เข้าใจ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ผ่านมุมมองช่างภาพแนว street ‘ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์’

จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมออนไลน์ไหม? จะเป็นจุดจบของช่างภาพสาย street หรือไม่? สื่อมวลชนจะทำงานยากขึ้นไหม? ถ้าต่อจากนี้ไปการโพสต์ข้อมูลของใครลงบนโลกออนไลน์จะมีความผิดทางกฎหมาย หรือการโพสต์รูปที่เห็นใบหน้าผู้อื่นลงไปบนสื่อสังคมออนไลน์ แล้วคนผู้นั้นไม่พอใจหรือไม่ต้องการให้เห็นใบหน้าของตน และสามารถแจ้งให้ลบทิ้งได้ หลัง ‘พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act : PDPA)’ ถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งหากเราอ่านหรือทำความเข้าใจ พ.ร.บ. ฉบับนี้จากชื่อแล้ว อาจเข้าใจว่าเป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาเพื่อ ‘การคุ้มครอง’ ข้อมูลส่วนบุคคลของเราทุกคน โดยการจะเปิดเผยชื่อ หมายเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ อาจเป็นข้อมูลเบื้องต้นของเราที่ปัจจุบันนี้ต้องได้รับความยินยอมจากเราก่อน mars talk ชวนคุยกับช่างภาพ street photo ชื่อดัง ‘ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์’ ช่างภาพมือรางวัลหลายสถาบัน เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจถึงขอบเขตว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้นั้นมีผลกระทบอย่างไรบ้างกับการทำงานของช่างภาพ สื่อมวลชน และผู้คนในสังคมออนไลน์


แรกเห็น พ.ร.บ. ฉบับนี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง

ตอนแรกตกใจครับ รู้เรื่องจากข้อมูลที่เป็น Infographic เพียงแผ่นเดียวจากเพจหนึ่งใน facebook ที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เขาอธิบายว่าต่อไปนี้ถ้าถ่ายรูปแล้วติดภาพผู้คนจากที่สาธารณะ เราไม่สามารถจะเอามาโพสต์ในโซเชียลมีเดียได้อีก เพราะหากโพสต์โดยที่คนที่ถูกถ่ายติดไม่ได้อนุญาต อาจจะถูกปรับ อาจจะผิดกฎหมาย แล้วก็มีโทษปรับหลักล้านบาทเลยทีเดียว เราตกใจมากเพราะว่าแม้งานช่างภาพแนว street อาจจะไม่ใช่อาชีพหลัก เป็นเพียงงานอดิเรก แต่มันก็เป็นงานอดิเรกที่เราค่อนข้างจริงจัง ความรู้สึกแรกของเรากับ พ.ร.บ. นี้มันเลยทำให้เรารู้สึกว่ามันมีผลกระทบครับ ไม่ใช่แค่ตัวเราเอง แต่รวมไปถึงน้องๆ ช่างภาพแนว street อีกหลายคน หรือแม้กระทั่งช่างภาพสายอื่นก็ตาม ตอนนั้นตกใจมากครับ ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็พยายามที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน เพราะตอนนั้นอยู่ดีๆ เรื่องนี้จู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมา แล้วอีกไม่กี่วันก็จะบังคับใช้เลย


หลายความเห็นเข้าใจว่ามันคือ ‘จุดจบสาย street’

คือพอโพสต์ที่ผมใช้ทำความเข้าใจ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มันเริ่มถูกแชร์ออกไป ก็จะเริ่มมีความเห็นประเภท ‘จุดจบสาย street’ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกตกใจว่านี่มันคือจุดจบของการถ่ายงานแบบนี้แล้วหรือ ที่มองว่ามันกระทบเยอะ เพราะหลักๆ เลยเราไม่สามารถที่จะไปบอกคนในที่สาธารณะได้ว่าเราจะถ่ายรูปเขา นี่คือเรื่องที่ซีเรียสเลย เพราะว่าหลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมช่างภาพ street ไม่ขออนุญาตล่ะ ดูไม่มีมารยาทเลย จะถ่ายรูปเขาทั้งที่ไม่คิดจะขออนุญาตหน่อยหรือ ซึ่งถ้าเราขออนุญาตเขานั่นหมายความว่าเราไปโพสหรือเราไปจัดท่าจัดทางให้เขาโดยทางอ้อมแล้วครับ เพราะส่วนมากเราจะไม่สามารถไปบอกคนในรูปได้ว่า “พี่ ผมขอถ่ายรูปพี่นะครับ” ส่วนมากก็จะพยายามหาวิธีถ่ายงานให้ได้โดยละมุนละม่อม พยายามเข้าไปแบบเงียบๆ แบบไม่ให้เขารู้ตัวว่าเราถ่ายเขา


นิยามของภาพถ่ายแนว street photo

street photo มีคำนิยามที่แตกต่างออกไปแล้วแต่บุคคลเยอะมากนะครับ แต่ภาพรวมของคำนิยามเกี่ยวกับ street photo ที่เข้าใจตรงกันในวงการนี้เลยก็คือ 1. มันต้องเป็นภาพที่ถ่ายในที่สาธารณะ ซึ่งที่สาธารณะก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นถนนอย่างเดียว เหมือนชื่องานที่เรียกกันว่า street photo แล้วคนไปเข้าใจกันว่าต้องเป็นภาพถ่ายที่ถนนหรือเปล่า? จริงๆ ไม่ใช่นะครับ ที่สาธารณะนั้นอาจเป็นทะเลก็ได้ สวนสาธารณะก็ได้ ห้างสรรพสินค้า คือเป็นที่ที่คนจะมามีกิจกรรมกันได้โดยทั่วไป 2. ก็คือเป็นภาพที่ต้องไม่ได้มาจากการจัดฉาก หมายถึงคนถ่ายไม่สามารถไปบอกคนในรูปว่าให้ทำท่าอย่างไร หันหน้าทางไหน หรือแอ็กติ้งแบบใด มันเป็นแนว unpos ครับ ก็คือไม่มีการโพสท่าต่างๆ นั่นเอง แล้วก็ข้อ 3. คือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ในการวางเฟรม ต้องผ่านการคิด ผ่านการดีไซน์ภาพให้สวยงามและสื่อความหมายออกมาได้ ผมว่าภาพแนว street photo จริงๆ แล้วมันคือการสะท้อนตัวตนของช่างภาพแต่ละคนว่ามองโลกยังไง


ศึกษาและทำความเข้าใจ พ.ร.บ. ฉบับใหม่อย่างแท้จริง

ตอนนั้นเราพยายามจะติดต่อเพื่อนที่เป็นนักกฎหมายบ้าง เป็นผู้พิพากษาบ้าง เพราะอยากให้เขามาให้ความรู้กับเราในเรื่องนี้ จนได้บทสรุปว่าเราต้องติดต่อนักวิชาการด้านกฎหมาย แล้วเราก็โชคดีพอดีที่น้องสาวทำงานเป็นอัยการอยู่ ซึ่งอยู่ในแวดวงกฎหมายพอดี เราเลยได้ตัวอาจารย์หญิง (อาจารย์ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ที่ทำงานเป็นคณะทำงานที่ปรึกษาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้พอดี เลยได้ความรู้ความเข้าใจจาก อ.หญิงมาพอสมควร ว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด


บทสรุป พ.ร.บ. ฉบับนี้กระทบกับช่างภาพแนว street หรือไม่

อาจารย์หญิงท่านอธิบายเกี่ยวกับตารางหลักเกณฑ์ที่จะใช้นำมาแยกแยะและพิจารณาความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งจากตารางดังกล่าวค่อนข้างชัดเจนว่าถ่ายงานแบบไหนได้ แบบไหนที่ต้องระวัง หลายคนพยายามตีความคำว่า ‘ผู้ควบคุมข้อมูล’ ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่าไม่ได้หมายความถึงคนทั่วไป หรือช่างภาพ แต่หมายถึงบริษัทต่างๆ ภาคอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบการ เพราะถ้าติดตามข่าว พ.ร.บ. ฉบับนี้จะค่อนข้างชัดเจนเลยว่า มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะปกป้องสิทธิของคนที่จะถูกเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ อย่างพวกข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ เหมือนก่อนนี้หลายคนน่าจะเคยเจอ คืออยู่ดีๆ มีคนโทรมาหาเราได้ หรือมีคนส่งข้อความมาหาเราได้เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการต่างๆ จริงๆ แล้ว พ.ร.บ. ฉบับนี้ทำขึ้นมาเพื่อปกป้องพวกเราจากเรื่องพวกนี้มากกว่า แต่ต้องเขียนกฎหมายออกมาให้ครอบคลุมหรือกว้างๆ คราวนี้ถ้าไปตีความแบบตรงๆ อย่างเดียวมันจะกลายเป็นว่าเราเองก็เป็น ‘ผู้ควบคุมข้อมูล’ เช่นกัน ซึ่งตามหลักการมันก็ใช่นะ เพราะทุกคนถือเป็นผู้ควบคุมข้อมูล แต่มันไม่เป็นไปตามความเห็นที่ว่าจุดจบสาย street อะไรขนาดนั้น เพราะมันจะมีกระบวนการในการยกเว้นต่างๆ ซึ่งสุดท้ายถ้าเราไปเทียบตามหลักการจะเห็นว่าไม่มีผลกระทบใดๆ เลยครับกับการถ่ายงานแนว street photo หรือการถ่ายงานแนวไหนเลยก็ตาม หลังจากฟังอาจารย์ท่านอธิบาย ผมมองว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่กระทบอะไรเลยกับงานช่างภาพนะครับ เพราะมีหลักเกณฑ์แยกแยะชัดเจนว่ากิจกรรมที่เราถ่ายกันอยู่แล้วนั้นไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด


ความผิดเกี่ยวกับภาพไม่ใช่เพิ่งมี แต่มีมาก่อนแล้ว?

จริงๆ แล้วต้องบอกก่อนว่าปัญหากรณีความผิดพลาดของช่างภาพมันมีกฎหมายที่รองรับอยู่ก่อนหน้านี้แล้วนะครับ ไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. นี้เลย เช่นรูปที่ถูกถ่ายโดยไม่ได้รับการอนุญาตแล้วถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือรูปที่ถ่ายออกมาแล้วผู้ถูกถ่ายอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ดี สื่อออกมาแล้วทำให้เสื่อมเสีย เหล่านี้สามารถฟ้องร้องได้ครับ มีกฎหมายรับรองอยู่แล้วไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ใหม่นี้ด้วยมันก็เป็นจรรยาบรรณของช่างภาพอยู่แล้วครับ อย่างในงาน street photo เราจะปลูกฝังกันมากับน้องๆ หลายคนเลยว่าเราสามารถถ่ายรูปใครในที่สาธารณะก็ได้ แต่เราต้องมีจรรยาบรรณด้วยนะ ในการที่จะไปจับภาพเขาแล้วไม่ทำให้เขาเสื่อมเสีย หรือถ้าเขาไม่อนุญาตให้เราถ่าย เราก็ต้องไม่ถ่ายให้ติดเขามา ส่วนเรื่องบทลงโทษของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่มีโทษปรับหลักล้าน โทษที่ปรับหนักขนาดนั้นต้องเป็นการทำผิด พ.ร.บ. นี้แบบโดยตรงและชัดเจนมากๆ ซึ่งผมคิดว่ามันน่าจะเป็นไปในเรื่องที่เกี่ยวกับองค์กรต่างๆ ภาคธุรกิจ บริษัท หรือใครก็ตามที่เอาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไปใช้ในทางที่ไม่ดี มากกว่าที่จะเน้นเอาผิดคนที่โพสต์รูปต่างๆ ในสื่อออนไลน์ทั่วไป ถ้าเราจะกลัวว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นข้อจำกัดในการทำงาน street photo ของไทยเรา ให้ลองไปดูที่ยุโรปที่มีกฎหมาย GDPR (General Data Protection Regulation เป็นกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตรการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล) ซึ่งเป็นที่มาของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เขาซีเรียสกว่าเราอีกเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายของเขาก็ไม่ได้กระทบกับการถ่ายภาพ street photo เลยครับ ยังมีกิจกรรมถ่ายภาพ street มีอีเวนต์ มีการประกวดต่างๆ ปกติ ผมก็เลยมองว่ามันไม่มีผลกระทบอะไรครับ


สื่อยังต้องควบคุมกันเองอยู่ดีแม้มี พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว?

ถ้ายึดตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้นะครับ คนที่จะดูแลเรื่องสื่อได้ดีที่สุดก็คือตัวสื่อเอง หมายถึงบรรดาสมาคมสื่อมวลชนทั้งหลายครับ เพราะว่าจากคำอธิบายของคณะกรรมาธิการของ พ.ร.บ. ฉบับนี้เขาบอกว่า กว่าจะถึงขั้นตอนที่คณะกรรมาธิการต้องมาใช้วิจารณญาณในการตัดสินความผิดของ พ.ร.บ. นี้นั้น ถ้าจะให้ดีเลยคือองค์กรสื่อต่างๆ ต้องควบคุมดูแลกันเองก่อน เพราะหากองค์กร สมาคม หรือการควบคุมที่มีนั้นแข็งแรงอยู่แล้ว สามารถจัดการเองกันก่อนได้เลย ก่อนที่เรื่องจะไปถึงคณะกรรมาธิการ อย่างในกรณีของ street photo ถ้ามีสมาคมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีการวางกฎระเบียบต่างๆ ให้ทุกคนที่จะเข้ามาถ่ายภาพแนวนี้เข้าใจร่วมกัน ก็จะถือเป็นการกรองชั้นหนึ่งก่อนที่เรื่องฟ้องร้องหรือปัญหาต่างๆ จะไปถึงกรรมาธิการของ พ.ร.บ. ฉบับนี้เช่นกัน ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะควบคุมสื่อให้เคารพสิทธิได้จริงหรือเปล่า ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับ


ต่อจากนี้ช่างภาพแนว street ควรจะทำงานยังไง

หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผมว่าช่างภาพ street ก็ยังทำงานได้ทั่วไปครับ เหมือนที่เคยทำมาทุกอย่าง คือไม่ต้องไปบอกเขาว่าเราจะถ่ายรูปเขา เพราะมันคือสไตล์การทำงานเพื่อให้ได้มา แต่ถ้าเป็นอย่างภาพครึ่งตัว ภาพ portrait ที่เราเห็นหน้าเขาเต็มๆ อันนั้นต้องขออนุญาตครับ แต่สุดท้ายแล้วผมว่างานช่างภาพเราต้องมีจริยธรรมในใจของเรา อย่าไปถ่ายเขาในจังหวะที่เขาดูแย่ ดูไม่ดี หรือทำให้เขาเสื่อมเสีย บางจังหวะผมเข้าใจช่างภาพหลายๆ คนนะว่าได้ภาพที่ตัวเองรู้ว่ามันดีมากเลย แต่สุดท้ายแล้วก่อนที่จะเผยแพร่ภาพเหล่านั้นออกไป เราต้องถามตัวเองก่อนเสมอครับว่าถ้าคนในรูปเป็นเรา เราจะโอเคหรือเปล่า แค่นั้นเองครับ ถ้าผ่านตรงจุดนี้ไปได้ก็เท่ากับว่าไม่น่าจะไปกระทบอะไรกับกฎหมายหรือ พ.ร.บ. ฉบับนี้ครับ ผมว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้เข้ามาเพื่อควบคุมการทำงานของสื่ออะไรขนาดนั้นครับ เพราะมีข้อยกเว้นอยู่ใน พ.ร.บ. ครับ ทั้งที่เกี่ยวกับงานสื่อมวลชน งานศิลปกรรม แต่สื่อมวลชนกันเองมากกว่าที่จะต้องควบคุมกันให้ได้


ขอบคุณภาพ IG tavepong_street

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE