คลับโป๊ เพลงโป๊ ระบำเปลือย


Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com

ใน “คลับเปลือย” หรือ “สตริป คลับ” (Strip Club) ของฝรั่งตะวันตกนั้น มีการแสดงการเต้นระบำ หรือ การร่ายรำเชิงศิลปะแบบกึ่งเปลือย ที่ถือเป็นหน้าตา แบบเรียกแขก เรียกลูกค้าให้เข้ามาท่องเที่ยวหาความสุขสำราญ ผ่านโลกียะสถานสวรรค์บันเทิง สำหรับคนกลางคืน อันเป็นที่นิยมกันมากอีกรูปแบบหนึ่ง

เมื่อมีการเต้นก็ต้องมีเพลงประกอบ เพลงประกอบการแสดงของนางโชว์นี้ก็สำคัญ บางเพลงเนื้อหาก็อาจจะเขียนถึงเรื่องความรัก หรือเรื่องต่างๆ โดยออกแนวทางกว้าง ไม่มุ่งเน้นเนื้อหาส่อไปในทางยั่วเร้า บางเพลงก็สนุก บางเพลงก็ยั่วล้อเรื่องเพศ แต่โดยรวมแล้วจังหวะและท่วงทำนองนั้นสำคัญกว่าอื่นใด เพราะส่งผลสู่ลีลา ท่าทาง ของผู้แสดง

เพลงประกอบการเต้นของนางโชว์แนวนี้นั้นมักเป็นเพลงแนวโซล ร็อก ฮิป ฮ็อป หรือทันสมัยหน่อยก็กระฉึกกระฉักแบบ “ดับ สเต็ป” แต่เดิมนั้นมักออกทางแนวบลูส์ ที่ให้ความโหยหวน สะเทือนลึก คืบรุกในอารมณ์ เมื่อนำมาใช้ประกอบท่าเต้นอันแสนเซ็กซี่ และรูปลักษณ์อันเย้ายวนเสน่ห์ทางเพศของหญิงหรือชาย(ระบำเปลือยชาย)บนเวทีนั้นแล้ว เพลงเหล่านี้ก็จะมีพลังสร้างสรรค์กำกึ่งอยู่ระหว่างความเป็นศิลปะหรืออนาจาร ก็แล้วแต่มุมมอง ของผู้เสพว่าจะใช้ใจ อันใคร่ว่าเป็นปุถุชนผู้ยังเริงโลกย์ หรือเป็นผู้เคร่งศีลพรต

เพลงแนวนี้จัดเป็นเพลงอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มุ่งเน้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อไปรับใช้ในจุดประสงค์ เฉพาะสิ่ง เฉพาะกิจ และกาลนั้นๆ อัน เป็นเพลงเด่น ที่เน้นรูปลักษณะแห่งศิลปาการอันเรียกว่าเพลง “สตริปทีส”นั่นแล

ที่ยกตัวอย่างมาให้ชมนี้คือ เพลงและวีดิโอประกอบแบบไม่ติดเรทมากนัก ขอยกมาพอเป็นสังเขป มิอาจจัดเต็มได้ดังใจ ดังนี้
“You Can Leave Your Hat On” ของ โจ ค็อกเกอร์

กับเนื้อหาที่เชิญชวนให้เปลื้องเปลือย แบบตรงธีม เพลงเก่าของแรนดี้ นิวแมนในปี 1972 และมาโด่งดังในเวอร์ชั่นของโจ ค็อกเกอร์ ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ 9½ Weeks ของ เอเดรียน ลีน กับฉากระบำเปลือยในจอแบบคลาสสิกเข้ากับเนื้อหาของเพลงแบบสมบูรณ์ในสมดุล

“Cream” ของ พรินซ์

ราชันในร่างเจ้าชาย “พรินซ์” ให้ความหมายในเชิงนัยยะ ต่อเนื้อหาที่บ่งบอกออกไปในเชิงอีโรติก การก้าวล้ำทางเพศไปในทางค่อนข้างจะดิบเถื่อน เป็นที่ฮือฮาและกล่าวขวัญกันมากในยุคดิสโก้ กับขาวเลอะเมือกแห่ง”ครีม” โดยเฉพาะด้านเนื้อหาก็ส่อแววออกไปทางไม่กั๊กก้ำกึ่ง หากทว่าจัดเต็ม แบบผู้ดีมีศีล เคร่งศาสนาสุดจะทน

“You got the horn so why don’t you blow it
You are filthy cute and baby you know it.”

กับเนื้อหาที่ออกทะเล้นสองแง่สองง่าม กับลีลาท่าทางสนุกกับการเต้นปานเจ้าชายผู้เปี่ยมโลกย์ พรินซ์ คือเจ้าชายที่ฮิตสุดขีดในแนวทางเพลงแนวนี้

“Buttons” ของ พุซซี่ แค็ท ดอลส์

กับการเริงระบำป๊อปแดนซ์ ประมาณ แบบเปลื้องปลดกระดุม สาวเจ้าเอาอยู่กับท่วงท่าแห่งสำนักมาตรฐาน โดยออกแนวศัสตราเอกอาวุธ คือ เดียวเก้าอี้ตัวเดียว แบบกระชากใจคนชม นับเป็นอีกความสุดลิ่ม สุดยอดแห่งความเซ็กซี่ กับผิวสีแทน และ ถ้าจะพรรณนา บรรยายโวหารให้ อะไรคงไม่เหมาะสมเท่ากับ การยกบทกวีชมนางแบบฉันท์โบราณมารองรับ

“ผิวผ่องคือมุกดา บริสุทธแสงใส
เลงแลอุรุศรี ฤดีกาลดูพิสมัย
คือฐานบันใน สุขเสพเสวยรมย์
ดวงนมอันครัดเคร่ง ตเต่งเต้าทั้งสองสม
แน่งนวยสลวยกลม ศุภสวัสดิไพบูลย์…”

กับลีลานางที่ออกชวนเคลิ้ม โลมร่ายรื้นระบำกระหน่ำใจ ทุกคนคงเห็นด้วย

“Closer” ของ ไนน์ อินช์ เนลส์

กับจังหวะและแนวเพลง ดับ สเต็ป การเริงระบำกับเสา คืออีกรูปแบบหนึ่งของ ”สตริปทีส” ที่มีพัฒนาการสืบต่อมา มีนักจิตวิทยากล่าวถึงประเด็นนี้เกี่ยวกับผู้ที่ชอบเต้นระบำแนวนี้ว่า

“…หล่อนคิดว่ามันไม่ต่างกับการเต้นระบำปลายเท้า บัลเลต์ เป็นอีกรูปแบบของศิลปะการเคลื่อนไหว ที่ให้อิสระ, การแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง, เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่น, มีความสนุกและและผ่อนคลาย การเต้นสตริปทีส ในแนวทางนี้ จึงเป็นการออกกำลังกายที่เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และระบบการหายใจ กิจกรรมเบื้องต้นให้ความรู้สืกถึงความมีพลังของผู้หญิงและ รู้ซึ้งถึงความเซ็กซี่ของตัวเองอีกด้วย…”

คำโปรยและอวยศิลปะแนวทำนองนี้ ทำให้มีการพัฒนาต่อยอด แตกแถวแนวทางการเยื้องย้ายร่ายระบำเปลื้องผ้าไปสู่ศิลปะแห่งอารยชน แบบอาศัยจิตวิทยาแบบปัจเจกวิสัย

“Private Dancers” ของ ทีนา เทิร์นเนอร์

สุดท้าย คือตัวอย่างของศิลปะที่กล่าวโดยสรุป เป็นเพลงที่สะท้อนชีวิตของ ”นางระบำเปลื้องผ้า” (Striptease) ได้อย่างชัดเจน และลงตัวในเนื้อหา เพลงนี้แต่งโดย สุลต่านแห่งกีตาร์สเกล อาร์เพจจิโอสไตล์ มาร์ค นอปฟ์เลอร์ เป็นเพลงเอกที่คู่ควรกับตัวนักร้องยิ่ง อยู่ในอัลบั้ม Private Dancer ของราชินีร็อค-โซล ที่ขายดีอีกชุดหนึ่ง ในปี 1984

ตัวเพลงมีลายเซ็นเอกลักษณ์ ทั้งเมโลดี้ ท่วงทำนอง ร็อคในยุคนั้นที่ไพเราะสุดกึ๋น จากการเรียบเรียงดนตรี ที่ให้ความรู้สึกสะอาดเกลี้ยงเกลาในสุนทรียะ ทั้งภาคพื้นริธึ่ม และท่วงทำนองที่อินโทรเพลงด้วยเปียโน ผสานลุ่มลึกด้วยออร์แกนแฮมมอนด์ และซีนธิไซเซอร์ เสริมการโซโลกีตาร์ของ ราชัน เจฟฟ์ เบ็ค ในห้องอัด และเสริมเสน่ห์ด้วยการใช้แซ็กโซโฟนเข้ามาร่วมขยี้อารมณ์ บรรเลงโดยเมล คอลลินส์ ทำให้เพลงมีความอลังการงานและเท่มาก

โดยเนื้อเพลงออกแนวสวยงามสะท้อนสังคม ให้คนฟัง เห็นใจในชีวิตบรรดาเหล่า นางโชว์มากขึ้น

นอปฟ์เลอร์เขียนเนื้อหา ตรงไปตรงมา พรรณนาภาพเบื้องหลัง ฉากหลังของนางโชว์ ที่กำลังเปลื้องผ้าออกทีละชิ้นๆ แบบยั่วสวาทบาดใจชายที่กระหายต่อการจ้องโลมโนมเนื้อ นางผู้ดำรงชีพเหมือนจะเกลือกกลั้วอยู่แต่กามราคะ ท่ามกลางรังสีอำมหิตแห่งความหื่นกระหายในเพศรสจากบุรุษเพศ

สุดท้ายนางแสนงาม ผู้สะโพกสุดเสียงสังข์ เอวคอด และอกสวย ก็จะมีอาภรณ์แค่จีสติงในท่อนล่าง บราหุ้มถันตัวกระจิ๋วกับท่อนบน และ มีอุปกรณ์แค่เสาสแตนเลสเกลี้ยงๆ หรือไม่ก็เล่น เริงร่าอยู่แค่เก้าอี้ตัวเดียวอัน เป็นขนบนิยมของการเต้นโชว์ “สตริปทีส”

โลกแห่งโลกียะ ที่ถือว่าเป็นศิลปะ หรืออนาจารก็แล้วแต่ใจ แต่เบื้องลึกของสภาพจิตของนางเหล่านี้นั้น เนื้อเพลงเผยใจว่า พวกหล่อนก็แค่คิดว่าเป็นแค่การงาน ที่ต้องทำตามหน้าที่ มีการประชดแถมท้ายแบบสะใจในรู้ทัน แกมเหน็บแนมว่าพวกผู้ชายที่เข้ามาหาความสำราญในคลับนางโชว์นั้น ไม่มีความเป็นคนหรอก พวกเขาก็เหมือนๆ กันหมดแหละ อย่าไปอยากรู้จักชื่อแซ่ของพวกเขาเลย ขอให้เบิ่งตามองเลยไปจับที่ผนัง และคิดถึงแต่เรื่องเงินที่จะต้องผ่องถ่ายจากกระเป๋าของเขา มาสู่เราเข้าไว้

นอปฟ์เลอร์เขียนย้ำ ถึงสภาพจิตใจเบื้องลึกของหญิงเหล่านี้อีกว่า พวกหล่อนก็อยากมีเงินแสน เงินล้าน ต้องการไลฟ์สไตล์ที่ดี อยากมีอิสระ แบบบั้นปลายได้ท่องทะเลกว้าง มีคนรัก มีเด็ก มีครอบครัวที่สุขสมบูรณ์ หากทว่าขณะนี้ ทำทุกอย่างที่พวกเขาปรารถนาไปก่อน เพราะอาชีพตนก็แค่นางโชว์

นี่คือ เพลงแนว “สตริปทีส” ที่มาถึงพร้อมสะท้านไปถึงเบื้องอารมณ์ลึก แบบวิเคราะห์ไปถึงจิตใต้สำนึกนางโชว์เหล่านั้น

ต่อข้อถามแบบแตกยอด ว่าอะไรคือศิลปะแห่งการเต้นระบำ “สตริปทีส” มันคือศิลปะหรืออนาจาร หรือคือ เรื่องหยาบๆ แค่การแอบแฝงการขายบริการทางเพศผ่านข้ออ้าง หรือแอบอ้างรูปแบบของศิลปะของการแสดงผ่านเรือนร่าง และ…แน่ล่ะ ในความหมายของคนเต้นอันถือว่าเป็นอาชีพ ผู้เกี่ยวข้องจะยืนยันว่า”นางโชว์”เป็นศิลปะแห่งสัมมาชีพอีกรูปแบบหนึ่ง

สตริปทีส เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน ย่อมคือการใช้เทคนิคในการเปลื้องผ้าออกทีละชิ้นอย่างช้า ๆ หรือฉับไว พร้อมกับการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเย้ายวนในสถานบันเทิง คลับ และต่อมามีวัฒนาการไปในแนวทางย้ำมายาคติว่า

การเต้น “สตริปทีส” นั้น ไม่ใช่เป็นแค่การเต้นยั่วยวนหรือออกการเริงระบำ ที่ไม่มุ่งเน้นเฉพาะแค่การเปลื้องผ้าเท่านั้น แต่จุดมุ่งหมายหลักคือ ศิลปะแห่งการค้นพบตนเองจากการโฟกัสในการเคลื่อนไหวประกอบกับการแสดงความรู้สึก โดยมีจุดประสงค์ ว่าแนวทางนี้สามารถที่จะช่วยส่งเสริมระดับการใช้สมาธิและในขณะเดียวกันปลดปล่อยตนเองออกจากความเครียด และถือเป็นศาสตร์และศิลป์ ต่อการระบำผสานเสียงเพลง

โดยมีระบบการเรียนรู้ และฝึกฝน เป็นขั้นเป็นตอน เป็นศิลปศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่นิยมสำหรับสตรีในโลกยุคใหม่ ที่นำมารับใช้สังคมและตัวตนแห่งบริบทต่างๆ โดยได้รับการยอมรับในระดับอารยะขึ้นทุกเวลา

“สตริปทีส” ในปัจจุบัน จึงเบ่งบานเป็นศิลปะอีกแขนง เปรียบเป็นบัวก็เกิดจากโคลนตมและสวยงามในกาลต่อมานั่นเอง

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE