัยมัธยม พิธีสารเกียวโต กรีนเฮ้าส์เอฟเฟ็คท์ เราเคยเรียนอยู่แล้วแต่เราไม่เคยสนใจมัน ถ้ามีอาจารย์มาบังคับก็บังคับได้แค่เอาคะแนนสอบ ฉะนั้นเรื่องนี้เราบังคับกันไม่ได้ แต่บังเอิญว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ผมสนใจ ผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่มันน่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ เช่น พอโลกมันร้อนขึ้นธรรมชาติจะเปลี่ยนผลกระทบมันเกิดขึ้นกับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม แล้วคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมมันต้องอยู่ร่วมกันในสังคม ฉะนั้นสังคมที่มันอยู่รวมกันแล้วไม่สนใจกัน ผลกระทบมันจะเกิดขึ้นกับเรานี่แหละ เราเองนั่นแหละที่จะเดือดร้อนนั่นคือสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว แต่การที่จะปรับพฤติกรรมมากน้อยนั้น มันแล้วแต่คนสนใจ

ตัวท็อปเองเริ่มต้นจากตรงไหน
เริ่มจากการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก่อน พอเราทำงานออกแบบก็เริ่มหันกลับมาดูว่าเราจะปรับพฤติกรรมอย่างไรได้บ้าง ไม่ใช่ว่าพอเวลาทำงานออกแบบแล้วบอกว่างานออกแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่จริงๆ ตัวเราเองนั้นไม่เคยทำอะไรเลย ผมว่ามันไม่ใช่ เราก็เลยลองค่อยๆ ดูว่าจะปรับใช้กับชีวิตตัวเองได้อย่างไรบ้าง ก็มาทดลองทำ แต่ยอมรับเลยว่าผมก็เป็นคนที่ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง บางอย่างเราลองแล้วทำได้ก็ทำต่อเนื่องไป ถ้าอะไรที่ลองทำแล้วไม่ได้ก็เลิกทำไป ไม่งั้นมันจะไปฉุดสิ่งที่ทำได้ เช่นปั่นจักรยานในทุกๆ ที่ อันนี้ผมทำไม่ได้

คิดว่าจุดเล็กๆ ของเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับสังคมได้บ้าง
เราก็หวังนะว่าเราอยากจะเห็นสังคมของคนที่สนใจในเรื่อของสิ่งแวดล้อม มาพูดคุยแลกเปลี่ยน มาแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งกันและกัน ก็อยากจะเห็นแบบนั้น เราก็เริ่มต้นมี ECO MARKET Family ตอนช่วงเปิดศูนย์การเรียนรู้ใหม่ๆ ก็ได้เห็นสังคมย่อมๆ ของคนที่เข้ามาแล้วก็มาใช้ชีวิตแบบ ECO ร่วมกันที่นี่

มองไปถึงต่อยอดสู่ต่างประเทศไหม
ผมคงเอาแค่ในประเทศก่อน ถ้าเกิดเรายังเปลี่ยนที่ที่เราอยู่ไม่ได้ ผมก็คงไม่กล้าคิดที่จะไปถึงต่างประเทศ แล้วถ้าเกิดจะคิดถึงต่างประเทศจริงๆ ก็อาจเป็นประเทศเพื่อนบ้านเรานี่แหละ เพราะประเทศที่เขาเจริญแล้วเขาสนใจในเรื่องนี้อยู่แล้ว มากกว่าเราด้วยซ้ำ จนกลายเป็นเรื่องปกติของเขาไปแล้ว

เท่ากับว่าประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา มีความสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมต่างกัน
เปรียบเทียบง่ายๆ ครับ ถ้าเกิดคนยังต้องหาเลี้ยงปากท้องตัวเอง เขาจะใส่ใจกับการหาเลี้ยงตัวเองให้ท้องอิ่มก่อนที่จะไปใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่บางทีมันดูเหมือนไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงกับร่างกายและครอบครัวเขาแบบทันทีทันใด ซึ่งก็ไม่แปลก ฉะนั้น ประเทศเรามีคนกระจุกอยู่แค่ตามหัวเมืองใหญ่มากกว่า ซึ่งเราก็หวังว่าจะได้คนกลุ่มนี้มาก่อน ส่วนคนที่ใช้ชีวิตดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงปากท้องอยู่แล้ว ผมว่าคนกลุ่มนั้นเขาต้องไปดูแลในเรื่องนั้นก่อน
แต่มีอย่างหนึ่งที่มันคาบเกี่ยวกันคือ ถ้าเกิดเราย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ของเรา ทำนาทำไรแบบไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง การไปตลาดแล้วหิ้วตะกร้าไป การใช้น้ำจากการสูบบาดาลขึ้นมา หรือว่าการผลิตที่ผลิตเพื่อใช้เองก่อน พอเหลือแล้วค่อยไปให้เพื่อน นำไปแลก ไปแจก หรือไปขาย ผมว่าวิถีแบบนั้นวิถีแบบไทยดั้งเดิม ยิ่งเป็น ECO มากกว่าแบบที่ผมทำอยู่ด้วยซ้ำไป ฉะนั้นคนที่เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว คนที่อยู่ต่างจังหวัด เขาใช้ชีวิตแบบถูกต้องอยู่แล้ว แล้วคนพวกนี้จะสุขภาพแข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ อันนั้นเราไม่ต้องห่วง เรามาห่วงตัวเองเถอะ (หัวเราะ) มาห่วงคนในเมืองดีกว่า เราสูบควันพิษ ใช้ของฟุ่มเฟือย เจอการโฆษณาชวนเชื่อแบบเต็มเหนี่ยว ตรงนี้แหละน่าห่วง

ฝากถึงน้องๆ รุ่นใหม่เรื่องของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม
อย่างที่บอกเรื่องนี้เป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้จริงๆ นะ แต่ผมเห็นว่าหลายๆ คนทำเพราะอยากรู้สึกว่าเราได้ทำอะไรบางอย่างให้มีประโยชน์ แล้วผมก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ถึงแม้ว่ามันจะเป็นแฟชั่นหรือกระแสก็ตาม เพราะกระแสมันก็มีความหมายว่าเป็นเรื่องที่คนหลายๆ คนทำ แล้วผมว่าเวลาที่คนหลายๆ คนทำมันจะต้องมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ทำแล้วรู้สึกว่าชอบ แล้วทำได้อย่างต่อเนื่อง ผมมองว่ามันเป็นเรื่องดีทั้งหมดแหละ ขอให้ลองเริ่มต้นและสนใจ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถสนใจได้ ผู้ชายถ้าชอบเรื่องรถก็มีเรื่องรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ชายที่สนใจเรื่องของเครื่องเสียง หรือ Gadget เทคโนโลยี ทุกๆ อย่างมันมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ ลองสนใจพวกนี้ดู หรืออย่างผู้หญิงสนใจเรื่องแฟชั่นหรือการปลูกผัก การทำของกระจุกกระจิก เราก็มีเรื่องที่จะทำให้ผู้หญิงสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น ถ้าเริ่มต้นสนใจแล้วนำมาบวกกับสิ่งที่ตัวเองชอบ ก็สามารถทำต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวมันจะขยายจากจุดเล็กๆ ไปเอง เดี๋ยวก็น่าจะสนใจเรื่องอื่นๆ ได้อีก
เริ่มต้นทำง่ายๆ แล้วก็อย่าฝืน ถ้าเราเริ่มฝืนมันจะทำได้ไม่นาน เป็นตัวของตัวเองเหมือนที่บอกนั่นแหละครับ อะไรทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็อย่าไปฝืนทำมัน เรื่องนี้ผมก็ให้ลองเปรียบเทียบดูเลย มันมีข้อดีจริงๆ ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ เราก็จ่ายค่าน้ำค่าไฟได้ถูกกว่า การพกผ้าเช็ดหน้าแทนทิชชู่มันก็ทำให้หน้าไม่มัน เหงื่อออกเช็ดได้สิวไม่ขึ้น การที่จะทำให้โลกมีความร้อนลดลงกว่านี้หรือที่เขาพูดกันยากๆ เวลาที่มันมีปรากฏการณ์เรือนกระจก สุดท้ายผลมันจะสะท้อนกลับมาที่เราทั้งสิ้น ทั้งเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง เสี่ยงเป็นฝ้า หรือโรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง ตัวเราเองทั้งนั้นแหละที่ได้รับผลกระทบ ถ้าเกิดเราคิดว่าเรารักตัวเราเอง รักครอบครัวหรือคนรอบข้างตัวเรา สิ่งแวดล้อมทันเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทั้งหมด ถ้าเราใส่ใจและเราแคร์มันก็สะท้อนกลับมา แล้วเราน่าจะเป็นคนแรกที่รู้สึกดีกับมันได้
เรื่อง : อิทธิพล เนียมสวัสดิ์
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE