“ทั้งหมดเพื่อความอยู่รอด สมดุลและยั่งยืน” ศศิน เฉลิมลาภ

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 ‘สืบ นาคะเสถียร’ เสียชีวิตด้วยการยิงตัวตาย ‘ศศิน เฉลิมลาภ’ กำลังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ชั้นปีที่ 4 ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ย้อนรำลึกความหลังเมื่อ 29 ปีที่แล้วว่าตอนนั้นเขาเพิ่งอ่านบทสัมภาษณ์สืบ นาคะเสถียร ในนิตยสารสารคดี “อ่านบทสัมภาษณ์แล้ว ผมเข้าใจ รู้เรื่อง ศรัทธาในแนวคิด แบบนี้แหละคือไอดอลคนหนึ่งของผม ต่อมาแกก็ยิงตัวตาย ผมกำลังชื่นชมบทสัมภาษณ์นี้อยู่เลย เรื่องนี้ฝังอยู่ในใจ”

ด้วยความอยากจะทำงานอนุรักษ์และเป็นนักสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ตอนเรียน เขาหาช่องทางที่จะทำงานเรื่องนี้มาตลอด “วันหนึ่งมูลนิธิสืบฯ มาชวนผมไปทำงาน ผมก็ไม่ควรปฏิเสธ ถูกไหม” …ตลอดห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ‘ศศิน เฉลิมลาภ’ มักปรากฏเป็นชื่อลำดับต้นๆ สำหรับให้ผู้คนที่สนใจและสื่อมวลชนขอความคิดเห็น …ตอนหนึ่งระหว่างการพูดคุยกับ mars เขาบอกว่าในฐานะประธานมูลนิธิ “ต้องสืบทอดเจตนารมณ์ ต้องพยายามรักษาป่าตะวันตกให้ดีที่สุด” และในฐานะนักอนุรักษ์คนหนึ่งเขาบอกว่า “เราต้องอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อความสมดุลและยั่งยืน ทั้งหมดนี้คือความอยู่รอดของมนุษยชาติ”

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณอินกับเรื่องการอนุรักษ์

ผมพยายามคิดว่าผมมาชอบเรื่องพวกนี้ได้ยังไง ก็นึกไม่ออก พยายามมานั่งนึก พบว่ามันอาจเริ่มที่เราชอบภูเขา ชอบทะเล ผมว่ามันสวยงาม แต่ถ้าถามว่าอะไรที่ให้ความรู้เรื่องอนุรักษ์แก่ผม คงเป็นค่ายวิทยาศาสตร์ชายทะเลที่จุฬาฯ และอาจารย์สุรพล สุดารา วันที่กลับจากค่ายเรามีความรู้เรื่องทะเลกลับมา ตอนผูกข้อมือมีรุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่ารักทะเลให้มากๆ นะ ช่วยรักษาทะเลนะ เฮ้ย พอเขาบอกแบบนั้นผมเลยรู้สึกว่ามันมีหน้าที่นี่หว่า เราทำได้นี่ แต่ทำยังไงไม่รู้หรอก คือก่อนหน้านั้นเราชอบอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าเรามีหน้าที่ที่จะรักษามันได้ไง

แล้วเข้ามาทำงานด้านอนุรักษ์ได้อย่างไร

ผมหาช่องทางที่จะทำงานเรื่องนี้มาตลอดไง พยายามที่จะเป็นนักสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ตอนเรียน ทำค่ายวิทยาศาสตร์ ให้ความรู้แก่รุ่นน้อง ไปหาความรู้จากอาจารย์ที่เขาทำงานอนุรักษ์ คือทำอยู่ตลอด แต่เรียนผิดไปหน่อย ไปเรียนธรณีวิทยา ซึ่งผมนึกว่ามันเรียนแล้วสามารถไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่จะนำความรู้เหล่านี้มารักษาธรรมชาติได้ แต่ปรากฏว่าสิ่งที่ผมเรียนคือการเรียนไปทำเหมืองแร่ ผมเลยต้องพยายามมาเรียนปริญญาโทเกี่ยวกับการอนุรักษ์ คือตอนปริญญาตรีก็พยายามทำเหมือนกัน แต่มันไม่มีความรู้ไง เพราะมันเป็นศาสตร์ที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อการอนุรักษ์ ผมก็ต้องไปคิดเอาเองว่ามันคงเกี่ยวกันบ้าง ความรู้ที่ผมได้มาจะเป็นแนวทักษะความรู้เชิงพื้นที่

ระหว่างเรียนปริญญาโท พรรคพวกชวนไปทำงานเรื่องบ่อฝังกลบขยะอันตรายที่ระยอง เพราะมันใกล้บ้านเขา เราก็เอาข้อมูลทางธรณีวิทยาไปช่วยเขาได้บ้างพอสมควร ซึ่งผมก็ไม่ใช่นักวิชาการที่เก่งหรอกนะ แต่ได้เข้าไปใกล้ชิดปัญหา จนในที่สุดมีคนผลักดันให้ผมไปช่วยเรื่องสารตะกั่วที่คลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี พอผมไปเห็นชาวบ้านเดือดร้อน ผมไปร่วมต่อสู้ แต่คนที่ผมสู้ด้วยคือคนที่เรียนมาเหมือนผม แต่เก่งกว่าผม ผมต่อสู้ด้วยการให้ลูกศิษย์ที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อมเอาดินไปตรวจ เราต้องขับรถไปเก็บดิน เก็บน้ำด้วยตัวเอง ทำให้ได้ชุดข้อมูลที่นำไปช่วยชาวบ้านต่อสู้ได้ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องที่ผมต้องไปเกี่ยวข้องเลย แล้วทุกวันนี้ผมยังไม่กล้าตรวจสารตะกั่วในเลือดตัวเองเลยนะ แต่พอเราเห็นปัญหาเรารู้สึกทนไม่ได้ ถึงกับต้องขึ้นศาลกันไป ผู้มีอิทธิพลเหมืองเขาก็คงไม่ชอบผม ตอนนั้นเสี่ยงอันตรายพอสมควร

งานทางธรณีวิทยาที่ช่วยชาวบ้านแทบจะมีผมทำอยู่คนเดียว ผมต้องไปยุ่งเรื่องเหมืองโพแทสเซียม เหมืองแม่ตาว จนในที่สุดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเชิญไปทำเรื่องพวกนี้อยู่ตั้ง 6-7 ปี ผมเป็นนักวิชาการที่อยู่ในวงการพวกนี้ไง ผมทำงานกับคนในวงการมาเยอะ คนในมูลนิธิสืบฯ เห็นชื่อเสียงของผม พอเขามองหานักวิชาการที่มีวัยวุฒิคุณวุฒิเหมาะสมกับงานอนุรักษ์ป่าตะวันตกเขาก็มาทาบทามผม ผมก็คิดว่านี่แหละที่เราอยากทำ เพราะสอนหนังสือทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้แล้ว นอกจากเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมอนุรักษ์ เลยเปลี่ยนชีวิตออกมาอยู่มูลนิธิสืบฯ

ที่บอกว่า 'ผมทำงานให้พี่สืบ' เป็นเพราะศรัทธาอะไรในตัวของคุณสืบ นาคะเสถียร

ก่อนแกตายตอนนั้นผมอยู่ประมาณปี 4 ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของแกในนิตยสารสารคดี ตอนนั้นมีกระแสข่าวเรื่องเขื่อนเชี่ยวหลาน แล้วก็กำลังจะมีเขื่อนน้ำโจน ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์แล้ว ผมเข้าใจ รู้เรื่อง ศรัทธาในแนวคิด เราไม่เคยเจอกัน แต่ผมอ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วชอบมาก แบบนี้แหละคือไอดอลคนหนึ่งของผม เราเลยอยากทำงานแบบนี้บ้าง โดยไม่ต้องเป็นนักวนศาสตร์หรอก เราแค่อยากทำงานอนุรักษ์แบบนี้บ้าง แล้วในอีกสามเดือนต่อมาแกก็ยิงตัวตาย ผมกำลังชื่นชมบทสัมภาษณ์นี้อยู่เลย เรื่องนี้ฝังอยู่ในใจ วันหนึ่งมูลนิธิสืบฯ มาชวนผมไปทำงาน ผมก็ไม่ควรปฏิเสธ ถูกไหม

ถ้าให้เปรียบเทียบปัจจุบันกับเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว คุณคิดว่ากระแสของการรักธรรมชาติดีขึ้นหรือแย่ลง

ถ้าให้ผมประเมิน ผมคิดว่าจริงๆ มันดีขึ้นนะ เพราะทุกคนไม่ปฏิเสธเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว จากเดิมที่ก่อนทศวรรษ 2530 มันเป็นการต่อสู้ของกระแสการพัฒนาแบบสุดๆ เราอยากขจัดความยากจนด้วยการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรม ใช้ทรัพยากรเพิ่ม GDP ให้ตลาดหุ้นโตเพื่อจะกระจายรายได้ไปสู่คนในสังคม มีการสร้างงาน ผลิตงาน กระตุ้นการบริโภค แต่ขณะเดียวกันก็มีกระแสที่ว่าคุณต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยนะ เกิด Sustainable Development ขึ้นมาในทศวรรษนั้น เกิดองค์กรกรีนพีซ ทำให้ในระดับโลกมีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง เมืองไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก

ช่วงนั้นมีปรากฏการณ์การปิดป่า มีคุณสืบ นาคะเสถียร เกิดองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมากมาย ช่วงต้นทศวรรษเกิดการปฏิรูป พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม การทำ EIA การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ มันเกิดขึ้นมา และหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการอนุรักษ์ก็เกิดขึ้นแทบทุกมหาวิทยาลัย เด็กต้องเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา แต่อย่างตอนผมเรียนหนังสือ ทั้งๆ ที่ผมอยากเป็นนักอนุรักษ์หรือนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ตอนผมเอนทรานซ์สาขาวิชาพวกนี้ยังไม่มีให้เลือก ธรรมศาสตร์เป็นสถาบันแรกที่เปิดสอน แล้วผมก็ไม่รู้ว่ามี เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่มี จะไปเรียนวนศาสตร์ก็ไม่ชัด ต้องไปเรียนพฤกษศาสตร์ก็ไม่มี ถ้าเทียบกับสมัยนี้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การผลิตมืออาชีพด้านสิ่งแวดล้อมที่จบปริญญาตรีปริญญาโทเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้นมันจะไม่ดีขึ้นได้ยังไง

ผิดไหมที่คนเมือง หรือแม้แต่คนต่างจังหวัดเองบางกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นกลุ่มใหญ่ของสังคมด้วยซ้ำ จะไม่ติดตามหรือสนใจเรื่องการอนุรักษ์สักเท่าไหร่

ผมคิดว่าคนเมืองปัจจุบันนี้รักสีเขียวมากกว่าคนรุ่นก่อนเยอะ เขาฟินกับป่าเขา สีเขียวมากกว่าคนเจนเอ็กซ์ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ถูกปลูกฝังว่าการพัฒนาคือถางป่าและราดซีเมนต์ลงไปบนดิน ทำยังไงก็ได้ที่จะต่อสู้กับความลำบากของการใช้ชีวิต มีถนน ต้องมีรถ ติดแอร์ มีบ้าน แต่ผมคิดว่าเด็กเจนวายไม่ได้คิดอย่างนั้นแล้ว ผมคิดว่าพวกเขาไม่ได้ตื่นเต้นกับการพัฒนาแบบนั้นแล้ว แต่ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไงต่อไปนะ ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าจะมีคนไม่รู้บ้างก็ไม่แปลก ไม่มีใครรู้หรอกมันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเขา จนกว่าจะมีใครสร้างปรากฏการณ์ขึ้นมา

จะดูไร้เดียงสาไปไหมถ้าถามว่าเราอนุรักษ์หรือมีนักอนุรักษ์ไปเพื่ออะไร

ผมคิดว่ามันเป็นการหน่วงให้มนุษย์อยู่ได้นานขึ้นอีกหน่อย ด้วยการรักษาทรัพยากรให้ลูกให้หลาน ผมว่าทุกวันนี้เราไม่สามารถปฏิเสธสีเขียวได้ คุณสร้างตึกคุณก็อยากทำสวนหย่อม คนทั่วไปสร้างบ้านก็อยากมีสวนใช่ไหม คุณอยากมีทะเลสวยๆ ให้ไปเที่ยว มีที่โล่งไว้ให้มองบ้าง ผมว่านี่คือพื้นฐานที่สำคัญ คือเท่าที่รู้ มันไม่ไหวหรอกนะถ้าโลกร้อนกว่านี้แค่องศาเดียว ปะการังทั่วโลกต้องตาย พอปะการังตาย แหล่งอาหารในทะเลมันจะมีผลกระทบขนาดไหน นักวิทยาศาสตร์เขารู้กันอยู่แล้ว เมืองไทยยังมีป่าอยู่ประมาณ 30% มันก็ยังพอใช้ได้อยู่ ถ้าไม่มีป่าเลยแม่น้ำจะแห้งทันที เพราะตะกอนจากภูเขาจะลงมาที่แม่น้ำจนหมด น้ำจะท่วมทุกครั้งเวลาน้ำหลาก เพราะไม่มีพื้นที่แม่น้ำเหลืออยู่เลย มันเห็นกันชัดๆ อยู่แล้วว่าเราต้องอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อความสมดุลและยั่งยืน

แต่ลึกที่สุด เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ มันเป็นเรื่องของความจนมุม ความดื้อยานะ เพราะเภสัชกรไม่พบแอนตี้ไบโอติกที่สู้กับเชื้อโรคได้มาเป็นสิบปีแล้ว เพราะเชื้อโรคพัฒนาตัวเองขึ้นทุกวัน ยาที่จะผลิตได้จึงต้องมาจากความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ในป่าฝนเขตร้อน และวันนี้เราก็ยังไม่ค้นพบความหลากหลายทางชีวภาพที่จะต่อยอดไปถึงการผลิตยาปฏิชีวนะได้เลย ก็เพราะคุณทำลายมันในป่าอเมซอน บอร์เนียว คองโก คอสตาริกา คุณทำลายมันตลอด โอกาสมันก็น้อยลงเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้คือความอยู่รอดของมนุษยชาติ

อุดมการณ์ของคุณในทุกวันนี้คืออะไร

อุดมการณ์จริงๆ คือผมมาอยู่ที่มูลนิธิสืบฯ ผมก็ต้องพยายามรักษาป่าตะวันตกให้ดีที่สุด รักษาไว้ให้ได้ในช่วงที่ผมรับผิดชอบอยู่ ความรับผิดชอบของเรามันไม่ได้มีอำนาจเหมือนข้าราชการไง เราต้องรณรงค์ให้คนเห็นคุณค่า พี่สืบทำอะไรไว้ มูลนิธิสืบฯ ก็ต้องสืบทอดเจตนารมณ์เรื่องนี้ ผมต้องทำต่อไป นั่นคืออุดมการณ์ที่เราต้องรักษาไว้ เราเป็นผู้บริหารองค์กร ต้องทำให้มันเดินต่อไปให้ได้

วางแผนไว้ไหมว่าจะลดบทบาทตัวเองเมื่อไหร่

(ถอนหายใจ) ใจผมอยากออกไปทุกวินาที ผมว่ามันเยอะไป มันเหนื่อยไปแล้ว แต่ถ้าอยู่มันมีประโยชน์กว่าไง ถามว่าผมอยากหยุดหรือยัง ผมอยากหยุดทุกนาที แต่มีบางเรื่องที่ถ้าผมยังทำอยู่มันจะมีโอกาสสำเร็จ ถ้าผมไม่ทำโอกาสมันจะน้อยลง ผมก็ต้องทำ เพราะมันเป็นประโยชน์ที่เหนือกว่า เมื่อไหร่ที่เราสามารถบริหารองค์กรให้มันเดินได้ โดยไม่ยึดอยู่กับบุคคลอย่างผม ผมจะมีความสุขมาก เพราะองค์กรมีบุคลากรที่เข้มแข็ง มีระบบเข้มแข็ง ใครจะเดินเข้าเดินออกก็ช่าง แต่ระบบมันไปได้ พร้อมที่จะทำหน้าที่อนุรักษ์ให้ประเทศไทยได้ ผมก็จะมีความสุขที่สุดแล้ว

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE